ดราม่าถุงพลาสติก : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

กระแสการรณรงค์ลดและงดการใช้ถุงพลาสติกซึ่งเริ่มมีการบังคับใช้อย่างจริงจังเมื่อเข้าปีใหม่ โดยเฉพาะการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อในช่วงนี้ และมีการให้ความร่วมมือในการเบลอภาพถุงพลาสติกจากโทรทัศน์หลายช่อง

คงมีหลายเรื่องที่น่าจะนำมาสนทนากันในช่วงที่หลายฝ่ายมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการในเรื่องนี้

ประการแรก เริ่มมีการเคลื่อนไหวในส่วนของการแจกถุงแบบใหม่ในร้านสะดวกซื้อ เช่นเมื่อวันก่อนผมไปซื้อของหลายอย่างที่ร้านสะดวกซื้อและซื้อน้ำขวด 1.5 ลิตรหนึ่งขวดพร้อมกับของอีกสองสามอย่าง น้องคนเก็บเงินก็ถามด้วยความเป็นห่วงว่าพี่นำถุงมาหรือเปล่าครับ ผมก็ถามน้องเขาไปว่าถ้าพี่ไม่เอามาน้องจะช่วยพี่อย่างไร ไหนว่าเลิกแจกถุงแล้วไม่ใช่เหรอ น้องคนนั้นก็กระซิบว่า จริงครับที่เราเลิกแจกถุง แต่เรามีถุงสำรองให้พี่ครับในกรณีจำเป็น

ผมก็ถามต่อว่าถุงสำรองนั้นหมายถึงอะไร น้องก็ให้คำตอบว่ามันคือถุงที่ไม่มีตราของร้านของเราครับ

Advertisement

เรื่องแบบนี้อาจจะต้องคิดต่อว่าบางประเทศนั้นเขาคงไม่มีปัญหาเรื่องการแจกถุงในร้านสะดวกซื้อมากนัก เพราะไม่ต้องซื้อน้ำดื่มทานเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนั้นถ้าคุณภาพของน้ำดื่มมันดีหรือว่าน่าเชื่อถือ ในกรณีของบ้านเรานั้นการประปาเขาก็มั่นใจในคุณภาพว่าน้ำเขาดื่มได้ แต่ประชาชนเองอาจจะไม่มั่นใจก็เป็นได้ (แถมตอนนี้ยังมีเรื่องน้ำประปาเค็ม และมีข้อแนะนำว่าถ้าคนเป็นโรคไตให้ซื้อน้ำดื่มมาทานแก้ปัญหาไปก่อน)

ขณะที่นี้บางร้านยังใช้โอกาสนี้ขายถุงใส่สินค้าในราคาแพงปราศจากการควบคุม ทั้งที่ในหลายประเทศนั้นถุงที่นำมาจำหน่ายจะไม่มีราคาแพงขนาดนี้ (หรือมีหลายแบบ) หรืออาจจะมีในแบบที่ขายแล้วให้เอามาเปลี่ยนได้ตลอดในกรณีที่ถุงนั้นชำรุดหรือเสื่อมสภาพ

ส่วนบ้านเราในตอนนี้ยังไม่มีการตรวจสอบความสมเหตุสมผลในเรื่องราคาของถุงเหล่านั้น และยังไม่ค่อยได้ตั้งคำถามว่าการที่ร้านสะดวกซื้อไม่ต้องแจกถุงให้เราแล้วทำไมราคาสินค้าของเราถึงไม่ลดลงจากก่อนหน้านี้ เพราะเดิมนั้นร้านค้าเหล่านั้นย่อมบวกราคาค่าถุงลงไปในสินค้าเหล่านั้นแล้ว

Advertisement

ประการที่สอง คนจำนวนไม่น้อยอาจจะมีความต้องการถุงพลาสติกอยู่ เพราะเขาจะนำไปใช้ในการใส่ขยะทิ้ง ทั้งที่มีผู้รู้หลายท่านที่มีประสบการณ์ในต่างประเทศก็พยายามชี้แจงว่า ในหลายประเทศถุงใส่ขยะนั้นมีการแยกประเภทและไม่ใช่จะเอาถุงอะไรมาใส่ขยะก็ได้ บางประเภทต้องซื้อถุงมาจัดเก็บแบบแยกประเภทด้วย

ในแง่ดีนั้นคนที่เอาถุงไปใส่ขยะก็มีส่วนของความพยายามในการรักษาความสะอาดนะครับ ไม่ทิ้งของเรี่ยราด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็บ่งชี้ให้เห็นว่าระบบการกำจัดขยะของท้องถิ่นเราและกรอบกฎหมายจริงๆ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัตินั้นยังมีประเด็นท้าทายอีกมาก เพราะระบบการแยกขยะของเราไม่มีประสิทธิภาพทั้งความเข้าใจของประชาชน และการบริหารจัดการของท้องถิ่นเองที่มีถังขยะใบเดียวเป็นส่วนใหญ่แล้วเราก็ต้องใส่ขยะลงไป รวมทั้งการจัดเก็บที่ไม่ได้มาบ่อย ถุงพลาสติกก็เลยเป็นทางออกที่ไม่ทำให้เลอะเทอะและส่งกลิ่นได้

เรื่องการแยกขยะนั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งต้นทาง และปลายทาง โดยเฉพาะความเชื่อแค่ว่าจะปลูกฝังสิ่งนี้ตั้งแต่เด็กและมีคู่มือให้ศึกษา เพราะการแยกขยะนั้นไม่ใช่เรื่องช่องเท่านั้นว่าอะไรนั้นใส่ช่องไหนแต่โดยระเบียบของไทยเองแม้จะมีการกำหนดไว้อย่างคร่าวๆ แต่ในการบังคับใช้ระดับครัวเรือนยังไม่มี และยังไม่มีการเตรียมการรองรับที่ชัดเจนและไม่มีระบบจูงใจอะไร มีแต่การจะขึ้นค่าขยะรายเดือน แทนที่จะจูงใจเรื่อง

การแยกขยะเหมือนหลายประเทศที่ขยะบางประเภทอาจไม่เก็บค่าจัดเก็บ หรือทำให้ประชาชนรับผิดชอบมากขึ้นในรูปแบบอื่น เช่นบางอย่างผู้ทิ้งต้องรับผิดชอบพิเศษไม่ใช่เอามาทิ้งได้เลย ได้แก่เฟอร์นิเจอร์
การแยกขยะในระดับครัวเรือนนั้นถ้าจะมีประสิทธิภาพ จะต้องคำนึงถึงภาพรวมของพื้นที่ท้องถิ่นนั้น โดยเฉพาะในเมืองนั้นๆ ประชาชนจะต้องมีความเข้าใจระบบการจัดการและกำจัดขยะของแต่ละท้องถิ่น พวกเขาถึงจะสามารถแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความเข้าใจเรื่องของวัสดุ และการกำจัดเป็นพื้นฐาน เพราะตัวสินค้าที่เราใช้นั้นมีพลวัตมากขึ้นทุกวัน รายละเอียดและข้อมูลที่จะแจ้งว่าอะไรนั้นให้ทิ้งตรงไหนคงจะอัพเดตตามไม่ทัน แต่ถ้าเรารู้ว่าในพื้นที่ของเรานั้น ผู้จัดการกำจัดขยะคือ กทม. เทศบาล อบต.ไหน แล้วเขาจัดการและกำจัดอย่างไร เช่น ฝังกลบ เผา แยกนำกลับมาใช้ใหม่ คนในท้องถิ่นนั้นก็จะแยกแยะได้ละเอียดและแม่นยำขึ้น

นอกจากนั้นในระดับชาติเองก็ควรจะเอาใจใส่เรื่องขยะให้เป็นระบบมากกว่าการออกคำสั่งห้าม แต่ควรจะบูรณาการการจัดการและกำจัดขยะอย่างเป็นระบบมากกว่านี้ มิเช่นนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในเรื่องขยะมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ หรือความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบทในเรื่องขยะ ซึ่งเป็นปัญหาการเมืองของสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในแง่ของนิเวศวิทยาการเมือง จะพบว่าพื้นที่เมืองสร้างขยะมากกว่า และขณะเดียวกันก็มีทรัพยากรทางอำนาจมากกว่าในพื้นที่ชนบท

ดังนั้น ขยะจากในเมืองมักจะถูกทิ้งนอกพื้นที่ และทำให้เกิดปัญหามลพิษและความขัดแย้งมากขึ้นระหว่างเมืองกับพื้นที่โดยรอบ

ประการที่สาม ในเรื่องของถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในบ้านเราที่กลายเป็นตัวปัญหาราวกับเป็นอาชญากรรมของมนุษยชาติ สิ่งที่เราไม่ค่อยได้ถามกันก็คือ กระบวนการอะไรที่ทำให้พวกเราตกเป็นเหยื่อของการบริโภคได้ขนาดนั้น

เราพบว่ารัฐสามารถออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและใช้ปฏิบัติอย่างทันที (หรือเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้หนึ่งปี) ในการงดแจกถุงพลาสติกโดยที่ทำให้เราต้องออกมาจิกกัดตบตีกันเองว่า ทำไมเราถึงมีปัญหากับสิ่งนี้มากมายนัก ไม่รักโลกหรือไง ดัดจริตหรือไง ทั้งที่รู้ว่ามันดีไม่ใช่เหรอในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลามไปถึงเรื่องของปัญหาเต่าทะเลและสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่เดือดร้อนเพราะน้ำมือของมนุษย์

สิ่งที่เราไม่เห็นจากรัฐในความเข้มข้นของอำนาจในระดับเดียวกันกับการบังคับกับประชาชนในเรื่องของการงดแจกถุงพลาสติกก็คือ หีบห่อของสินค้าจำนวนมากในปัจจุบันที่ทำจากพลาสติกที่ผู้ผลิตเป็นผู้สร้างขึ้นมา

จึงเกิดสภาวะที่ภาระในการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นของประชาชนตั้งแต่ซื้อ บริโภค ไปจนถึงกำจัด มากกว่าภาระอยู่ที่ตัวผู้ผลิตและขาย

เราไม่เห็นความริเริ่มของรัฐบาลในการเก็บภาษีหรือเข้มงวดกับการผลิตสินค้าโดยเฉพาะในเรื่องของหีบห่อที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราไม่เห็นว่าร้านขนาดใหญ่ที่ขานรับนโยบายไม่แจกถุงให้ประชาชนจะมาแบกภาระอะไรกับการที่นำเอาสินค้าที่มีหีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาขายเลย

ในฐานะผู้บริโภค เราถูกทำให้เกิดการมองแยกส่วนมากขึ้น โดยมองว่าผู้บริโภคนั้นเป็นผู้ผิด เป็นผู้เริ่มต้นของวัฏสงสารของการสร้างขยะและมลพิษ และไม่มีคุณธรรมหากไม่รักษาสิ่งแวดล้อม

บางคนก็พยายามสรรหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่รักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งมักจะมีราคาแพงมาใช้เพราะนึกว่ามันจะดีต่อโลก ลดขยะ ลดมลพิษ ทำแล้วรู้สึกดี ใครไม่ทำนั้นอาจรู้สึกผิดบาป ทั้งที่จุดตั้งต้นนั้นอาจไม่ใช่การบริโภค แต่เป็นการผลิต แต่ระบบการผลิตและการบริโภคในปัจจุบันกลับทำให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นทั้งเหยื่อของปัญหาสิ่งแวดล้อมเองกลับโทษตัวเองอยู่ฝ่ายเดียว (ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคไม่ผิด แต่ผู้บริโภคนั้นไม่ควรผิดคนเดียว แต่ควรจะทำให้เกิดทางเลือกแก่ผู้บริโภคและไล่บี้ผู้ผลิตมากขึ้น)

ในยุคแรกๆ นั้น การมีพลาสติกมาเป็นวัสดุพื้นฐานในผลิตภัณฑ์ทำให้การบริโภคขยายตัว ราคาสินค้าถูกลงจนคนเข้าถึงได้มากขึ้นและสะดวกสบายมากขึ้น เช่นสมัยหนึ่งจะซื้อของอาจต้องหิ้วปิ่นโตไป ต้องมัดจำขวดแก้ว หรือต้องใช้กระป๋องนมในการใส่เครื่องดื่มร้อนแต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยพลาสติกและโฟม และเราก็เห็นราคาที่เราต้องจ่ายที่ซ่อนอยู่ในส่วนของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในวันนี้และในวันนี้พลาสติกเริ่มถูกมองว่าเป็นตัวร้ายและเป็นอาชญากรสำคัญของระบบสิ่งแวดล้อม สังคม และมนุษยชาติ มากกว่ากระแสการบริโภคล้นเกิน และระบบการผลิตที่ลดต้นทุน

โดยประวัติแล้ว พลาสติกถูกคิดค้นเป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรกผ่านการสังเคราะห์ที่มหานครนิวยอร์ก เมื่อ ค.ศ.1907 พลาสติกกลายเป็นวัสดุสุดแสนมหัศจรรย์ ที่ต้นทุนต่ำ ผลิตได้ง่าย ทนทานต่อน้ำและของเหลวแถมยังสามารถดัดแปลงเป็นได้หลายอย่างตั้งแต่ของเล็กๆ อย่างคลิปหนีบกระดาษ มาจนถึงวัสดุในยานอวกาศ

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ข้อมูลชี้ว่ามีการใช้พลาสติกถึงหนึ่งในสามของบรรจุภัณท์ และหนึ่งในสามของวัสดุในบ้าน ร้อยละยี่สิบในเฟอร์นิเจอร์ ยานยนตร์ ของเล่น แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างอินเดีย มีการใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ถึงร้อยละ 42 และสถิติในภาพรวมมนุษย์ผลิตขยะพลาสติกคนละ 50 กิโลกรัมต่อปี แต่โดยภาพรวมพลาสติกก็ยังมีประโยชน์ต่อโลกอีกมากมายแม้ว่าจะย่อยสลายได้ยากก็ตาม

อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือมีการค้นพบว่าสินค้าที่ติดตราว่าใช้หีบห่อที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือรักสิ่งแวดล้อม ข้อค้นพบคือมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเอง และบางอย่างก็นำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าการบริโภคสินค้าที่อยู่ในหีบห่อแบบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (โดยแปรสภาพก่อน ที่เรียกว่ารีไซเคิล) นั้นจึงไม่จริงทั้งหมด และทำให้ขยะพลาสติกล้นโลกอยู่ดี เรื่องนี้รวมไปถึงเรื่องของการพูดถึงสินค้าที่ย่อยสลายตามธรรมชาตินั้นก็มีเวลาย่อยสลายของมันและก่อนการย่อยสลายมันก็ถือว่าเป็นขยะอยู่ดี และการยังคงบริโภคเช่นเดิมเพิ่มเติมเพียงเปลี่ยนชนิดของผลิตภัณฑ์ก็ทำให้เรารู้สึกแยกขาดจากระบบนิเวศและชุมชนท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าเราทำดีแล้ว เราลดขยะแล้ว โดยที่อาจไม่เคยเข้าใจและสัมผัสเลยว่าขยะเมื่อพ้นตัวของเราแล้ว ต่อให้อ้างว่าเป็นขยะรีไซเคิลนั้นเอาจริงๆ แล้วมันเดินทางไปไหน ถูกแปรสภาพอย่างไร และถูกแปรสภาพกลับมาใช้ได้หมดไหมแบบที่เราจินตนาการ หรือเราถูกทำให้เชื่อผ่านโฆษณาดังที่มีการถกเถียงเรื่องถุงผ้าฝ้ายกับพลาสติกว่าสิ่งไหนทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน เป็นต้น

ยังมีข้อเสนอที่ลึกและถอนรากถอนโคนในเรื่องปัญหาสิ่งแวลดล้อมอีกหลายอย่าง อาทิข้อเสนอที่ตรงข้ามกับการช้อปปิ้งถล่มทลายในวันคนโสด หรือซื้อของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาเป็นเรื่องของการรณรงค์วันไม่ซื้อของ หรือลดการบริโภค (Buy Nothing Day) แทนประเภทมิดไนต์เซลส์ หรือวันคนโสด

หรือการตั้งคำถามในเรื่องของการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมสำหรับคนรวย (environmentalism of the rich) และการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมสำหรับคนจน (environmentalism of the poor) โดยที่ในแบบคนรวยนั้น ประเด็นหลักก็คือเรื่องของการรักษาธรรมชาติในชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมจากคนในเมืองให้ดูแลแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ห่างไกล การปรับปรุงการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในเมือง และการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ดังตัวอย่างของการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและน้ำ การแพร่กระจายปฏิบัติการการสร้างอาคารประหยัดพลังงานในนามของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ การเติบโตของการแปรสภาพขยะนำกลับมาใช้ใหม่หรือพลังงานสะอาด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่วนมากคนในประเทศพัฒนาแล้วและบรรษัทของประเทศเหล่านั้นก็สนับสนุนเต็มที่

ขณะที่การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับคนจนมักเป็นเรื่องของการต่อสู้ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีต่อการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโลกในแบบโลกาภิวัตน์ด้วยเศรษฐกิจในแบบที่ไม่ยั่งยืน โดยการเพิ่มการขูดรีดและสกัดทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ การมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าความยั่งยืน การเน้นการบริโภค ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เต็มไปด้วยความรุนแรง ความไม่เป็นธรรมขั้นรุนแรง และการสร้างความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพทางสิ่งแวดล้อมในฐานะสิ่งที่ทำกันจนเป็นนิสัย เรามักจะเห็นว่า นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมสำหรับคนจนนั้นมีชีวิตที่เสี่ยงเป็น
เสี่ยงตาย และถูกอุ้มถูกฆ่าอยู่ทั่วโลก

ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้เพื่อชี้ว่าเรื่องปัญหาการใช้ถุงพลาสติกมีความซับซ้อนมากกว่าการใช้มาตรการเดียวในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และหลายฝ่ายคงต้องร่วมกันคิดหาหนทางในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นครับ

หมายเหตุ – ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก P.Dauvergne. Environmentalism of the Rich. Cambridge, MA: MIT Press, 2016., J.Manson. Against Recycling. Jacobinmag.com. 12/2019. และ “Plastic”. Wikipedia.

 

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image