ครูในยุค Disruption : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมย่อมต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากสังคมมีลักษณะเป็นพลวัต (Dynamic) ที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา

คำที่ใช้กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเคยปรากฏและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ ปฏิวัติ ปฏิรูป

ปฏิวัติ (Revolution) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมอย่างกว้างขวางแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น การปฏิวัติทางการเมืองจากระบอบหนึ่งเป็นอีกระบอบหนึ่ง เป็นต้น

ปฏิรูป (Reform) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป มีการกำหนดแผนและขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง เช่น การปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้กับการเปลี่ยนด้านธุรกิจและนวัตกรรม ได้แก่ Transformation และ Disruption

Transformation หมายถึง การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิม โดยการต่อยอดหรือพัฒนาสิ่งใหม่ขึ้นแทน

Disruption หมายถึง การหยุดทำสิ่งเดิม เพื่อพัฒนาสิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่ หรือแสวงหาโอกาสใหม่ให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม

Advertisement

ปัจจุบัน Disruption ได้นำมาใช้ในสังคมเทคโนโลยี (Disruption technology) อันมีผลกระทบต่อการศึกษาและบทบาทของครูในอนาคตด้วย

ครูกับความสำคัญในการศึกษา

ครูมีบทบาทในการศึกษามาแต่โบราณ นับแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้การเรียนการสอน ครูได้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ มีการเคารพยกย่องครูจากหลายวงการ เฉพาะอย่างยิ่งวงการการศึกษา ได้กำหนดวันครูแห่งชาติเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย ซึ่งมีความเป็นมาตามลำดับ ดังนี้

เมื่อ พ.ศ.2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า ผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย คิดว่า “วันครู” ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้ แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณ

จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มี “วันครู” เพื่อให้เป็นการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติ และประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มี “วันครู” เพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอในหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันครู” โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็นวันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุด เพื่อทำกิจกรรมรำลึกถึงครูในวันดังกล่าวได้

การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือหนังสือประวัติตครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

งานวันครูได้ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยตลอดเวลา ซึ่งในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภท ได้แก่ กิจกรรมทางศาสนา พิธีรำลึกถึงครูบาอาจารย์ โดยมีพิธีปฏิญาณตน รวมไปถึงการกล่าวระลึกถึงพระคุณของครู

และกิจกรรมจัดเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ปกครองกับคุณครู อาจจะเป็นการแข่งขันกีฬาเพื่อความสามัคคี หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ

ความแตกต่างระหว่างครูกับอาจารย์

บุคคลที่ให้การอบรมสั่งสอนมีคำที่ใช้สองคำ คือ ครู กับ อาจารย์ อาจมีความสับสนในการเรียกขาน โดยมีความแตกต่าง ดังนี้

1.กฎหมาย ครูมีกฎหมายใช้รวม ได้แก่ พระราชบัญญัติครู ต่อมาเป็นพระราชบัญญัติครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่อาจารย์ไม่มีกฎหมายเฉพาะ โดยมีกฎหมายแยกไปแต่ละสถาบัน

2.การวิจัย ในวิชาชีพครู ไม่ได้เป็นการวิจัย ครูเน้นเกี่ยวกับการสอนและอบรม คุณธรรม จริยธรรม แต่อาจารย์มีการวิจัยเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่

3.ระดับการให้การศึกษา ครูทำหน้าที่ในระดับการศึกษาพื้นฐาน คือ อนุบาล ประถม และมัธยม แต่อาจารย์ทำหน้าที่ในระดับอุดมศึกษา

4.องค์กรกำกับวิชาชีพ ครูมีคุรุสภาเป็นองค์กรวิชาชีพ แต่อาจารย์มีสภาสถาบันกำกับดูแลในภาพรวม

5.วันที่รำลึก มีการจัดงานเฉพาะวันครู แต่อาจารย์ไม่มีวันเฉพาะ ส่วนมากจะจัดงานรำลึกบูรพาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละสถาบัน

6.กระทรวงที่สังกัด ครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่อาจารย์สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

7.ตำแหน่งหรือระดับการปฏิบัติงาน ครู มีตำแหน่งครู และอาจารย์ แต่ระดับอุดมศึกษา ได้แก่ อาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์

อย่างไรก็ตาม แม้ครูกับอาจารย์จะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือบทบาทการให้การศึกษา และการอบรมคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างคนที่ดีมีคุณภาพให้กับประเทศชาติ

ครูกับ Disruption

การเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption ปัจจัยสำคัญคือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology) ได้เข้ามามีบทบาทในทุกวงการ แม้วงการศึกษาก็มีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้วย กล่าวคือ

ในการจัดการเรียนการสอนยุคใหม่นั้น นอกจากครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของแนวคิดหลักแห่งวิชาชีพครูและเนื้อหาสาระวิชาที่สอนแล้วยังจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเครื่องมือที่จะใช้แสวงหาความรู้เพื่อช่วยเติมเต็มความรู้ให้กับผู้เรียนเกิดทักษะ ความรู้ สร้างสรรค์ประสบการณ์ และความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน ทุกคน ดังนั้นสื่อการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นสื่อบุคคล วัสดุ อุปกรณ์ ตลอดจนเทคนิควิธีการล้วนเป็นสื่อกลางที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ได้ง่ายและรวดเร็ว จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งที่จะนำความต้องการของครูผู้สอนไปสู่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และที่สำคัญคือครูผู้สอนต้องรู้จักเลือกสรรสื่อการเรียนรู้ที่จะนำไปใช้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ดังนั้น ครูในยุค Disruption พึงปฏิบัติดังนี้

1.ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และฝึกปฏิบัติเพื่อสามารถใช้สื่อเหล่านั้นให้ได้ เช่น การอบรม หรือการปฏิบัติ เป็นต้น

2.การรู้จักนำสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ computer Assisted Instruction : CAI) มาเป็นเครื่องมือให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองในลักษณะการนำเสนอที่มีทั้งตัวอักษร ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว เพื่อดึงดูดให้ผู้เรียนเกิดความสนใจเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

3.ครูต้องมีความรู้ตามศาสตร์ของแต่ละสาขาวิชา ควรตระหนักว่าเครื่องมือและอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเพียงสื่อการสอนเท่านั้น มิใช่ให้ผู้เรียนไปค้นคว้าเองอย่างอิสระ โดยครูไม่ได้มีบทบาทใดๆ เลย

4.ครูควรรู้จักใช้บทเรียนออนไลน์ หรือ E-learning การเรียนการสอนบนเว็บ (Web-Based Learning) E-Book หรือกระดานอัจฉริยะ (Interactive Board) หรือข้อมูลผ่านเครือข่าย Internet

5.หากไม่สามารถศึกษาหาประสบการณ์จากสื่อเหล่านั้นได้ ก็ควร Disrupt ตัวเอง แล้วเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับสื่อสารสนเทศที่กล่าวมานี้

บทสรุปในภาพรวม

ครูในยุค Disruption จึงต้องรู้จักใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายเป็นตัวกลางสำคัญในกระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสีสันดึงดูดใจเปิดโลกการเรียนรู้ที่กว้างไกลให้กับผู้เรียนด้วยสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่และต้องคำนึงว่าจะนำมาใช้อย่างไรให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศหรือการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วทุกมุมโลกในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี แม้สื่อในรูปแบบใหม่เหล่านี้จะมีประโยชน์ที่จะช่วยเติมเต็มความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการเรียนรู้ต่อผู้เรียน แต่ครูผู้สอนก็ยังคงมีความสำคัญในการชี้นำแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมและต้องเลือกสรรสื่อการเรียนรู้ที่จะเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image