ออง ซาน กับรัฐพม่าสมัยใหม่ (1) โดย ลลิตา หาญวงษ์

โปสเตอร์ภาพยนตร์ชีวประวัติออง ซาน ซึ่งมีกำหนดฉายในปีนี้

กล่าวกันว่าความเป็นชาติสังเกตได้ง่ายๆ ผ่านธนบัตร แต่ละชาติหยิบนำวีรบุรุษ/วีรสตรีของชาติ รัฐบุรุษ หรือสัญลักษณ์อื่นๆ ที่น่าภาคภูมิใจ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พม่าอาจเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลก ที่ไม่มีใบหน้าบุคคลสำคัญปรากฎอยู่บนธนบัตรเงินจ๊าต ก่อนหน้านี้ มีบุคคลเพียงไม่กี่คนที่ปรากฎอยู่บนหน้าแรก (obverse) ของธนบัตรพม่า ได้แก่ สะยา ซาน (Hsaya San) ผู้นำกบฏผีบุญต่อต้านระบอบอาณานิคมในทศวรรษ 1930, ตะขิ่น โพ หละ จี (Thakin Pho Hla Gyi) ผู้นำคนงานในบ่อขุดเจาะน้ำมันประท้วงบริษัทน้ำมันของอังกฤษตั้งแต่ในยุคอาณานิคม และ นายพล ออง ซาน หรือ “โบโจ้ก” (Bogyoke)1 ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษและเป็นบิดาผู้วางรากฐานให้กับรัฐพม่าสมัยใหม่ ธนบัตรที่ปรากฎหน้านายพลออง ซานเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1958 ในยุคปลายรัฐบาลอู นุ ธนบัตรนี้มีใช้เรื่อยมาแม้จะพม่าจะเข้าสู่ยุคเผด็จการของนายพลเน วิน และมีใช้มาจนถึงทศวรรษ 1990 ภายใต้รัฐบาลสลอร์ก เมื่อออง ซาน ซูจี บุตรสาวของออง ซาน เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง และกลายเป็นไอคอนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ ตั้งแต่เหตุการณ์การประท้วงครั้งใหญ่ในปี 1988

 

ลู มิน ผู้กำกับภาพยนตร์ออง ซาน และยังเป็นนักแสดงชายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของพม่า

 

Advertisement

รัฐบาลสลอร์กไม่ได้ประกาศยกเลิกธนบัตรรูปหน้าออง ซานอย่างเป็นทางการ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเกรงจะเกิดความไม่พอใจในวงกว้างและอาจเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงตามมาได้ แต่เลือกที่จะปล่อยให้ธนบัตรหน้านายพลออง ซานค่อย ๆ หายไป โดยมีธนบัตรหน้าสิงห์เข้ามาแทน และในปี 2009 รัฐบาลก็ได้นำธนบัตรมูลค่า 5,000 จ๊าตมาใช้เป็นครั้งแรก แต่ก็ยังเป็นธนบัตรธรรมดาที่มีเพียงรูปช้างด้านหน้า และอาคารรัฐสภาพม่าด้านหลังธนบัตร ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป และการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคเอ็นแอลดี เริ่มมีผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณากลับมาใช้ธนบัตรรูปหน้านายพลออง ซานหลายครั้ง ในปี 2017 อู อ่อง ขิ่น วิน สมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคเอ็นแอลดีเสนอต่อรัฐสภาให้ออกแบบธนบัตรจ๊าตใหม่เป็นรูปนายพลออง ซาน มีผู้ยกมือเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ 286 คน และอีก 107 คนไม่เห็นด้วย (ทั้งหมดเป็นผู้แทนราษฎรโควต้าจากกองทัพและพรรคฝ่ายค้าน USDP)

เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบวันที่พม่าได้รับเอกราชครบ 72 ปี ธนาคารกลางพม่านำธนบัตรราคา 1,000 จ๊าด (ราว 20 บาท) แบบใหม่มาใช้ เป็นรูปนายพลออง ซานด้านหน้า และด้านหลังเป็นรูปอาคารรัฐสภาที่กรุงเนปิดอว์

แม้นายพลออง ซานจะได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของกองทัพสมัยใหม่ด้วย แต่ที่ผ่านมากองทัพพม่าพยายามไม่กล่าวถึงรัฐบุรุษผู้นี้ และเลี่ยงไปยกย่องกษัตริย์นักรบ 3 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าอนอรธา พระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา ดังที่เห็นได้จากการสร้างรูปปั้นพระมหากษัตริย์ทั้งสามตั้งตระหง่านเปรียบเสมือนประธานของเมืองหลวงแห่งใหม่ที่กรุงเนปิดอว์ ไม่ใช่เพราะนายพลออง ซานไม่มีความสำคัญ และไม่ใช่เพราะกองทัพพม่าอยากจะลืม “โบโจ้ก” แต่เป็นเพราะไม่ต้องการให้สังคมพม่าจดจำออง ซาน ซู จี ในฐานะบุตรสาวของวีรบุรุษได้แค่นั้นเอง แต่ตั้งแต่ออง ซาน ซูจีเข้ามาเป็นผู้นำพม่า ความพยายามของเอ็นแอลดีอย่างหนึ่งคือการนำออง ซานกลับมาเป็นสัญลักษณ์ของรัฐและของชาติ อนุสาวรีย์ออง ซานมีเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน เอ็นแอลดียังผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 1.5 พันล้านจ๊าด เพื่อสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติของออง ซาน โครงการสร้างภาพยนตร์นี้มีมาตั้งแต่ 2012 นับเป็นนโยบายในเชิงวัฒนธรรมชุดแรกๆ และยังถือการปรับจูนประวัติศาสตร์ชาติเสียใหม่ให้มีออง ซาน, ชาวพม่าแท้ และ “ผู้รักชาติ” เป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์กระแสหลักพม่า

Advertisement

โครงการสร้างภาพยนตร์ออง ซานไม่ใช่เรื่องง่าย มีคณะกรรมการหลายชุดที่รับผิดชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ก็ไม่สามารถเข็นโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงออกมาได้ คณะกรรมการชุดล่าสุดที่แต่งตั้งโดยกระทรวงศาสนาและวัฒนธรรมอ้างว่าไม่ต้องการสร้างภาพยนตร์ออง ซานให้ยิ่งใหญ่ตามมาตรฐานสากล และต้องตรวจทานความถูกต้องของประวัติศาสตร์อย่างละเอียดก่อนจะเริ่มถ่ายภาพยนตร์ได้ จริงอยู่ หนังสือชีวประวัติของออง ซานมีให้เห็นทุกแห่งในพม่า ทั้งงานเขียนของนักประวัติศาสตร์-รัฐศาสตร์ชาวตะวันตก หรืองานเรียบเรียงของชาวพม่าเอง แต่เนื่องจากงานเขียนเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องเล่าที่กระทรวงวัฒนธรรมพม่าต้องการให้ออกมา นอกจากนี้ บทภาพยนตร์เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ ที่เขียนโดยนักเขียนชื่อดังของพม่า 3 คน ได้แก่ จี โซ ทุน (Kyi Soe Tun), ชิต อู โญ (Chit Oo Nyo) และ มยา มยิ้น โม (Mya Myint Mo) ยังมีฉากหลายฉากที่ไม่สามารถนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป

นอกจากเงินสนับสนุนจากรัฐบาล บริษัทห้างร้าน และมหาเศรษฐีแล้ว คณะกรรมการสร้างภาพยนตร์ยังเปิดรับบริจาคจากประชาชนทั่วไปด้วย จนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่โครงการสร้างภาพยนตร์ออง ซานถือกำเนิดขึ้นก็นับเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว แต่ล่าสุด อู ลู มิน (U Lu Min) ผู้กำกับและหนึ่งในนักแสดงชายที่ประสบความสำเร็จที่สุดในพม่า ออกมายืนยันแล้วว่าทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ออง ซานไปได้เกินครึ่งแล้ว หลังจากเปิดกองไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ตลอดการถ่ายทำ ทีมงานประสบปัญหาหลากหลายประการ อาจเป็นเพราะชาวพม่ามีความคาดหวังในภาพยนตร์เรื่องนี้สูง นอกจากออง ซานจะเป็นวีรบุรุษคนสำคัญที่สุดของชาติแล้ว เขายังมีสถานะประหนึ่งเทพเจ้าหรือนัตตนหนึ่ง

ดังนั้น ผู้ทำหนังจึงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ออง ซานได้ ทำให้ภาพยนตร์ออง ซานที่ใช้เงินถ่ายทำมหาศาล และใช้เวลานานเกือบ 8 ปี จะเป็นเพียงกระบอกเสียงของฝ่ายชาตินิยมในพม่า ที่ตอกย้ำบทบาทของชาวพม่า มากกว่าจะชี้ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมือง และชนกลุ่มน้อย ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงที่ออง ซานมีชีวิตอยู่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image