ถ้ายังสงสัย ก็คงต้องไม่ผิด โดย กล้า สมุทวณิช

อาจกล่าวได้ว่าช่วงนี้นับเป็น “ยุคทอง” ของกฎหมายอาญา ยุคทองในแง่ที่ว่า มีปัญหาเรื่องกฎหมายอาญาถูกจับโยนลงมากลางวงสังคมให้วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เนืองๆ

แม้บางเรื่องโยนลงมาแล้วทำให้บรรดา “นักกฎหมายอาญา” ส่วนใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้เงียบจนแสบแก้วหู เงียบเหมือนเสียงนกหวีดในลำคอ ได้แก่ การละเมิดสิทธิคนในทางอาญา ในกระบวนการจับกุมคุมขัง หรือแม้แต่การตีความและบังคับใช้กฎหมายอาญาแบบ”พิสดาร” (ที่ไม่ใช่ตำราอ่านสอบที่นิยมกัน) กระนั้น เราก็ได้ยินแต่ความเงียบอันน่าแสบแก้วหูของนักกฎหมายอาญาที่ว่าไปนั้น

ทำได้เพียงจดบันทึกไว้ในกาลข้างหน้า ว่าในยุคที่มีการ “บังคับ” ทางอาญาที่น่าอนาถใจเช่นนี้ มีกี่คนที่ยังเป็นนักวิชาการกฎหมายอาญาตัวจริง หรือใครที่เป็นได้เพียงนักติวนักศึกษาไปสอบไล่กฎหมายเท่านั้น

นอกจากเรื่องดังกล่าว มีประเด็นกฎหมายอาญาที่น่าสนใจถูกโยนลงมาในช่วงสัปดาห์ที่แล้วสองเรื่อง เรื่องแรกคือ ข่าวการจับผู้ทุจริตสอบเข้าโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งได้ ที่เป็นข่าวครึกโครมคือขบวนการโกงข้อสอบดังกล่าวใช้วิธีไฮเทค ด้วยการใช้แว่นตา “อัจฉริยะ” ถ่ายภาพข้อสอบ ส่งต่อให้ทีมงานเฉลยแล้วส่งผลคำตอบมายังนาฬิกา “อัจฉริยะ” ของผู้เข้าสอบ (ที่คงจะไม่ “อัจฉริยะ”)

Advertisement

ในตอนแรกข่าวออกมาในทำนองที่ว่า ฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยพลิกตำรากันแล้วก็พบว่าเอาผิดทางอาญาไม่ได้ อย่างมากคือเป็นคดีแพ่ง กับโทษในเชิงการควบคุมทางวิชาชีพในการห้ามเป็นแพทย์ตลอดชีวิตก็ว่ากันไป

แต่สุดท้ายคล้ายว่ากระแสสังคมผสมความรู้สึกว่าเรื่องครึกโครมขนาดนี้จะไม่ผิดกฎหมายอาญาอะไรเลยหรือ ก็เลยคล้ายว่าจะมีการลากถูให้ “เอาผิด” ทางอาญาให้ได้ ซึ่งพลิกตำรากันไปจนหมดเล่มแล้วตะแคงข้างอ่านใหม่ ก็ได้ข้อหา “ลักทรัพย์” เคาะออกมา และมีการเรียกตัวผู้กระทำการทุจริตมาสอบสวนที่สถานีตำรวจ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเรียกมาด้วยข้อหาเช่นว่านั้นจริงหรือเปล่า

ที่น่าสงสัยคือ องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา จะต้องมีการกระทำในลักษณะของการ “เอาไป” ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ดังนั้น การจะครบองค์ประกอบจะต้องมีการพรากอะไรสักอย่างไปจากเจ้าของ แต่ถ้าของนั้นยังอยู่ เพียงแต่ผู้กระทำมาแย่งไปใช้แบบของเดิมก็ยังไม่ได้หายไปไหน ก็น่าสงสัยว่าเรื่องลอกข้อสอบนี้ไม่รู้จะตีความไปอย่างไรว่าใครเอาอะไรของใครไป เพราะตัวข้อสอบยังอยู่ ที่เอาไปได้คือข้อมูล ซึ่งเอาไปในลักษณะคัดลอกด้วยคือของเดิมก็ไม่หายไปไหน อันนี้ถ้าจะตั้งข้อหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ยังน่าจะเป็นไปได้มากกว่า

Advertisement

กับอีกเรื่องหนึ่ง คือข่าวที่วัยรุ่นรุมทำร้ายคนพิการจนเสียชีวิตอย่างเป็นที่สะเทือนขวัญ ก็มีกระแสไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดี เนื่องจากไม่มีการตั้งข้อหา

“ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” ซึ่งทางทนายความของผู้เสียหายกับผู้ไม่เสียหายแต่อยากมีส่วนร่วมกลุ่มหนึ่ง พยายามบีบให้ตำรวจตั้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย ซึ่งเป็นบทหนักของความผิดฐานฆ่าผู้อื่น มีระวางโทษประหารชีวิตอัตราเดียว ซึ่งถ้าตั้งข้อหาเพียง “ฆ่าผู้อื่น”

นั้นอัตราโทษอาจจะเป็นไปได้ทั้งประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ฝ่ายทนายผู้เสียหายและชาวเน็ตผู้ไม่เสียหายที่ว่าจึงอยากให้ตั้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้มันหนักๆ ไปเลย สมแก่ความโหดเหี้ยมของผู้ต้องหาเช่นนั้น ซึ่งอันนี้ทางตำรวจก็ออกมาชี้แจงว่าไปตั้งข้อหาแบบนั้นไม่ได้เพราะหลักฐานที่มีไม่เพียงพอที่จะชี้ว่าเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ในทางกฎหมายแล้ว การ “ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” หมายถึงการที่คนตั้งใจไตร่ตรองแล้วไตร่ตรองอีกว่าจะฆ่าคนคนนี้นะ แล้วตระเตรียมการเพื่อจะไปฆ่าให้สมเจตนา การฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงถือว่าเป็น “บทหนัก” ที่ต้องมีโทษร้ายแรง เพราะไม่ใช่การกระทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แต่เป็นไปด้วยจิตใจที่ประสงค์จะฆ่าคนให้ตายอย่างจริงจังกันเลยทีเดียว

ดังนั้น ในการฆ่ากันที่มีลักษณะเป็นการทะเลาะวิวาทกันต่อเนื่อง จนกระทั่งลุกลามไปจนตายกันไปข้างนี้ การพิสูจน์เจตนาว่าเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องยาก

ด้วยกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายอันตราย แม้วัตถุประสงค์การมีอยู่ของกฎหมายอาญาจะเป็นไปเพื่อป้องกันสังคมจากการรบกวนละเมิดต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่นของผู้คนก็ตาม แต่กฎหมายอาญานั้นมี “โทษ” ที่ไปละเมิดสิทธิของผู้คนเขาเหมือนกัน แถมในประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิต กฎหมายอาญาก็สามารถ “พราก” ชีวิตผู้คนได้ ไม่ผิดจาก “ฆาตกร” ที่ต้องถูกลงโทษ เพียงแต่การลงโทษประหารนั้น เราอนุโลมว่า “ฆาตกร” หนึ่งคนที่เกิดขึ้นมาใหม่คือ “รัฐ” ผู้ไม่มีตัวตน เป็นเพียงอุปโลกน์บุคคลตามกฎหมายมหาชนเท่านั้นเอง เป็น “ฆาตกรจำเป็น” เพื่อรักษาความสงบของสังคมกระนั้น (ส่วนจะจำเป็นจริงหรือไม่ เป็นข้อถกเถียงกันในโลกยุคใหม่)

กฎหมายอาญาจึงต้องมีหลักว่าจะต้องใช้อย่างเคร่งครัด ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดก็ไม่ควรถือว่าเป็นความผิด ถ้าต้องสงสัยว่าจะมีความผิดหรือไม่ ก็ควรสงสัยว่าไม่มีความผิดไว้ก่อน ไม่ใช่สงสัยว่าเรื่องมันน่าจะต้องผิดอะไรสักอย่าง หาความผิดอาญาสักฐานมาตั้งให้ดีกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ดีหรอก

เพราะถือเป็นหลักการทางกฎหมายอาญาเพื่อปกป้องสิทธิของผู้คนไม่ให้ถูก “รัฐ” จับตัวไปลงโทษในเรื่องที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเป็นความผิด หรือเคยเข้าใจว่าไม่เป็นความผิด หรือที่กระทำความผิดไปแล้วก็ไม่ควรถูกลงโทษร้ายแรงเกินกว่าที่คาดหมายได้ ถ้ากฎหมายไม่สามารถเอาผิดไปถึงได้ ก็คือไม่มีความผิด ไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่ว่าผู้ที่หลักการอันเข้มงวดเคร่งครัดของกฎหมายอาญานั้นกำลังปกป้องอยู่นั้นจะดูชั่วร้ายน่ารังเกียจแค่ไหน พฤติกรรมที่ต้องสงสัยนั้นน่าจะเป็นความผิดสักเท่าไรก็ตาม

เพราะถ้าวันหนึ่งวันใด เรายอมหลับตา และเอาโทษอาญาจัดการไอ้พวกคนชั่วที่สังคมรังเกียจโดยไม่สนใจหลักการใดๆ แล้ว ก็เหมือนกับการสุ่มเอาผู้คนที่สังคมลงมติว่าชั่วร้าย ไปถมหลุมแห่งความเชื่อที่ว่าโลกนี้จะสวยงามขึ้น ถ้าเราเอาพวก “คนชั่ว” ไปสังเวยในหลุมลงทัณฑ์ให้มากๆ เข้า ในที่สุดก็จะกลายเป็นว่าคนที่ผลักคนอื่นลงไปในหลุมแห่งความดีที่ว่านั่นแหละ ที่เป็นผู้ร้ายยิ่งกว่าใครเสียอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image