จิตวิวัฒน์ : ความพร่องที่เติมเต็มได้ยาก : โดย พระไพศาล วิสาโล

ผู้คนทุกวันนี้แม้มีเงินทองมากมาย พรั่งพร้อมด้วยวัตถุสิ่งเสพ แต่สิ่งหนึ่งที่คอยรบกวนจิตใจอยู่เนืองๆ คือ ความรู้สึกพร่อง ดูเผินๆ เหมือนความรู้สึกว่ายังมีเงินไม่พอ หรือมีสุขไม่พอ แต่ลึกไปกว่านั้นก็คือการพร่องความสงบ ซึ่งเชื่อมโยงกับความรู้สึกพร่องอีกประการหนึ่ง

ในด้านหนึ่งมันคือความกลัวตาย แต่ที่จริงมันคือความกลัวว่าตัวตนจะไม่ยั่งยืน จะว่าไปแล้วคนเราไม่ได้กลัวตายมากเท่ากับกลัวตัวตนจะดับสูญ แต่ว่าในระดับพื้นผิว เพียงแค่ความตายอย่างเดียวก็ทำให้ผู้คนเกิดความกลัว รู้สึกกระสับกระส่าย นี่คือสิ่งที่รบกวนจิตใจผู้คน ทางออกของผู้คนจำนวนมากก็คือเสพสุขให้เยอะๆ จะได้ลืมตาย เมื่อสนุกสนานเพลิดเพลินมากๆ ก็จะไม่มีเวลาคิดถึงความตายของตน หรือลืมไปเลยว่าสักวันหนึ่งเขาจะต้องตาย หลายคนจึงอยู่เหมือนคนลืมตาย นี่เป็นวิธีที่หลายคนใช้รับมือกับความกลัวตาย คือทำตัวให้วุ่น ทำใจไม่ให้ว่าง บางคนก็วุ่นกับการทำงาน แต่หลายคนก็วุ่นกับการเสพ ความสนุกสนาน ช่วยทำให้ลืมตายไปได้ อย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่ง

แต่นอกจากความกลัวตายแล้ว ยังมีความรู้สึกลึกๆ ที่รบกวนจิตใจผู้คนในระดับจิตไร้สำนึก นั่นคือความไม่มั่นใจว่าตัวตนมีจริงไหม เรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันเท่าไหร่ แต่ว่าอาตมาเชื่อว่ามันรบกวนจิตใจผู้คนจำนวนไม่น้อย จริงอยู่คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า ตัวกูนี้มีอยู่จริง แต่ในส่วนลึกๆ ก็เกิดความระแวงสงสัยว่าตัวกูมีจริงไหม

การค้นพบของพุทธศาสนาที่สำคัญคือ การค้นพบว่าตัวกูไม่มีอยู่จริง ตัวกูหรือตัวตนเป็นแค่ภาพปรุงแต่ง ที่จิตปรุงขึ้นมา เป็นมายา อะไรที่เป็นมายา อะไรที่ไม่เป็นความจริง ในส่วนลึกของจิตใจเราทุกคนก็ย่อมรู้ แม้มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน แต่ก็จะมีบางช่วงบางขณะที่เราเกิดความสงสัยว่า ตัวกูมีจริงหรือ เพราะว่าตัวตนหรือตัวกูในความรู้สึกของเรามันแปรเปลี่ยนไปเรื่อย

Advertisement

ตัวอย่างเช่น เวลาเราเจอลูก ตัวตนที่เป็นพ่อแม่ หรือความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นพ่อแม่ก็ปรากฏ แต่เวลาเราเจอพ่อแม่ ตัวตนใหม่ก็เกิดขึ้น คือ ตัวตนที่เป็นลูก เวลาเราเจอลูกศิษย์ ตัวตนที่เป็นครูก็ปรากฏ แต่เวลาเราเจอครูเก่าๆ ตัวตนที่เป็นศิษย์ก็ปรากฏ เวลาเราเจอฝรั่ง ตัวตนที่เป็นไทย หรือความสำคัญมั่นหมายว่าฉันคือคนไทยก็ผุดขึ้นมา พอเจอคนใต้ ตัวตนที่เป็นคนอีสานก็ผุดขึ้นมาแทนที่ เวลาเจอคนชัยภูมิ ตัวตนที่เป็นคนขอนแก่นก็ปรากฏ

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า “ตัวกู” แปรเปลี่ยนไปเรื่อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบท ถ้า “ตัวกู” จริงแท้แน่นอน แล้วทำไมมันแปรเปลี่ยนไปเรื่อย? ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ทำให้หลายคนหรือแทบจะทุกคนก็ว่าได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็สงสัยหรือเกิดกังขาขึ้นมาว่า “เอ๊ะ ตัวกู มีจริงไหม?”

แต่ธรรมชาติของจิตส่วนลึกยอมรับไม่ได้ว่า “ตัวกู” ไม่มีจริง เพราะถ้าตัวกูไม่มีจริงก็เคว้งสิ สิ่งที่เรามักทำก็คือพยายามกดความลังเลสงสัยนี้เอาไว้ กดมันเอาไว้ในส่วนลึกของใจ แต่สิ่งที่กดเอาไว้นั้นไม่เคยหายไปไหน มันแค่หลบไปอยู่ในจิตไร้สำนึก คอยโผล่ออกมารบกวนจิตใจตอนเราเผลอ

Advertisement

อะไรที่เรากดเอาไว้มันไม่เคยหาย แต่หลบซ่อนอยู่แล้วโผล่อออกมาในยามที่เราเผลอ หรือไม่ก็แสดงตัวในลักษณะอื่น คนที่โกรธเกลียดพ่อถึงขั้นอยากทำร้ายพ่อ แม้จะกดข่มความรู้สึกโกรธเกลียดพ่อเอาไว้ แต่บางครั้งมันโผล่ออกมาเป็นความโกรธเกลียดอย่างอื่นแทน มีบางคนเกลียดศาลพระภูมิ อยากเตะศาลพระภูมิทุกครั้งที่เห็น แต่เมื่อสาวไปลึกๆ ก็พบว่าเขาโกรธเกลียดพ่อ แต่เจ้าตัวยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองมีความรู้สึกนี้กับพ่อ เพราะคนดีเขาไม่โกรธเกลียดพ่อ จึงกดความรู้สึกนี้เอาไว้ในส่วนลึกของใจ แต่ความรู้สึกนี้ไม่ได้หายไปไหน มันเพียงแต่โผล่ในรูปอื่น นั่นคือโกรธเกลียดศาลพระภูมิ

ความลังเลสงสัยว่า “ตัวกูไม่มีจริง” ก็เช่นกัน ใจเรายอมรับไม่ได้ว่า ตัวกูไม่มีจริง จึงพยายามกดความสงสัยนี้เอาไว้จนอยู่ในจิตไร้สำนึก วันดีคืนดีมันก็โผล่ออกมาสู่จิตสำนึก เป็นความรู้สึกพร่อง อันนี้เป็นแนวคิดของ เดวิด ลอย (David Loy) นักคิดชาวพุทธที่น่าสนใจมาก ความรู้สึกพร่องดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ง่อนแง่น คับข้อง กระวนกระวาย ทำให้ไม่เป็นสุข

วิธีหนึ่งที่คนทั่วไปใช้ในการบรรเทาความรู้สึกพร่องก็คือ การเสพและครอบครองวัตถุ หรือมีเงินมากๆ ทั้งนี้เพื่อเติมเต็มจิตใจ ทรัพย์สินเงินทองเป็นวัตถุรูปธรรม ที่หลายคนคิดว่าจะช่วยทำให้ใจหายพร่อง ได้รับการเติมจนเต็มได้ นี้คือเหตุผลว่าทำไมผู้คนพากันแสวงหา บริโภค และสะสมวัตถุอย่างเอาจริงเอาจังไม่ใช่เพียงเพื่อความสะดวกสบายทางกาย ไม่ใช่เพื่อความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ หรือเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น ที่สำคัญคือเพื่อเติมเต็มจิตใจ เพื่อลดความรู้สึกพร่อง โดยพยายามยึดหาอะไรมาเป็นตัวตน หรือรองรับค้ำจุนภาพตัวตนให้ดูเป็นจริงขึ้นมา

แต่ไม่ว่ามีทรัพย์สินเงินทองมากเท่าใด ความรู้สึกพร่องดังกล่าวก็ไม่ได้หายไปไหน อาจถูกกลบเกลื่อนไปชั่วคราว แต่แล้วก็กลับมารบกวนใหม่ ความสำคัญประการหนึ่งของพุทธศาสนาอยู่ตรงที่ช่วยให้เราลดความรู้สึกพร่องได้อย่างแท้จริง โดยการชี้ให้เห็นความจริงว่า ไม่มี “ตัวกู” อยู่เลย “ตัวกู” เป็นแค่สิ่งที่จิตปรุงแต่งหรือทึกทักว่ามีจริง มันเป็นมายา

อย่างไรก็ตาม ความจริงดังกล่าว เพียงแค่คิดเอาหรือไตร่ตรองด้วยเหตุผลอย่างเดียวไม่พอ ใจต้องเห็นความจริงนี้อย่างแจ่มแจ้งด้วย จึงจะหายสงสัยกังขา พูดอีกอย่างคือต้องเป็นการประจักษ์แจ้งอย่างถ่องแท้ว่า “ตัวกูไม่มีจริง” การประจักษ์แจ้งดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จากการทำสมาธิภาวนาที่เรียกว่าวิปัสสนา โดยอาศัยการเจริญสติปัฏฐานเป็นสำคัญ

การเจริญสติปัฏฐานแม้เพียงเบื้องต้น คือการรู้กาย เห็นกายตามที่เป็นจริงก็ช่วยได้มาก เมื่อเรามีสติขณะเดิน ก็จะเห็นว่า ที่เดินนั้นไม่ใช่เราหรือ “กู” เดิน แต่เป็น “รูป” ที่เดิน เวลามีความคิดเกิดขึ้น มันไม่ใช่เราคิดหรือ “กู” คิด แต่เป็น “นาม” หรือ “จิต” ที่คิด หรือมีความคิดเกิดขึ้นกับจิตหรือนามนั้น เวลาโกรธมันไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ ถ้าเราเจริญสติอย่างถูกต้อง จะช่วยไถ่ถอนความยึดมั่นถือมั่น หรือลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูได้ เพราะจะเห็นว่า ไม่ว่าทำอะไรลงไป มันไม่มีตัวกูเป็นผู้ทำ มีแต่ “รูป” หรือ “นาม” หรือมีแต่ “กาย” กับ “ใจ” ที่เป็นตัวกระทำ เอาเข้าจริง ไม่มีคำว่า “ใคร” มีแต่คำว่า “อะไร” มากกว่าที่กระทำหรือเป็นไป

ฉะนั้น ถ้าหากภาวนาไปจนถึงระดับวิปัสสนาก็จะเห็นชัดเจนว่า จริงๆ แล้วมันไม่มีตัวกูตั้งแต่แรก ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นไม่ต้องวาง “ตัวกู” เพียงแค่วางหรือสละความยึดถือว่ามีตัวกูเท่านั้นก็พอแล้ว เมื่อเห็นชัดแจ่มแจ้งว่าไม่มีตัวกู ความลังเลสงสัยว่าตัวกูมีอยู่จริงไหมก็จะหมดไป จิตจะยอมรับอย่างสิ้นเชิงว่าไม่มีตัวกูเลยแม้แต่น้อย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะกดข่มความลังเลสงสัยในตัวกูอีกต่อไป ความรู้สึกพร่องที่รบกวนจิตใจก็จะหายไป เกิดความรู้สึกเต็มอิ่ม หรือความรู้สึกโปร่งเบาขึ้นมา เป็นอิสระอย่างแท้จริง

ในขณะที่การประจักษ์ดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยเราก็ควรลดความยึดติดถือมั่นในตัวกู ด้วยการให้ทาน เพื่อลดความยึดมั่นในของกู รวมทั้งลดความยึดมั่นในความคิดของกู ไม่เอาตัวกูเป็นศูนย์กลาง นึกถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง อีกทั้งหมั่นมองตนจนรู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ เหล่านี้ล้วนช่วยให้ “ตัวกู” ไม่รบกวนจิตใจ และได้พบความสงบในใจมากขึ้นเรื่อยๆ

พระไพศาล วิสาโล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image