บันได 3 ขั้น เสถียรภาพ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แม้เสียงร่ำร้องที่เกิดจากความเดือดร้อนของประชาชนจะขยายกว้างและดังขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาปากท้อง และชีวิตความเป็นอยู่ที่มองไม่เห็นความหวังว่าจะมีอะไรมาทำให้ดีขึ้น

งบประมาณปี 2563 แม้จะถูกอภิปรายอย่างหนักว่าเป็นการวางแผนใช้จ่ายเงินที่ส่วนหนึ่งมาจากภาษีของประชาชน ผสมกับอีกส่วนหนึ่งที่มาจากการกู้ซึ่งจะเป็นภาระต่อคนรุ่นหลัง ต่ออนาคตของประเทศ แบบไม่มีอะไรใหม่ เป็นการวางแผนใช้เงินที่ดูแลส่งผลต่อการพัฒนาประเทศน้อยมาก เพราะเงินส่วนใหญ่ใช้ไปในงบประจำอย่างเคยใช้มา ไม่มีแผนลดรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น และเพิ่มในส่วนที่จะส่งผลต่อการนำพาประเทศสู่ความทันสมัย

แต่ที่สุดแล้วงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาทก็ผ่านสภาฉลุย แทบไม่มีคะแนนโหวตไม่เห็นด้วย ฝ่ายค้านเองยังได้แต่งดออกเสียงเสียเป็นส่วนใหญ่

การทำมาหากินฝืดเคืองลงในทุกอาชีพ โดยเฉพาะคนระดับล่าง เศรษฐกิจขยายตัวไปในทางเป็นประโยชน์ต่อทุนผูกขาด ถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำของชีวิตคนสูงขึ้นจนสู่อันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว

Advertisement

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันเคลื่อนสู่ภัยแล้งที่เห็นได้ชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบสาหัส โดยเฉพาะกับคนระดับล่าง และจะเป็นอีกครั้งที่จะค่อยๆ เห็นการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหลื่อมล้ำระหว่างการได้ประโยชน์ของกลุ่มคนที่ต่างระดับ

หากคลุกวงในการทำธุรกิจกับภาครัฐ หรือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือสรรหาผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ จะได้ยินได้ฟังเรื่องที่ไม่ควรจะถือว่าชอบมาพากล แต่ถูกให้ค่าใหม่ว่าเป็นเรื่องปกติมากมายแบบทุกอณูของการดำเนินการ

สภาพเช่นนี้ หากเป็นก่อนหน้านั้น ย่อมถูกประเมินจากผู้สันทัดกรณีว่า “เสถียรภาพของรัฐบาล” น่าจะเริ่มสั่นคลอนแล้ว

Advertisement

นั่นเป็นเพราะไม่ว่าจะอย่างไร “ความพอใจไม่พอใจของประชาชน” มีผลต่อ “เสถียรภาพรัฐบาล” เสมอ

อย่างไรเสียรัฐบาลย่อมต้องนึกถึงความรู้สึกของประชาชน

แต่นั่นดูจะเป็นอดีตไปแล้ว

เพราะถึงวันนี้ รัฐบาลก้าวเดินใน “เสถียรภาพ” จากมุมที่เห็นว่าการต้องกังวลต่อความพอใจหรือไม่พอใจของประชาชนเป็นความยุ่งยาก เป็นอุปสรรคของการทำงาน เพราะประชาชนเอาแต่เรียกร้องไม่รู้จักจบสิ้น

ไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเอง

การขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนเป็นปัญหาของการบริหารจัดการประเทศให้เป็นไปอย่างที่รัฐบาลต้องการ

การจัดการให้ความต้องการของประชาชนไม่เป็นแรงกดดันที่สะเทือนต่อเสถียรภาพ จึงเกิดขึ้น

เริ่มจากรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง เพื่อใช้อำนาจเด็ดขาดเข้าหักหาญทุกสิ่งอย่างคิดว่าเป็นอุปสรรค ตือ “การแช่แข็งประเทศ 5 ปี” วางที่มีผู้เปิดเผยไว้ก่อนหน้านั้น

นั่นเป็นบันไดขั้นแรก

ใช้ช่วงเวลา 4 ปีเขียนกติกาการจัดการโครงสร้างอำนาจของประเทศ อย่างละเอียดทั้งแต่กฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญมาถึงกฎหมายประกอบ และกฎหมายในรายละเอียดอื่นๆ

ในแบบที่เรียกว่า “ดีไซน์เพื่อพวกเรา” ขึ้นมาบังคับใช้ พร้อมแต่งตั้งกลไก เลือกตัวบุคคลขึ้นมารองรับ

นั่นเป็นบันไดขั้นที่ 2

คือเอาอำนาจของกลุ่มชนชั้นพิเศษที่ไม่ปรารถนาจะฟังเสียงประชาชนเข้ามาใส่ไว้ในกติกาและกลไกจัดการประเทศ

สภาวะนี้ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน

ทว่า การยึดครองอำนาจผ่านกติกาและกลไกที่กำหนดได้เองนั้น แม้จะ “มั่งคั่ง มั่นคง” แล้ว แต่จะบอกว่า “ยั่งยืน” ย่อมไม่เต็มปากนัก

เพราะอย่างไรเมื่อหมดวาระก็ต้องกลับไป “เลือกตั้ง” กันใหม่ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ “ประชาชน” เข้ามามีส่วนในการกำหนดอำนาจ อันที่ผ่านมาสะท้อนว่าแม้จะวางกติกาและกลไกแข็งแกร่งขนาดไหน “ความไม่แน่นอน” ก็ยังแทรกอยู่

และคำถามเรื่อง “คุณธรรม” ตามกรอบ “ประชาธิปไตย” จะยังเป็นหนามตำใจไม่รู้จบสิ้น

จนกว่าจะบรรลุถึง “บันไดขั้นที่ 3” คือ “ควบคุมอำนาจที่จะผ่านพรรคการเมืองเสียด้วย”

นั่นคือ “ผ่านการเลือกตั้งด้วยชัยชนะเด็ดขาด” ควบคุมประชาชนให้อยู่ในอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ใช้อำนาจของประชาชน

นั่นเป็น “บันไดขั้นที่ 3”

แนวโน้มการบริหารจัดการประเทศกำลังดำเนินไปสู่ความสำเร็จใน “บันไดขั้นที่ 3”

การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาเป็นการทดลองศักยภาพของกลไกว่าจะควบคุมผลให้เป็นไปตามที่ต้องการได้หรือไม่

พร้อมๆ กันนั้น “พรรคการเมืองอื่น” ถูกกระทำให้อ่อนพลังเรื่อยๆ โดยเริ่มจากการจัดการพรรคที่เป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนด้วยกติกาและกลไกในโครงสร้างอำนาจที่ “ออกแบบไว้เพื่อพวกเรา”

อำนาจที่ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ค่อยๆ เชื่อมั่นได้ขึ้นเรื่อยๆ

พรรคฝ่ายค้านที่ระเนระนาด แทบทรงตัวอยู่ไม่ได้ ไม่ถูกกติกาและกลไกเล่นงาน ก็แตกกันยับเยิน หรือถูกกลืนถูกดูด ถูกแทรกแซงสร้างงูเห่า ทั้งโผล่หัวมาให้เห็นและยังอยู่ในรังสร้างความปั่นป่วนให้กับพรรคโดยไม่เปิดเผย

ที่สุดแล้วจะเหลือเพียงพรรคการเมืองเดียวที่เข้มแข็ง และทรงอำนาจ

“ทรงอำนาจ” จากกติกาและกลไกที่ออกแบบไว้รองรับอย่างแข็งแกร่ง

และ “เข้มแข็ง” ด้วยชัยชนะที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

คล้ายว่าจะทุกอย่างมาถูกทางแล้ว

ประเทศจะได้ “รัฐบาลที่มีเสถียภาพ” ที่จะทำให้บริหารประเทศอย่าง “มั่นคง และยั่งยืน” ไม่ต้องกังวลต่อความงี่เง่าของการสร้างกระแสเพื่อกดดัน

นั่นดูจะใช่

เพียงแแต่ แนวโน้มของระบบการปกครองประเทศ จะห่างไกลจากคำว่า “อำนาจมาจากประชาชน”

เพราะประชาชนมีสถานะแค่ “ผู้พึ่งพา”

สารพัดโครงการที่ทำให้ประชาชนเป็นแค่ “ชนชั้นที่มีชีวิตอยู่ได้การรอคอยความช่วยเหลือ” ดำเนินการอยู่อย่างเข้มข้น

พร้อมๆ กับเกิดสภาวะที่ประชาชนพึ่งพาตัวเองไม่ได้หนักหน่วงและขยายพื้นที่กว้างขึ้น ทั้งในมิติของอาณาเขตและชนชั้น

เป็นระบบการปกครองที่คำว่า “อำนาจมาจากประชาชน” เป็นแค่วาทกรรมหน้าฉาก แต่ลึกลงในความเป็นไปที่แท้จริง “เป็นอำนาจที่ควบคุมประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้ใช้สิทธิใช้เสียงได้เฉพาะตามที่ออกแบบไว้ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม”

ที่น่าเสียดายยิ่งก็คือ “นักการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ที่เคยอาศัยอำนาจจากประชาชนมาเสพวาสนา ความสุขสบาย ถึงวันนี้กลับมองข้ามอดีตบ้าง

มองไม่เห็นสภาวะที่เป็นไปในปัจจุบัน ทำตัวเป็น “ไก่ในเข่งวันตรุษจีน” ที่ยังจิกตีกันเอง ทั้งที่จะถูกเชือดในเร็วๆ นี้

คนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วในขณะนี้ กำลังจะส่งมอบการปกครองประเทศแบบนี้ไปให้จัดการอนาคตของคนรุ่นหลังๆ ที่จะเกิดตามมา

อนาคตที่ “ประชาชน” ไม่มีความหมายต่อ “เสถียรภาพรัฐบาล”

ไม่มีความหมายต่อผู้ครองอำนาจ

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image