อย่ามัวโอ้เอ้วิหารรายอยู่เลยครับ โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

รัฐธรรมนูญแห่งราขอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับนี้ แม้เป็นฉบับที่ผ่านประชามติมาก็ตาม หากเป็นฉบับที่มีผู้กล่าวถึงการแก้ไขตั้งแต่ประธานรัฐสภาถึงมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนทั่วไปหลายประเด็น ทั้งเป็นรัฐธรรมนูญที่สมาชิกวุฒิสภาแม้จะมาจากการแต่งตั้ง หากมีสมาชิกที่เป็นข้าราชการประจำคือผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้รับการแต่งตั้งเข้ามาด้วย

สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนสมาชิกวุฒิสภามาจากกลุ่มบุคคลตามกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กับบทเฉพาะกาลมาตรา 268 (ค) การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาให้รวมผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก
ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามตำแหน่งด้วย

รัฐสภาคือสภาของอำนาจนิติบัญญัญติ เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจของประชาชน การได้มาซึ่งสมาชิกรัฐสภาต้องมาจากอำนาจประชาชนที่เลือกผู้แทนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา แต่เมื่อมีกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาคนละรูปแบบกัน ในระยะเริ่มแรกที่มีบทเฉพาะกาลจึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น

ขณะที่เมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เกิดขึ้น และมีการกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในหลายประเด็น ดังนั้น วันนี้จึงมีการเลือกกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ หรือไม่ หรือจะแก้ไขในประเด็นใด

Advertisement

ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึง คือการมีทหารซึ่งเป็นข้าราชการประจำเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทำให้รัฐสภาไม่เป็นของประชาชนโดยสมบูรณ์ และขัดรัฐธรรมนูญในส่วนของคุณสมบัติวุฒิสภา มาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (2)

แม้มีกำหนดยกเว้นไว้ในบทเฉพาะกาล แต่กรณีการเป็นข้าราชการ ไม่สมควรให้เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา เพราะข้าราชการเป็นลักษณะต้องห้ามเฉพาะตัว และข้าราชการเป็นกลไกของรัฐบาล

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้ คือประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมานาน นับแต่ พ.ศ.2512 และได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันทั้งในรูปแบบสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ เคยเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพรรคการเมืองอื่นไม่เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้น ในกรณีนี้กรณีเดียวนับเป็นประเด็นสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออย่างน้อยให้เป็นรัฐธรรมนูญที่สมาชิกคือผู้ที่ประชาชนเลือกและได้รับการแต่งตั้งในฐานะประชาชน ไม่ใช่ข้าราชการทหารประจำการ และแม้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลซึ่งมีเพียงสมัยเดียว หากวาระการดำรงตำแหน่งของวุฒิสมาชิกคือ 5 ปี ซึ่งนับได้เป็นสองวาระ

ทั้งไม่ใช่ตำแหน่งเฉพาะตัว หากเป็นตำแหน่งที่เมื่อครบวาระ ผู้มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพคนต่อไปจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ดังผู้ดำรงตำแหน่งชุดนี้ที่ต้องเกษียณ ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งคนต่อไปจะเข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาแทน

ดังนั้น คณะกรรมาธิการควรพิจารณาให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับแต่การประชุมในวาระแรก ส่วนจะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง ให้เป็นแต่ละเรื่อง แต่ละมาตรา จนถึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในที่สุด

ดังว่ากันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมิใช่เรื่องใหญ่ ขนาด “ฉีก” รัฐธรรมนูญยังกระทำได้ ไม่มีกฎหมายใดมาระงับยับยั้ง หรือกำหนดโทษ หรือแม้แต่มีกำหนดโทษ การปฏิวัติยึดอำนาจรัฐยังอ้างรัฏฐาธิปัตย์ยิ่งใหญ่กว่าอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจของประชาชนได้ นับประสาอะไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จริงไหมเจ้านาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image