เลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงให้เหมาะสมกับโรค : โดย รศ.น.สพ.ดร.นริศ เต็งชัยศรี

ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay

บรรพบุรุษของสุนัขและแมวนั้นเป็นนักล่า และเป็นสัตว์กินเนื้อ แต่เนื่องจากการนำสุนัขและแมวมาเลี้ยงร่วมกับสังคมมนุษย์เป็นเวลายาวนาน สัตว์เลี้ยงเหล่านั้นจึงมีการปรับตัวและเรียนรู้การกินอาหารประเภทต่างๆ ที่เจ้าของให้ แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน ส่งผลให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีเวลาที่จำกัด และต้องการความสะดวกมากขึ้นในการให้อาหารสัตว์ จึงพบการเติบโตด้านธุรกิจอาหารสัตว์ทั่วโลกอย่างก้าวกระโดด

สำหรับส่วนประกอบที่สำคัญของอาหารสำเร็จรูป คือคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน เยื่อใย วิตามินและแร่ธาตุ เป็นต้น โดยนิยมใช้ตามคำแนะนำมาตรฐานสากลตามประเทศสหรัฐอเมริกา (AAFCO) ซึ่งช่วยให้อาหารสำเร็จรูปมีความปลอดภัย และมีสารอาหารครบถ้วน

อาหารสำเร็จรูปที่นิยมสามารถแบ่งอาหารออกได้เป็น 2 ประเภทคือ อาหารเม็ดซึ่งเป็นอาหารแห้ง มีความชื้น 10% สามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลานาน แต่มีข้อเสียคือเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงส่งผลให้สัตว์อ้วนง่าย และเจ้าของต้องมีน้ำให้สัตว์เลี้ยงที่กินอาหารเม็ดอย่างเพียงพอ

อาหารอีกประเภทคืออาหารเปียก นิยมขายในรูปแบบกระป๋อง ถาดอะลูมิเนียม หรือซองพลาสติก อาหารเปียกจะมีความชื้นน้อยกว่า 70% มีความน่ากินสูง แต่เมื่อเปิดใช้แล้วไม่ทนต่อการเก็บรักษา

Advertisement

นอกจากนี้ธุรกิจอาหารสัตว์มีการนำอาหารทานเล่นเพื่อให้เจ้าของสัตว์มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ได้แก่ เนื้อปลาอบแห้ง ขนมรูปแบบแท่ง รูปร่างคล้ายกระดูก หรือเป็นเนื้อชิ้นเล็กแบบอัดเม็ด เป็นต้น บทบาทของอาหารสำเร็จรูปนอกจากในภาวะปกติแล้ว ยังมีการพัฒนาดัดแปลงอาหารให้เหมาะสมต่อสัตว์ที่ป่วยในภาวะโรคต่าง เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ โรคทางเดินอาหาร และอาหารสัตว์ป่วยพักฟื้น

สำหรับบทความฉบับนี้จะกล่าวถึงข้อสังเกตในการเลือกอาหารสำเร็จรูปในท้องตลาดให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยง

Advertisement

อาหารโรคไต: ไตทำหน้าที่สำคัญในการขับของเสียที่ละลายน้ำได้ออกทางปัสสาวะ เช่น ยูเรีย ซึ่งเป็นของเสียจากการย่อยโปรตีน อาหารสำหรับสัตว์ป่วยโรคไตจึงควรมีส่วนประกอบโปรตีน และปริมาณฟอสเฟตต่ำกว่าปกติ เพื่อลดการทำงานของไตในการกำจัดของเสีย เกลือโซเดียมควรมีปริมาณน้อยสำหรับสัตว์ป่วยโรคไต เพื่อลดปัญหาความดันโลหิตสูง ซึ่งจะทำร้ายต่อหน่วยกรองของไต นอกจากนี้จะมีการเสริมวิตามินเพิ่มมากกว่าปกติ และการเสริมสารโอเมก้า 3 ซึ่งมีส่วนช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ ลดภาวะการอักเสบของไต และช่วยฟื้นฟูให้ไตกลับมาทำงานได้นานขึ้น

อาหารโรคหัวใจ: หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปฟอกที่ปอด และนำเลือดที่มีออกซิเจนสูงไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ภาวะหัวใจล้มเหลวจะมีการสะสมน้ำในร่างกายสัตว์ในปริมาณมากอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงโรคหัวใจ จึงมีการจำกัดปริมาณเกลือโซเดียม เพื่อช่วยควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายสัตว์ นอกจากนี้ควรเติมอะมิโนแอซิดที่สำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจคือ Taurine และ L-carnitine เป็นต้น เป็นที่น่าสนใจว่าหน่วยงาน FDA ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศเตือนให้ระมัดระวังการใช้อาหารสำเร็จรูปที่เป็น grain free และใช้องค์ประกอบพืชตระกูลถั่วเป็นหลักในสูตรอาหาร เนื่องจากพบว่าอาหารดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง

อาหารโรคตับ: ตับเป็นทำหน้าที่ผลิตโปรตีนอัลบูมินสารควบคุมการแข็งตัวของเลือด กำจัดของเสียและสารพิษ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนสารแอมโมเนียเป็นยูเรีย อีกทั้งช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด อาหารสำหรับสัตว์ป่วยโรคตับจะเน้นที่แหล่งโปรตีนและไขมันที่ย่อยง่าย เช่น โปรตีนจากไขและนมวัว ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่ก่อให้เกิดปริมาณแอมโมเนียน้อยในเลือด จำกัดปริมาณทองแดงในอาหาร ทั้งนี้ เพราะทองแดงส่งผลให้ตับอักเสบเรื้อรัง โดยให้เลี่ยงแหล่งโปรตีนจากเครื่องในสัตว์ กุ้ง และโฮลวีต ซึ่งมีทองแดงปริมาณมาก

นอกจากนี้อาหารดังกล่าวควรมีการเสริมสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อลดการทำลายของเซลล์ตับ เป็นต้น

อาหารโรคทางเดินอาหาร: ทางเดินอาหารทำหน้าที่ในการบดย่อยและดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย ภาวะการอักเสบ ติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยทางคลินิก สำหรับอาหารที่ช่วยรักษาโรคทางเดินอาหารอักเสบเรื้อรังจะประกอบด้วยโปรตีนที่ย่อยง่าย ร่วมกับการลดปริมาณไขมันในอาหาร เพื่อช่วยลดการทำงานของตับอ่อนและลำไส้ อีกทั้งไม่ควรมีส่วนประกอบคาร์โบไฮเดรตที่มีส่วนผสมของน้ำตาลแลคโตสซึ่งอาจทำให้สัตว์ท้องเสีย สำหรับสัตว์ป่วยด้วยปัญหาภูมิแพ้ที่ส่งผลให้เกิดภาวะท้องเสียเรื้อรัง แนะนำให้เลือกอาหารที่มีแหล่งโปรตีนใหม่ หรือเลือกใช้อาหารที่นำโปรตีนที่ย่อยแล้วบางส่วนมาทดแทน การเสริมไฟเบอร์และสารพรีไบโอติก เช่น ฟรุคโต โอลิโกแซคคาไรด์ หรือ แมนแนน โอลิโกแซคคาไรด์ จะช่วยให้แบคทีเรียที่มีเป็นประโยชน์เพิ่มจำนวนขึ้น ส่งผลให้การบีบตัวของทางเดินอาหารกลับมาเป็นปกติ

อาหารสัตว์ป่วยพักฟื้น: สัตว์ป่วย หรือสัตว์อยู่ในภาวะวิกฤต พบภาวะขาดสารอาหารส่งผลให้การฟื้นฟูช้ากว่าปกติ การดูแลกระตุ้นให้สัตว์ป่วยได้รับสารอาหารที่เพียงพอจึงช่วยฟื้นฟูร่างกายสัตว์ป่วยให้หายจากการป่วยหรือการผ่าตัดได้เร็วขึ้น ลักษณะเด่นของอาหารสัตว์ป่วยพักฟื้น คือเป็นอาหารที่ง่ายต่อการป้อนด้วยไซรินจ์ หรือฉีดเข้าทางยางป้อนอาหาร โดยพบเป็นอาหารกระป๋องที่เป็นอาหารบดละเอียด อาหารเหลว หรือเป็นเจลในหลอดคล้ายยาสีฟัน และอาหารดังกล่าวมักมีพลังงานมากกว่าอาหารที่สัตว์ปกติกิน และมักประกอบเป็นสารโมเลกุลขนาดเล็ก เช่น อะมิโนแอซิด กลูโคส โปรตีน ที่ย่อยง่าย ร่างกายสัตว์สามารถนำไปใช้ได้ทันที ดังนั้นแม้สัตว์ได้รับปริมาณอาหารไม่มากก็สามารถได้รับพลังงานที่มากกว่าปกติ นอกจากกนี้อาหารสัตว์ป่วยพักฟื้นมักมีการเสริมวิตามินมากกว่าปกติ ทำให้สัตว์ป่วยหรืออยู่ในระหว่างพักฟื้น หรือการผ่าตัด ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

สำหรับเจ้าของสัตว์ป่วยที่พอมีเวลาก็สามารถทำอาหารปรุงสุกเองให้แก่สัตว์ได้เช่นกัน โดยนำวิธีคิดและเลือกองค์ประกอบอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการในภาวะต่างๆ ของสัตว์ป่วยนำมาใช้ โดยอาจนำพรีมิกซ์ซึ่งมีส่วนประกอบของแคลเซียมและวิตามินที่จำเป็นมาผสมในอาหารปรุงเอง เพื่อช่วยให้อาหารที่ทำเองมีความอร่อย และสมดุลไปด้วยโภชนาการที่จำเป็นต่อสัตว์เลี้ยง ส่งผลให้ให้สัตว์เลี้ยงของท่านหายป่วยมีชีวิตยืนยาว และปราศจากโรค

รศ.น.สพ.ดร.นริศ เต็งชัยศรี
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image