อริยสัจ 4 กับ รัฐธรรมนูญ (2) โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ก่อนจบฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอแนวทางลดความขัดแย้งบนความเห็นต่างทางประชาธิปไตย โดยการทำให้สองฝ่ายมองเห็น “แนวทางหลัก” ที่จะนำไปสู่การสร้าง “ประชาธิปไตยที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม” ให้ตรงกันได้ โดยการชวนให้คนไทยทั้งสองฝ่ายหันมาร่วมมือกัน ผลักดันบ้านเมืองให้ไปสู่ “จุดหมายร่วม” ซึ่งหากกระทำได้สำเร็จ “พลังความขัดแย้ง” ที่ผ่านมา ก็จะถูกเปลี่ยนให้เป็น “พลังขับเคลื่อน” ที่ดีต่อประเทศได้อย่างก้าวกระโดดนั้น ฉบับนี้ มามองลึกลงไปถึงกลวิธีที่จะเข้าไปว่าเราจะไปถึงจุดหมายนั้นได้อย่างไร

ข้อเสนอ “แก้รัฐธรรมนูญ” ตาม “แนวพระราชดำรัสคุณธรรม 4 ประการ” : 3.นิโรธ : สิ่งสำคัญที่มักจะมองข้ามในวิธีการแก้ปัญหาตามตรรกะของวิถีประชาธิปไตยแบบนี้ก็คือ การไม่หันมาทำความเข้าใจในเป้าหมายร่วม หรือ “จุดหมายร่วม” ให้ชัดเจนตรงกันก่อน โดยถ้าเข้าใจตรงกันว่าจุดหมายที่ “ดี” ที่พึงไปให้ถึงนั้นคืออะไร แต่ยังมีความคิดเห็นแตกต่างในวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมายที่เห็นไม่ตรงกันจึงค่อยใช้วิธีออกเสียงลงมติ และให้โอกาสฝ่ายเสียงข้างมากได้ทดลองวิธีของฝ่ายตนดูก่อน เนื่องจากว่าถ้าหากวิธีการนั้นได้ผลสามารถแก้ปัญหาได้ ฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ย่อมจะได้รับประโยชน์ร่วมด้วย เพราะช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตนปรารถนาใน “จุดหมายร่วม” นั้นเช่นกัน ตรงข้ามหากฝ่ายเสียงข้างมากทดลองแล้วไม่ได้ผล ไม่บรรลุถึงจุดหมายที่ต้องการ ก็จะยอมให้ฝ่ายเสียข้างน้อยทดลองของตนดูบ้าง หากได้ผล ก็เท่ากับช่วยให้ตนถึงจุดหมายที่ต้องการด้วย ซึ่งก็คือ “จุดหมายร่วม” ดังนั้นปัญหาขัดแย้งนี้ก็จะได้รับการแก้ไขโดยธรรมหรือโดยเกณฑ์ธรรมชาติ ที่เรียกว่า “ธรรมาธิปไตย” ประชาธิปไตย แบ่งได้สามลักษณะใหญ่ๆ คือ 1.ประชาธิปไตยแบบอัตตาธิปไตย : เป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ผู้นำเพียงคนเดียว 2.ประชาธิปไตยแบบโลกาธิปไตย : เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ยึดเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นเกณฑ์ตัดสินเรื่องต่างๆ 3.ประชาธิปไตยแบบธรรมาธิปไตย : เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ยึดธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสิน อันคือ การตัดสินด้วย “ปัญญา” โดยมี “เจตนา” ที่เป็น “ธรรม” ซึ่งในเมื่อหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยอยู่ที่การให้อำนาจประชาชนคุมผู้บริหารบ้านเมืองผ่านการเลือกตั้ง และถ้าหากจะได้ประชาชนส่วนใหญ่ยึด “ธรรม” เพื่อเป็นเกณฑ์วินิจฉัยตัดสินที่เรียกว่าเป็น “ธรรมาธิปไตย” ได้โดยถูกต้องโดยยึด “เจตนา” ที่เป็นธรรมแทนการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกของตัวเองที่เรียกว่า “อัตตาธิปไตย” หรือยึดกระแสสังคมในแต่ละห้วงเวลาเป็นเกณฑ์ตัดสินที่เรียกว่า “โลกาธิปไตย”

4.มรรค : หลักการการนำหลักคุณธรรม 4 ประการตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำเป็นในลักษณะ 4 ขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้หรืออบรมกล่อมเกลาเชิงสังคม (socialization) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมหนึ่งจนเกิดปัญญาหรือความรู้ที่จะแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องตลอดจนเกิด “ความรัก” และ “ความสามัคคี” มีความคิดเห็นลงมือปฏิบัติตามมติข้อตกลงจะร่วมกันด้วยความ “รู้รักสามัคคี” 4 ประการ ดังนี้

ก.คุณธรรมข้อที่หนึ่ง : “การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน” สอดคล้องตรงกับหลักสาราณียธรรมข้อ 1,2,3 ได้แก่ “เมตตากายกรรมเมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม” ข.คุณธรรมข้อที่สอง : การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ” สอดคล้องตรงกับหลักสาราณียธรรมในข้อที่ 4 ได้แก่ “สาธารณโภคี” ค.คุณธรรมข้อที่สาม : “การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริตในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมกัน” สอดคล้องตรงกับหลักสาราณียธรรมข้อที่ 5 ได้แก่ “สีลสามัญญตา” ง.คุณธรรมข้อที่สี่ : “การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรงและมั่นคงอยู่ในเหตุในผล” สอดคล้องตรงกับหลักสาราณียธรรมข้อที่ 6 ได้แก่ “ทิฏฐิสามัญญตา”

Advertisement

สู่จุดมุ่งหมายที่พึงปรารถนา : อีกประมาณหนึ่งทศวรรษข้างหน้าจะเป็นห้วงเวลาสำคัญของประเทศไทย เพราะปี 2570 จะครบ “100 ปีแห่งพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และปี 2575 จะครบ “100 ปีประชาธิปไตยไทย” อีกทั้งตรงกับ “250 ปีแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์” ด้วย หากคนไทยสามารถน้อมนำแนวพระราชดำรัสคุณธรรม 4 ประการ มาใช้แก้ไขวิกฤตปัญหาของประเทศชาติ ที่เราตกเข้าไปอยู่ภายใต้กับดักของวงจรเลวร้ายทางการเมืองยาวนานถึงกว่า 87 ปีที่ผ่านมานี้ได้สำเร็จ ตามแนวทางดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยยึดกรอบเวลาของปีสำคัญในช่วงหนึ่งทศวรรษข้างหน้าเป็นหมุดหมาย (milestone) ก็จะเท่ากับเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และช่วยทำให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบก้าวกระโดดสู่ความรุ่งเรืองไพบูลย์ ภายใต้ “ประชาธิปไตยแบบธรรมาธิปไตย” หรือ “ประชาธิปไตยที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม” ได้ไงเล่าครับ

ข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรม 4 ประการ : ท่ามกลางวิกฤตปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองที่เริ่มก่อตัวขึ้นช่วงปลายปี พ.ศ.2548 และขยายตัวสืบเนื่องมาเป็นลำดับ ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติ 60 ปี วันที่ 9 มิถุนายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักคุณธรรม 4 ประการ แห่งการสร้างความรักความสามัคคี ในการเสด็จออกพระสีหบัญชร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขความขัดแย้งของคนไทย คือ “คุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกัน รักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาได้ตลอดรอดฝั่ง ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำด้วยความเมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตน ให้ถูกต้องเที่ยงตรงและมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หากความคิดจิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดีที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลอยู่ในกายในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้”

รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ถึงนโยบายที่จะดำเนินการโดยเร่งด่วนประการหนึ่งคือ สนับสนุนให้มีการศึกษาและการรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รัฐบาลน่าจะน้อมนำพระราชดำรัสคุณธรรม 4 ประการข้างต้นมาใช้เป็นแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในประเทศที่ยืดเยื้อมานาน โดย

Advertisement

1.ให้แก้รัฐธรรมนูญเบื้องต้นเฉพาะเรื่องวิธีแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อจะสามารถตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากคนกลาง” มา ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ (ยกเว้นหมวดที่ 1 และ 2 อันเป็นหลักการที่คนไทยยอมรับร่วมกันอยู่แล้ว) โดยมีความส่วนร่วมกันอยู่แล้วโดยความมีส่วนร่วมของคนไทยทั้งประเทศอย่างกว้างขวางที่สุด เพื่อสร้าง “พื้นที่ทางสังคม” ให้คนไทยทุกฝ่ายได้มีโอกาสหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยเหตุผล บนความ รู้สึก-นึก-คิด ว่าเป็น “คนพวกเดียวกัน” ที่เหมือนอยู่บนเรือลำเดียวกัน ถ้าเรือเกิดล่มลง ทุกคนก็ต้องจมน้ำเหมือนกันหมด แต่หากทุกคนหันหน้ามาปรึกษาหารือจนมีความเข้าใจที่ตรงกันในการแก้ปัญหาต่างๆ แล้วร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้เรือสามารถแล่นไปจนถึงฝั่งแห่งจุดหมาย ทุกคนก็จะได้รับประโยชน์สุขร่วมกัน การสร้างโอกาสให้คนไทยได้พูดคุยถกเถียงกันฉันพี่น้องเพื่อหาข้อยุติในเรื่องต่างๆ ก็คือการปฏิบัติตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมข้อที่ 1 ได้แก่ “การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน”

2.ให้ใช้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมของคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุดเป็นเครื่องมือแสวงหา “จุดหมายร่วม” ในเรื่องหลักๆ ที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกัน แล้วเขียนเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนลงประชามติรับรอง รัฐธรรมนูญที่ผู้คนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมยกร่างและให้ฉันทานุมัติอย่างกว้างขวางเช่นนี้ จะเป็น “จุดรวมความคิด” ที่ช่วย “ประสานงานประสานประโยชน์” คนไทยทั้งประเทศเข้าด้วยกันตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมข้อที่ 2 คือ “การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กันให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ”

3.ให้เขียนรัฐธรรมนูญแค่ “หลักการใหญ่ๆ ที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นตรงกัน” เพราะถ้าหากยิ่งลงลึกในรายละเอียดมากเท่าไร ก็จะยิ่งหาข้อยุติร่วมกันยากขึ้นเท่านั้น แล้วถ้ามีประเด็นเรื่องใดที่คนไทยเห็นแตกต่างกันในรายละเอียดของวิธีการปฏิบัติเพื่อไปสู่ “จุดหมายร่วม” ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันแล้วนั้น ก็ค่อยเลือกพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนแต่ละฝ่ายไปต่อสู้ทางความคิด “เพื่อหาข้อยุติในสภา” (ไม่ใช่บนท้องถนน) ในขั้นตอนการเขียน “กฎหมายลูก” ระดับต่างๆ ภายใต้กฎกติกาตามที่ตกลงกันไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ให้ใช้เสียงข้างมากในสภาเป็นเครื่องตัดสิน หากยังขัดแย้งกันจนหาข้อยุติไม่ได้ ก็ยุบสภาพเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน เป็นต้น

เมื่อทุกฝ่ายต่างประพฤติปฏิบัติตนตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเท่าเทียมกัน “ไม่ใช่เป็นสองมาตรฐาน” ก็จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้ ตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมข้อที่ 3 คือ “การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมกัน”

4.ให้มี “องค์กรอิสระทำหน้าที่ประเมินผลการทำงาน” ของทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน กองทัพ รวมถึงองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ว่าในแต่ละปีใครทำหน้าที่ได้ตรงตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่มาจากปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงนี้มากน้อยแค่ไหน ต้องปรับปรุงเรื่องใดบ้าง ฯลฯ แล้วทำรายงานเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนทั่วไปซึ่งมักคาดหวังคุณลักษณะด้านใดด้านหนึ่งในตัวผู้บริหารบ้านเมืองไม่เท่ากัน จนอาจกลายเป็นความขัดแย้ง เช่น บางคนให้น้ำหนักความสำคัญกับเรื่องความชอบธรรมของที่มาแห่งอำนาจ แต่บางคนก็ให้น้ำหนักความสำคัญกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตของผู้บริหารบ้านเมืองมากกว่าที่มาของอำนาจว่ามาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ขณะที่บางคนก็ให้น้ำหนักความสำคัญกับเรื่องความสามารถในการบริหารประเทศมากกว่าคุณลักษณะด้านอื่นๆ จนกลายเป็นความขัดแย้งในสังคม เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้รายงานการประเมินตามตัวชี้วัดต่างๆ ที่ถ่วงน้ำหนักคะแนนทุกด้านอย่างเหมาะสม จะเป็นเครื่องมือปรับความคิดจิตใจของคนไทยให้ “ลงรอยเดียวกัน” มากขึ้น ตามหลักคุณธรรมข้อที่ 4 คือ “การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรงและมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หากความคิดจิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดีที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลอยู่ในกายในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไป”

ถ้าพรรคการเมืองต่างๆ หันมาเริ่มต้นแข่งขันกันใหม่ภายใต้กฎกติกาที่ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกำหนดอย่างแท้จริง และมีระบบติดตามประเมินผลที่ช่วยในการติดสินใจของประชาชนเช่นนี้ ก็น่าจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ผ่านมาค่อยๆ คลี่คลายลงโดยลำดับ คนไทยจึงควรร่วมมือกันผลักดันให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสมาชิก 250 คนที่ คสช.แต่งตั้งได้พิจารณา เพื่อน้อมนำพระราชดำรัสคุณธรรม 4 ประการ มาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะเป็นการสนองพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2549 ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image