มหากาพย์เรื่องยารักษาการเลิกบุหรี่ เมื่อไหร่จะเบิกได้ : โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

Photo by Nicole De Khors from Burst

ข่าวล่าสุดที่ คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ไม่เห็นชอบ ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการรักษาการเลิกสูบบุหรี่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอให้ยารักษาการเลิกบุหรี่ตัวใหม่ๆ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช.เป็นอีกหนึ่งการย่ำอยู่กับที่ในเรื่องการรักษาผู้เสพติดยาสูบของประเทศไทย

การไม่ก้าวไปข้างหน้า เรื่องการรักษาให้เลิกสูบบุหรี่ ก็คือการก้าวถอยหลังของงานควบคุมยาสูบของประเทศไทย เพราะการรักษาการเลิกสูบบุหรี่ เป็นมาตรการที่สำคัญลำดับที่ 5 หลังมาตรการ Best buy 4 มาตรการ คือ การขึ้นภาษี การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย และการเตือนพิษภัย ซึ่งเราทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ที่ออกกฎหมายห้ามโฆษณา และจำกัดที่สูบบุหรี่ พ.ศ.2436 เริ่มขึ้นภาษี และ 2548 เริ่มมีคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นรูปภาพ Best buy คือคุ้มค่าที่สุด ลงทุนน้อยได้ผลมาก การรักษาการเลิกบุหรี่มีความคุ้มค่ารองลงมา แม้จะต้องลงทุนมากกว่า แต่ก็ยังคุ้มกว่าที่จะคอยไปเสียค่ารักษาพยาบาล เมื่อคนสูบบุหรี่ป่วยแล้ว

ที่สำคัญคือ การควบคุมยาสูบ ต้องทำทุกมาตรการรวมกัน จึงจะได้ผลสูงสุด เฉพาะการทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ ทำได้ 2 ทาง

ทางแรก คือการสร้างเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้คนสูบบุหรี่สามารถเลิกสูบได้ด้วยตนเอง (Population-based approach smoking cessation) ซึ่งมาในรูปธรรมของมาตรการ Best buy อาทิ ขึ้นภาษี จำกัดพื้นที่สูบบุหรี่ ที่กล่าวแล้ว

Advertisement

ทางที่สอง คือ การแก้ปัญหาที่ผู้สูบบุหรี่โดยตรง โดยการให้การรักษาเพื่อเลิกบุหรี่โดยบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยการให้คำแนะนำ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บวก ลบ การใช้ยาเลิกบุหรี่ (Individual approach)

ในปี พ.ศ.2551 คณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก มาประเมินสมรรถนะการควบคุมยาสูบของประเทศไทย หนึ่งในข้อเสนอ คือ ประเทศไทยควรจะบรรจุ ยารักษาการเลิกสูบบุหรี่ชนิดใหม่ๆ ที่เรียกว่ายา First line ให้อยู่ในบัญชียาหลักและชุดสิทธิประโยชน์ของทั้ง 3 กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาล คือ สปสช. สปส. และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (First-line medications should be incorporated into the national Essential drug list and covered by these insurance schemes)

ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก บอกว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญ ในการรักษาให้คนสูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกสูบแล้ว และฐานะการคลังของประเทศไทย ก็มีความพร้อมที่จะให้สิทธิประโยชน์การรักษานี้ แก่คนสูบบุหรี่ที่อยากเลิก แต่เลิกด้วยตนเองไม่ได้

Advertisement

ข้อมูลการสำรวจปี 2554 ผู้สูบบุหรี่ไทย พยายามที่จะเลิกสูบ 36.7% ใน ช่วง 12 เดือนก่อนการสำรวจ ก็หมายความว่ามีคนสูบบุหรี่ที่ต้องการความช่วยเหลือในการเลิกสูบจำนวนมาก แต่บริการที่จะช่วยคนสูบบุหรี่ที่จะเลิกเหล่านี้ ยังไม่มีความพร้อมบริการรักษาการเลิกสูบบุหรี่ มีองค์ประกอบ 2 องค์ประกอบใหญ่ คือ ระบบการให้บริการ และยาที่จะใช้

เรามีปัญหาทั้ง 2 เรื่อง ทั้งเรื่อง ยา ที่จะใช้และระบบการให้บริการยานั้น เรามียา Nortriptyline หญ้าดอกขาว และยาน้ำบ้วนปาก ปัญหาคือยา Nortriptyline แพทย์ส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้ เพราะแม้ราคาจะถูกมาก แต่คนไข้ส่วนใหญ่ไม่ยอมกินยา เพราะทนผลข้างเคียงของยาไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อแพทย์ไม่มียาที่ผลข้างเคียงน้อยกว่า ประสิทธิภาพดีกว่า ที่เขาอยากจะใช้ จึงขาดความสนใจที่จะริเริ่มขบวนการรักษา และขาดความพยายามที่จะทำให้ระบบบริการรักษาการเลิกบุหรี่เกิดขึ้น

ระบบบริการที่ว่านี้ เริ่มจากแพทย์ยืนยันกับผู้ป่วยที่มารับการรักษาตัวด้วยโรคอื่นๆ ที่ยังสูบบุหรี่ ว่าต้องเลิกสูบบุหรี่ แล้วแพทย์พิจารณาดูว่า ต้องใช้ยาด้วยหรือไม่ แล้วส่งช่วงต่อให้ทีมงาน ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำปรับพฤติกรรม เมื่อขบวนการริเริ่มการรักษาโดยแพทย์ไม่เกิด การรักษาการเลิกบุหรี่ก็ไม่เกิด หรือเกิดอย่างกระท่อนกระแท่น อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทั้งๆ ที่การสำรวจในปี 2554 พบว่าผู้สูบบุหรี่ไทย 34.6% หรือ 1 ใน 3 ได้เข้าพบผู้ให้บริการสุขภาพด้วยการเจ็บป่วยต่างๆ ในหนึ่งปี

ที่สำคัญการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2560 พบว่าร้อยละ 45 ของผู้สูบบุหรี่ไทยมีอายุมากกว่า 45 ปี ถ้าเราไม่เร่งรักษาให้ผู้สูบบุหรี่เหล่านี้เลิกสูบ จะมีคนที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตอีกมากมายจากการสูบบุหรี่ต่อไปเรื่อยๆ

การให้ยาเลิกบุหรี่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ จะทำให้มีแพทย์ริเริ่มการรักษาเลิกบุหรี่มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผลพลอยได้ที่สำคัญจะทำให้มีแพทย์และทีมงาน เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ เพิ่มขึ้นอีกนับพันนับหมื่นคน ซึ่งจะส่งผลดีต่อความตื่นตัวในการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบด้านอื่นๆ อย่างประเมินค่าไม่ได้ คนติดบุหรี่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้นหากยิ่งมีทีมบุคลากรสุขภาพเข้ามารักษาคนติดบุหรี่มากเท่าไร งานควบคุมยาสูบก็จะยิ่งคืบหน้าเร็วมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อปี พ.ศ.2549 ศาสตราจารย์ นพ.Witold Zatonski ชาวโปแลนด์ มาบรรยายเรื่องการรักษาเลิกสูบบุหรี่ที่กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นว่า เสียดายเงินค่ายา ว่าเป็นการลงทุนที่ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ศ.Zatonski พูดว่าคุณต้องถามตัวเองว่า ทางเลือกอื่นคืออะไร “What is the alternative” การเสียเงินค่ายา ทำให้เขามีโอกาสที่จะเลิกสูบ ขณะที่ถ้าคุณไม่ยอมเสียเงินค่ายาในการรักษาเขา เขาก็เสียเงินให้แก่บริษัทบุหรี่ไปเรื่อยๆ และมีโอกาสที่จะเลิกสูบน้อยมาก

จึงขอฝากคำพูดของ ศ.Zatonski ถึงท่านกรรมการชุดต่างๆ ของ สปสช.พิจารณาด้วย

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image