การเมือง ระทึก จับตา ‘วิ่งไล่-เดินเชียร์’ ผลคดี อนาคตใหม่

12 มกราคม มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง 2 ความเคลื่อนไหวใหญ่

หนึ่ง คือ กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จัดที่สวนรถไฟ กรุงเทพฯ และยังมีที่จังหวัดอื่น และคนไทยบางประเทศก็จัดขึ้น

กลุ่มผู้จัดต้องการแสดงสัญลักษณ์ที่ไม่ต้องการ “ลุง” อีกต่อไป

กิจกรรมนี้ต้องแลดูคนที่ไปร่วม ทั้งในเชิงปริมาณคือจำนวน และในเชิงคุณภาพคือผู้มีชื่อเสียง

Advertisement

เพราะนี่คือการแสดงออกทางการเมือง

สอง คือ กิจกรรม “เดินเชียร์ลุง” จัดที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ มีความต้องการแสดงออกในความคิดที่แตกต่างจากการ “ไล่ลุง”

วัตถุประสงค์ ต้องการปกป้อง “ลุง” และให้กำลังใจการอยู่ต่อ

Advertisement

แม้จากข่าวสารที่ได้รับ จำนวนผู้เข้าร่วมกับ “เดินเชียร์ลุง” จะมีการลงทะเบียนไม่มาก แต่ปริมาณและคุณภาพของการชุมนุมก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง

เพราะนี่ก็คือการแสดงออกทางการเมืองอีกจุดหนึ่ง

การแสดงออกทางการเมืองดังกล่าวยังคงจำกัดอานุภาพอยู่แค่เป็น “สัญลักษณ์” แต่สิ่งที่จะมีผลต่อการเมืองอย่างแท้จริง กลับเป็นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีอิลลูมินาติ

เป็นคดีที่มีผู้ร้องว่าพรรคอนาคตใหม่มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 21 ธันวาคมที่จะถึงนี้

ผลของคดีที่ออกมากลายเป็นที่จับต้อง เพราะไม่ว่าผลออกมาเช่นไร ย่อมมีผลต่อการเมืองทั้งนั้น

หากศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง เท่ากับพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ทำผิดอะไรตามที่กล่าวหา

พรรคอนาคตใหม่จะมีพลังมากขึ้น ทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีพลังมากขึ้น

มากขึ้นจนกว่าคดีความเรื่องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปล่อยให้พรรคอนาคตใหม่กู้ ซึ่งคดีนี้ไม่ว่าการตัดสินอย่างไรก็มีผลต่อการเมืองอีกเช่นกัน

เป็นผลดี และผลเสียทางการเมือง

ถ้าผลคดีทำให้พรรคอนาคตใหม่ต้องปิดฉากลง จะส่งผลกระทบต่อ ส.ส.ของอนาคตใหม่อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

เมื่อถึงเวลานั้น ส.ส.ของพรรคที่ถูกยุบย่อมมีสิทธิเลือกพรรคใหม่ไปสังกัด

หากเป็นไปตามกระแสข่าว “พรรคสำรอง” ถ้าพรรคอนาคตใหม่ต้องคดี แล้ว ส.ส.ยังคงเกี่ยวแขนกันไปอยู่พรรคที่สำรองเอาไว้

ปัญหาของพรรคฝ่ายค้านจะลดน้อย ปัญหาของฝ่ายรัฐบาลจะมาก เพราะปัญหาสั่งสมในเรื่องศรัทธา

แต่ถ้าผลคดีออกมาแล้ว พรรคอนาคตใหม่ต้องรับโทษถึงยุบ หรือเกิดการสั่นคลอน

มี ส.ส.แตกจากพรรคอนาคตใหม่ออกไปเข้าสังกัดพรรคอื่น

บางทีโฉมหน้าการเมืองอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

ถ้ามี ส.ส.เป็นกลุ่มก้อน แตกเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ผลที่ตามมาคือความแข็งแกร่งของ “พลังประชารัฐ”

ถ้า ส.ส.แตกออกมาแล้วไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ผลที่ตามมาก็คือความแข็งแกร่งของพรรคฝ่ายรัฐบาล

เมื่อมองดูจากความเป็นไปได้ หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น

ปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” ของรัฐบาลน่าจะหมดไป

แต่ปัญหาใหม่ก็จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ เพราะกลไกของรัฐธรรมนูญ และการกำเนิดขึ้นของพรรคการเมืองในซีกของฝ่ายรัฐบาลไม่ได้เกิดขึ้นมาเหมือนพรรคอนาคตใหม่

พรรคพลังประชารัฐมีการผสมผสานระหว่างตัวแทนจาก คสช. กลุ่มสามมิตร และกลุ่ม กปปส.เดิม

เท่ากับว่าพรรคพลังประชารัฐมาจากการจับมือกันของ “มุ้งเล็ก”

เมื่อมี ส.ส.เข้ามาเพิ่มจากการคาดการณ์เดิม กลุ่มที่มาใหม่อาจจะเป็น “มุ้งเล็ก” อีกมุ้งภายในพรรค

การเข้ามาแรกๆ อาจจะไม่มีปัญหา แต่เมื่ออยู่ไปจนถึงขั้นต้องโหวต เรื่องของผลตอบแทนอาจจะถูกหยิบยกขึ้นมา

ทั้งตำแหน่งรัฐมนตรี ตำแหน่งการเมือง และอื่นๆ

ขณะเดียวกัน หาก ส.ส.ที่แตกออกมาเข้าสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมที่รวมเอาพรรคซึ่งมีจำนวน ส.ส.พอๆ กันมาอยู่ด้วยกัน

ดังนั้น เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลใดมี ส.ส.มากขึ้น ย่อมกระทบต่อสัดส่วนรัฐมนตรีใน ครม.ด้วย

และกระทบต่อตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม หากการเมืองถึงขั้น ส.ส.ต้องอพยพเปลี่ยนพรรคเปลี่ยนขั้วกันจริงๆ สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจจะสบช่องกับการแก้ปัญหารัฐบาลในขณะนี้

เพราะการบริหารประเทศมาระยะหนึ่ง ทำให้ทราบว่าการที่พรรคร่วมรัฐบาลแบ่งกระทรวงด้วยวิธีที่เป็นอยู่นี้ มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะงานฝ่ายเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา จำเป็นต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีเอกภาพ

แต่เมื่อรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลมาจากพรรคการเมืองที่แตกต่าง

มีนโยบาย แนวคิด และวิธีการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

ผลที่เกิดขึ้นคือไม่สามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กลายเป็นรูปธรรมได้ไม่ง่ายนัก

อาทิ แนวคิดแก้เศรษฐกิจโดยเสนอให้ปี 2563 เป็นปีแห่งการลงทุน แม้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ จะผลักดันเต็มตัว แต่ก็ไม่ทราบว่ารัฐมนตรีคนอื่นที่อยู่หลากพรรคจะเห็นด้วย หรือเห็นต่างเช่นไร

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามใช้วิธีการทำงานร่วมกันด้วยกลไก ครม.เศรษฐกิจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่า กลไกดังกล่าวไม่สัมฤทธิผล

ดังนั้น หากการเมืองเกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนพรรคเปลี่ยนขั้วกันจริงๆ พล.อ.ประยุทธ์อาจใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาการบริหาร

ด้วยการปรับ ครม.และจัดทัพใหม่

แนวทางการปรับ ครม.และจัดทัพใหม่นี้ เดิมมีสัญญาณมาจากนายกฯว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอาจจะมีขึ้น

แต่ภายหลังกระแสการปรับ ครม.เงียบหายไป

ขณะที่ปัญหาเรื่องเอกภาพในการบริหารประเทศในด้านต่างๆ ยังคงมีอยู่ ถึงอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องหาทางแก้ไข เพื่อให้อยู่ต่อจนครบวาระตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

และหนทางแก้ไขที่มองกันในขณะนี้คือการจัดทัพใหม่ หรือการปรับ ครม.

การเมืองไทยในขณะนี้ นอกจากวันที่ 12 มกราคมแล้ว ยังมีผลคดีวันที่ 21 มกราคมนี้ที่ถูกเฝ้ามอง

เพราะทุกจังหวะก้าวล้วนมีผลกระทบต่อฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image