บทความจากรัฐมนตรีโมเทกิ โดย นายโมเทกิ

การมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้ามาในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น แต่ตัวข้าพเจ้าเองก็ได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยหลายครั้งและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นทุกครั้ง ประเทศไทยสามารถสร้างรอยยิ้มให้ทั้งประชาชนชาวไทยและแขกผู้มาเยือน จึงถือได้ว่าเป็นสยามเมืองยิ้มอย่างแท้จริง

ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นต่อกัน มีบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นมากกว่า 5 พันรายที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย และมีชาวญี่ปุ่นมากกว่า 7 หมื่นคนพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์ของประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในความสัมพันธ์แบบห่วงโซ่อุปทานเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การมีวัตถุดิบอาหารสดอย่างผลไม้และอาหารทะเลจำนวนมากจากประเทศญี่ปุ่นถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียงรายอยู่บนแผงร้านค้าในประเทศไทยในทุกๆ วัน เช่นเดียวกับที่อาหารไทยเองก็เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้นักฟุตบอลชาวไทยยังได้สังกัดในทีมเจลีกและมีส่วนร่วมในการคว้าแชมป์ อีกทั้งยังเคยคว้าชัยชนะในรายการ AFC Champions League และในขณะเดียวกันก็ยังมี นิชิโนะ อากิระ อดีตโค้ชทีมชาติญี่ปุ่นได้เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาทีมชาติไทยอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมี “นักแสดงตลก” ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาแสดงผลงานในประเทศไทยอีกด้วย และเหนือสิ่งอื่นใดคือมีชาวไทยมากกว่า 1 ล้าน 1 แสนคนเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นต่อปี เช่นเดียวกับที่ชาวญี่ปุ่นเองก็เดินทางมาเยือนประเทศไทยมากกว่า 1 ล้าน 6 แสนคนต่อปี

การแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กันในระดับรากหญ้าเช่นนี้คือสิ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยมีความแน่นแฟ้น เมื่อปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่น ทั้งญี่ปุ่นและไทยต่างก้าวเข้าอยู่ยุคสมัยใหม่ด้วยกันทั้งคู่ และในปีที่แล้วประเทศไทยยังได้ทำหน้าที่สำคัญเป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้เป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ซึ่งทำให้มีการเดินทางไปมาหากันของเหล่าบุคคลสำคัญจากทั้ง 2 ประเทศอย่างต่อเนื่อง

ข้าพเจ้าประสงค์ให้ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยอันแน่นแฟ้นเช่นนี้สามารถสร้างประโยชน์ต่อเนื่องไปในด้านต่างๆ ในภูมิภาคและสังคมนานาชาติได้โดยไม่ยึดติดอยู่เพียงแค่ความร่วมมือกันของ 2 ประเทศเท่านั้น ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพความเป็นผู้นำในฐานะประธานอาเซียนว่าด้วยเรื่องปัญหาขยะมลพิษทางทะเล ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้แสดงวิสัยทัศน์ “Osaka Blue Ocean Vision” ในฐานะประธานการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 เพื่อแก้ปัญหาขยะในท้องทะเลเช่นกัน

Advertisement

นอกจากนี้ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนยังได้ร่วมหารือกับประเทศญี่ปุ่นเรื่องทรรศนะของอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific: FOIP) ประเทศญี่ปุ่นรู้สึกชื่นชมในความสามารถของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนเป็นอย่างมาก และหวังจะร่วมมือกับประเทศไทยต่อไปเพื่อผนึกกำลังระหว่างแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific: FOIP) ของประเทศญี่ปุ่นและทัศนะของอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) โดยข้าพเจ้าคิดว่าการร่วมมือกันของญี่ปุ่นและไทยในรูปแบบนี้จะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ช่วยเสริมศักยภาพความเป็นผู้นำเพื่อนำมาซึ่งความรุ่งเรือง ความมีเสถียรภาพ และความสงบสุขของโลก

เราได้พยายามอย่างยิ่งในการสานความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและเพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ใน 16 ประเทศประสบผลสำเร็จ ซึ่ง RCEP จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เมื่อรวมทั้ง 16 ประเทศเข้าด้วยกันจะมีจำนวนประชากรมากถึงครึ่งหนึ่งของโลก และมีค่า GDP รวมคิดเป็น 30% ของเศรษฐกิจโลก ถือได้ว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจร่วมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้วประเทศไทยถือเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญยิ่งในการสร้างกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจที่เที่ยงตรงและเสรี จากมุมมองดังกล่าวประเทศญี่ปุ่นยินดีที่จะเปิดรับข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ “ข้อตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก” (TPP11) จากทางประเทศไทย

Advertisement

ในขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าคิดว่าการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ ข้าพเจ้าจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีการร่วมมือกันโดยนำระบบ “โคเซ็น” ของประเทศญี่ปุ่นเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาแรงงานอุตสาหกรรมไทย

นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นยังยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานอย่างเช่นโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อเดือนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้แถลงการเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายในการรวบรวมเงินทุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตั้งแต่ปี ค.ศ.2020 ถึงปี ค.ศ.2022 รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวนเงิน 3 พันล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง JICA ได้เสนอเงินทุนไว้แล้วเป็นจำนวน 1 พัน 2 ร้อยล้านดอลลาร์ โดยหวังว่าอุตสาหกรรมทั้งเล็กและใหญ่ของทั้งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เช่น ในโครงการ EEC จะได้ใช้ประโยชน์จากเงินทุนนี้เพื่อพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานในประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ดี

ต่อจากนี้ ข้าพเจ้าจะเข้าพบเพื่อปรึกษาหารือกับ ฯพณฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้องด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยท่านอื่นๆ และจะส่งเสริมความร่วมมือเพื่อนำไปสู่ความรุ่งเรืองและเสรีภาพของทั้งประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทย รวมไปถึงทั้งภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และประชาคมโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image