เด็ก เยาวชน พลเมือง โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, พจนา อาภานุรักษ์

หลายคนคงทราบดีว่าวันเด็กเป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้นให้ตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม โดยเริ่มมีการจัดกิจกรรมครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ซึ่งตรงกับปีที่ทั่วโลกจัดให้มีการเฉลิมฉลองให้กับเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หลังจากมีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยหน้าที่ของเด็ก โดยนาย วี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ สำหรับในประเทศไทยแต่เดิมวันเด็กนั้นตรงกับวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม แต่เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศที่ยังคงมีฝนตกอยู่ในฤดูกาลดังกล่าว คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงมีมติให้เปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมในปี พ.ศ.2508

“เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย” คือคำขวัญวันเด็กประจำปี 2563 ที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชน คำขวัญวันเด็กคือชุดคำหนึ่งที่สะท้อนถึงวิธีคิดและมุมมองของผู้นำประเทศในขณะนั้น เชื่อมโยงกับสภาพบริบทสังคม และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในยุคต่างๆ จากการรวบรวมคำขวัญวันเด็กตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ถึงปัจจุบัน พบว่า 5 อันดับแรกของคำหรือวลีที่นิยมหยิบยกมาเป็นคำขวัญวันเด็ก คือ อันดับที่ 1 “มีวินัย” (12 ครั้ง) อันดับที่ 2 “คุณธรรม” (11 ครั้ง) อันดับที่ 3 “ขยัน สามัคคี” (10 ครั้ง) อันดับที่ 4 “ประหยัด” (6 ครั้ง) และอันดับที่ 5 “รักชาติ รู้หน้าที่” (4 ครั้ง)

แต่ละยุคสมัยต้องการพัฒนากำลังคนแตกต่างกัน จึงเป็นที่มาว่าเมื่อโลกได้เข้าสู่สถานการณ์สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม แนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองและการทหาร ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ต่างก็มีส่วนกำหนดคุณลักษณะ (characteristic) ของเด็กและเยาวชนในยุคสมัยนั้นๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ซ่อนอยู่ไหนคำขวัญวันเด็กคือวิธีคิดเชิงอุดมการณ์ชาตินิยมที่มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองของประเทศตามความมุ่งหมายของรัฐ

แนวคิดเรื่องการพัฒนาความเป็นพลเมือง (citizenship) นั้นมีนักวิชาการต่างประเทศและนักวิชาการไทยได้ให้นิยาม ความหมาย และคุณลักษณะของพลเมืองไว้โดยเชื่อมโยงกับระบบโครงสร้างทางสังคม การเมือง

Advertisement

การปกครอง และวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น ในรายงานการประชุมวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า ได้ให้คำอธิบายของพลเมืองไทยไว้ว่า “พลเมืองไทย ในอดีตที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากการกล่อมเกลาคนไทยให้อยู่ในวิถีไทย ระบบการศึกษาที่เป็นทางการ และการสอนความรู้ต่างๆ ผ่านสื่อมวลชนหลายแขนง เช่น ศีลธรรมไทย วรรณคดีไทย ศิลปะไทย มารยาทไทย ทำให้พลเมืองไทยยอมรับการแบ่งชนชั้นทางสังคม และยอมรับการปกครองที่ให้ความสำคัญแก่ผู้ ปกครองที่เป็นคนดีมีความสามารถ โดยพลเมืองไทยที่ดีต้องเชื่อฟังและทำหน้าที่ของพลเมืองอย่างดีที่สุดด้วยความเสียสละและความสามัคคีโดยไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของผู้ปกครอง” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคำว่าพลเมืองไทยนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบสังคม การเมือง การปกครอง ที่ครอบชุดคำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ของสังคมไว้ คำถามสำคัญคือ เด็กและเยาวชนอยู่ตรงไหนของชุดคำอธิบายคำว่าพลเมืองไทยเหล่านี้ ? หรือในต่างประเทศมีนักวิชาการที่ให้คุณลักษณะของพลเมืองไว้หลากหลายระดับ เช่น แนวคิดเรื่องพลเมือง 3 แบบ ของ Joel Westheimer ที่มองว่าระดับของพลเมืองนั้นสามารถมีได้ตั้งแต่พลเมืองรับผิดชอบ ที่มุ่งเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อตนเอง ตั้งใจทำงานจ่ายภาษี ปฏิบัติตามกฎหมาย มีจิตอาสา พลเมืองมีส่วนร่วม คือ พลเมืองที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร จัดการชุมชนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เข้าใจกระบวนการทำงานของรัฐ และพลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมที่สามารถคิดเชิงวิพากษ์โครงสร้างของสังคม นโยบาย และเศรษฐกิจ สืบค้นหาความจริงและนำเสนอความคิดที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมต่อสังคม สนใจความเคลื่อนไหวทาง
สังคมที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงระบบที่เกิดขึ้น

ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่ามีช่องว่างในการให้คำอธิบายถึงความเป็นพลเมืองของไทยกับสากลอยู่ค่อนข้างกว้างมากอยู่พอสมควร

เมื่อเรากล่าวถึงคำขวัญวันเด็กในปีนี้ที่ว่า “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย” ไม่แตกต่างอะไรมากนักกับเพลงหน้าที่ของเด็กที่รู้จักกันในนามเพลงเด็กเอ๋ย เด็กดี หรือค่านิยม 12 ประการที่บอกให้เด็กต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ตามความคิดของผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรีเองก็ได้ให้นิยามคำวาพลเมืองไทยไว้ว่า “พลเมืองไทยคือพวกเราที่เป็นพลเมืองของประเทศไทย และการรู้รักสามัคคีและความดีสำคัญที่สุด” และยังได้กล่าวอีกว่า “การเป็นเด็กดีเคารพผู้ใหญ่ และกตัญญู เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญมารยาทในสังคม การใช้คำพูดคำจาและการเชื่อฟังผู้ใหญ่หากสิ่งใดที่ถูกก็อย่าไปโต้เถียงและอย่าไปคึกคะนอง”

Advertisement

จากชุดคำที่ผู้ใหญ่ล้วนประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายความเป็นเด็ก ทางศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 7-24 ปี เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการสร้างคำอธิบายเพื่อบ่งบอกความเป็นวันเด็กในรูปแบบของตนเอง โดยสอบถามใน 6 ประเด็นสำคัญ คือ เด็กไทยยุคใหม่ มีลักษณะแบบไหน ในมุมมองของท่านคำว่า “รู้รักสามัคคี” หมายถึงอะไร “พลเมืองดี” หมายความว่าอย่างไร “พลเมืองดี” ต้องมีพฤติกรรมอย่างไร พลเมืองไทย มีหน้าที่อะไรบ้าง และให้ลองยกตัวอย่างพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นพลเมืองไทย

เป็นที่น่าสนใจว่าคำซ้ำที่ปรากฏเป็นคำอธิบายสำหรับคุณลักษณะของเด็กไทยในมุมมองของเด็กและเยาวชนนั้น คือ คำว่า “กล้า” ไม่ว่าจะเป็นกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออก ในขณะที่คำว่ารู้รักสามัคคีสำหรับเด็กและเยาวชน หมายถึง การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งการช่วยเหลือผู้ที่มีความเดือดร้อน

การช่วยเหลือสังคม การช่วยเหลือเพื่อนในภาวะยากลำบาก สำหรับคำว่าพลเมืองดี ส่วนใหญ่มองคาบเกี่ยวกับความเป็นคนดีของสังคม ไม่สร้างความเดือดร้อน สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม และเมื่อกล่าวถึงพลเมืองไทย มองว่ามีหน้าที่คล้ายคลึงกันกับการเป็นพลเมืองดี คือ พลเมืองไทยมีหน้าที่มีน้ำใจ เป็นคนดี ช่วยเหลือสังคม และเมื่อให้ยกตัวอย่างพฤติกรรมของพลเมืองไทย คือ รักชาติ เคารพกฎหมาย และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่นิยามความเป็นพลเมืองและมองคุณลักษณะของพลเมืองดีและพลเมืองไทยโดยเชื่อมโยงกับเรื่องการให้คุณค่ากับการทำความดีเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี มีการแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจอยู่หลายประการที่สะท้อนในเห็นถึงการยึดถือคุณค่าประชาธิปไตย เช่น พลเมืองดีคือบุคคลหรือประชากรที่ตระหนักถึงความเป็นพลเมือง ของโลก กระทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ และสร้างสรรค์ พลเมืองไทยมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกัน

แม้ว่าวันเด็กปีนี้จะไม่ได้แตกต่างจากวันเด็กของปีก่อนๆ มากนัก แต่สิ่งหนึ่งคือการทำความเข้าใจในระดับสังคมถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็ก เยาวชน สู่ความเป็นพลเมือง การหาความหมายร่วมกันให้ชัดเจนว่าพลเมืองไทยตามที่เด็กและเยาวชนคิดกับพลเมืองไทยตามที่ผู้ใหญ่ต้องการควรมีหน้าตาอย่างไร อาจทำให้ได้ชุดคำอธิบายใหม่ว่าพลเมืองไทยอาจไม่ใช่แค่รักชาติ รู้หน้าที่ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่อาจจะหมายถึงการขยายวงกว้างของชุดวิธีคิดและการกระทำที่อยู่บนฐานของการเคารพผู้อื่น

การให้ความสำคัญกับความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การเห็นอกเห็นใจกัน และการมีสำนึกร่วมถึงความเป็นชาติในแง่ที่เป็นผลทางบวกในการพัฒนาประเทศก็เป็นได้ ซึ่งคำอธิบายชุดใหม่นี้อาจจะต้องก้าวไปให้ไกลกว่าคำอธิบายชุดก่อนๆ ที่ถูกผลิตซ้ำมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามแบบที่เคยอธิบายตามๆ กันมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image