จงเขียนรัฐธรรมนูญลงในใจคน โดย ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม

ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “รัฐธรรมนูญปี 2560” มีปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นการขัดต่อหลักการความเป็นประชาธิปไตย “ทั้งในแง่การให้ผู้นำเหล่าทัพ

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นวุฒิสมาชิก (ส.ว.) โดยตำแหน่ง” กับการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) เป็นผู้คัดเลือกวุฒิสมาชิก จำนวน 250 คน รวมทั้งการให้อำนาจ ส.ว. เป็นผู้ร่วม
ในการให้ความเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี ตลอดจนประเด็นปัญหาในระบบการเลือกตั้งทั้งในระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขตเลือกตั้งที่ยังไม่ลงตัวนัก เป็นต้น

อันเป็นที่มาของการยื่นญัตติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และดูเหมือนว่าจะเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้พอสมควรเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยกำหนดให้ทำการศึกษาในห้วงเวลา 180 วัน หรือประมาณ 6 เดือนต่อจากนี้ไป แต่ก็ดูเหมือนว่าแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มาก ทั้งในคณะกรรมาธิการวิสามัญ และแนวทางข้อเสนอจากพรรคการเมืองต่างๆ เป็นต้นว่า

มีพรรคการเมืองที่ต้องการเสนอให้มีการรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับซึ่งเห็นว่าเป็นแนวทางของพรรคอนาคตใหม่ที่ย้ำจุดยืนอย่างเสมอมาว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ต้องรื้อเพราะเป็นผลผลิตของการรัฐประหาร และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแนวร่วมผสมโรง ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังมีการมองต่างมุมกันอยู่หลายพรรคเช่นกัน ซึ่งเห็นว่าแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูยยังไม่เป็นเอกภาพกันนัก ทั้งในเนื้อหาสาระและประเด็นวิธีแก้ไข

Advertisement

ทั้งนี้ เห็นว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญจะต้องระดมความคิดและใช้ความพยายามในการหาแนวทางร่วมกันให้ได้ โดยเฉพาะการสรุปประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันถึงข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่ามีประเด็นอะไรบ้าง และมีประเด็นอะไรบ้างที่จะต้องร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

มีการเปิดประเด็นที่ถูกเสนอให้เริ่มต้นแก้ไขนั่นก็คือ “การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ก่อน”

เพื่อปลดล็อกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมไปถึงข้อเสนอให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาเพื่อมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

Advertisement

ที่สำคัญที่สุดในรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้กำหนดหลักการและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่างยากลำบากมาก โดยเฉพาะในมาตรา 256 ที่กำหนดหลักเกณฑ์และมีวิธีการไว้ ดังเช่น

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

กล่าวโดยสรุปจะเห็นว่า ด่านหินของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ การออกเสียงลงคะแนนในขั้นรับหลักการนั้น “จะต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา” นั่นก็คือ สมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน 750 เสียง จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 375 เสียง และยิ่งไปกว่านั้น “ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนวุฒิสภาทั้งหมด” นั่นก็คือ ไม่น้อยกว่า 80 เสียง จากจำนวน ส.ว. 250 คน ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของการเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 กันก่อน เพื่อจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับง่ายขึ้น

นี่คือความคาดหวังของพรรคการเมือง นักการเมือง และผู้คนในสังคมที่มีความคาดหวังกับรัฐธรรมนูญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ จึงมีการพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็มีข้อถกเถียงกันมาในหลายยุคหลายสมัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยได้จริงหรือไม่ กับข้อถกเถียงที่พุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมของคนไทยที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ที่กำลังเสนอกันหรือไม่ และหลักการในรัฐธรรมนูญด้วย รวมทั้งเห็นว่าการปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคมไทยย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมของคนไทยและวัฒนธรรมทางการเมืองที่ต้องปลูกฝังในสังคมไทยนั้น มีอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังความมีระเบียบวินัย การรู้จักเคารพสิทธิและหน้าที่ของคนไทย การส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริต และการรู้จักความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและส่วนรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของคนไทยให้ตระหนักในสิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้เพราะว่าเราเคยมีรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุดและสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยมาแล้วหลายฉบับ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญภายหลังการมีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เราก็ถือว่าได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดเช่นกัน แต่รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับที่อ้างถึงดังกล่าวก็มีการปฏิวัติรัฐประหารภายหลังมีรัฐธรรมนูญ รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ อีกหลายฉบับก็ถูกยกเลิกไป โดยมีข้ออ้างว่านักการเมืองใช้รัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง และขาดความโปร่งใสมีการทุจริตคอร์รัปชั่นนับตั้งแต่การทุจริตการเลือกตั้ง และการทุจริตในเชิงนโยบายในการเข้ามาบริหารประเทศ

ซึ่งโดยสรุปแล้วนั่นก็คือ “นักการเมืองยังขาดธรรมาภิบาล”

ดังนั้น ประเด็นหลักจึงอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้คนในสังคมได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด และเราจะทำอย่างไรให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการ “เขียนรัฐธรรมนูญลงในจิตใจของคน”

นั่นก็คือ การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปสังคมไทย “เพื่อสร้างคน สร้างพลเมือง” ให้ปฏิบัติและยึดมั่นในรัฐธรรมนูญด้วยชีวิตจิตใจทั้งในแง่ของรู้จักเคารพสิทธิและหน้าที่ มีวินัยในตน รู้จักความรับผิดชอบต่อตนเองและประโยชน์ส่วนรวม ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่สำคัญยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต

และมีหลักธรรมาภิบาลอยู่ในจิตใจคนไทย

ที่สำคัญอย่างยิ่งไม่ปฏิวัติรัฐประหารเพื่อล้มรัฐธรรมนูญอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image