คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน นวัตกรรมชี้นำคุณภาพ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ “นวัตกรรม” ถือเป็นกลไกหลักของนโยบายเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกยุคศตวรรษที่ 21 และเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยสู่ยุค “ประเทศไทย 4.0” ด้วย

ด้วยการที่ “นวัตกรรม” สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับผลผลิตทางเศรษฐกิจ หลายประเทศจึงแข่งกันมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจอุตสาหกรรม และสร้างผู้ประกอบการประเภท Start Up ให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

ปัจจุบัน หลายประเทศต่างๆ จึงได้ลงทุนเพื่อการพัฒนานวัตกรรมอย่างมหาศาล เพื่อยกระดับศักยภาพในการรับมือปัญหาความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สุขภาพ การศึกษา และความเท่าเทียมในสังคม

“Bloomberg Innovation Index” ได้สำรวจและจัดอันดับประเทศทั่วโลกมากกว่า 200 ประเทศที่มีการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมประจำปี ค.ศ.2019 ปรากฏผลว่า

Advertisement

“เกาหลีใต้” เป็นประเทศที่ได้อันดับที่ 1 ด้วยคะแนนสูงถึง 87.4 คะแนน ซึ่งครองแชมป์ต่อเนื่องมานานถึง 6 ปี

ขณะที่อันดับที่ 2 เป็นของ “เยอรมนี” (87.3 คะแนน), อันดับที่ 3 “ฟินแลนด์” (85.6 คะแนน), อันดับที่ 4 “สวิตเซอร์แลนด์” (85.5 คะแนน) และอันดับที่ 5 “อิสราเอล” (84.8 คะแนน)

สำหรับอันดับ 6-10 คือ “สิงคโปร์” (84.5 คะแนน), “สวีเดน” (84.2 คะแนน), “สหรัฐอเมริกา” (83.2 คะแนน), “ญี่ปุ่น” (82 คะแนน) และ “ฝรั่งเศส” (81.7 คะแนน)

Advertisement

การจัดอันดับข้างต้นนี้ ได้วิเคราะห์จากตัวชี้วัดต่างๆ อันได้แก่ จำนวนเงินในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (RND) ปริมาณสิทธิบัตร การศึกษาระดับอุดมศึกษา การเพิ่มมูลค่าของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ระดับการผลิตต่อจำนวนประชากร จำนวนบริษัทไฮเทคที่เป็นมหาชน และจำนวนนักวิจัย

ดังนั้น แม้ว่า “เกาหลีใต้” จะมีเม็ดเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาเพียง 73,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าสหรัฐที่สูงถึง 476,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่น 169,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนต่อจีดีพีแล้วจะสูงถึง 4.3% ขณะที่สหรัฐและญี่ปุ่นเป็นเพียง 2.7% และ 3.4% ตามลำดับ

ที่น่าสังเกต ก็คือ “สหรัฐ” ที่อยู่อันดับที่ 8 ได้ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 11 กลับมาติดอยู่ใน “Top 10” อีกครั้ง ส่วน “จีน” แม้ไม่ได้ติด “Top 10” แต่เลื่อนขึ้นมา 3 ลำดับอยู่ในอันดับที่ 16 แม้ว่าจีนจะมีปริมาณการจดสิทธิบัตรมากขึ้น จากความแข็งแกร่งในการวิจัยและพัฒนาจากบริษัทชั้นนำอย่าง “หัวเว่ย เทคโนโลยีส์” และ “บีโออี เทคโนโลยีส์ กรุ๊ป” แต่ก็ยังล้าหลังในด้านนวัตกรรมการผลิตในภาพรวม และความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐก็ฉุดรั้งการพัฒนาของจีนด้วย

ทุกวันนี้ “นวัตกรรม” นอกจากจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไม่ใช่เพียงการจัดสรรทรัพยากรให้กับมนุษย์เท่านั้น แต่ “นวัตกรรม” ยังทำให้เกิดวิธีการผลิต รูปแบบและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ช่วยทำให้ “คุณภาพ” ชีวิตและสังคมดีขึ้นด้วย

ว่าไปแล้ว ขีดความสามารถในการสร้าง”นวัตกรรม” ของไทยเรา ผมรับรองว่าไม่แพ้ใครในโลก แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ระบบที่จะทำให้เกิดการพัฒนา “นวัตกรรม” อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image