บรรพบุรุษ… ขยันขุดแม่น้ำ ลำคลอง โดย เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

“นํ้าจืด” ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนักในบางภูมิภาคของไทย คือ ทุกข์โศกแสนสาหัสสำหรับคน พืชและสัตว์ เกษตรกรที่ต้องขมขื่น “หมดเนื้อ หมดตัว” เพราะไม่มีน้ำทำการเกษตร พืช สวน ไร่นา

ส่วน “น้ำที่ไม่ต้องการ” มีเหลือเฟือ คือ น้ำทะเล น้ำกร่อย ที่ดันหนุนขึ้นมาสูงในแผ่นดิน มาทำความเสียหายกับ “พืชผัก-พืชสวน-ผลไม้” ที่ชาวสวนประกอบอาชีพ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “น้ำดิบ” ที่จะไปใช้เป็นน้ำประปา ก็เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกัน

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอย้อนอดีต ชวนคิด ชวนคุยกันว่าบรรพบุรุษของเราที่ผ่านมา มีวิสัยทัศน์ วางแผน กล้าคิด กล้าลงมือสร้างแม่น้ำลำคลอง ขึ้นมาในแผ่นดิน สร้างชีวิต ผันน้ำไป-มา ด้วยการใช้แรงงานคนตัวเป็นๆ ใช้เครื่องมือ จอบ เสียม ขุดคลองส่งน้ำ ขุดคลองทำเป็นเส้นทางคมนาคม สร้างความเจริญกระจายออกไปท้องถิ่นแบบห้าวหาญ สร้างคุณูปการมาจนถึงปัจจุบัน…

แม่น้ำ คู คลอง ฝน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และการจัดการน้ำอย่างชาญฉลาดของบรรพบุรุษ เป็นปัจจัยสะสมที่ทำให้สยามเป็นประเทศที่ส่งข้าวออกไปขายตลาดโลก ยืนเด่นเป็นอันดับ 1 มาหลายทศวรรษ

Advertisement

ในเวลานั้น ไม่มีใครรู้จัก เอลนิโญ ลานิญา ไม่ต้องพูดถึง EIA ไม่มีใครต้องกังวลเรื่อง Climate Change …รู้แต่เพียงว่า ถ้าต้องการน้ำ หรือ ไม่ต้องการน้ำ ก็ต้องขุดให้น้ำมา ให้น้ำมันไป…

แม่น้ำ ลำคลองที่ขุด สร้างขึ้นด้วยแรงคนอย่างน่าทึ่ง ในแผ่นดินของเราตั้งแต่โบราณกาล ขุดตรงนั้น ขุดตรงนี้ ถ้ามานับรวมกันแล้ว ยาวหลายร้อยกิโลเมตร

เฉพาะ “คลองแสนแสบ” คลองเดียว จาก กรุงเทพฯไปถึงบางปะกง ยาวประมาณ 53.56 กิโลเมตร ผู้ใช้แรงงานกินนอน ใช้ชีวิตกันบนแนวคลองเป็นปีๆ ก็ทำสำเร็จด้วยแรงคน ที่อัจฉริยะที่สุด คือการตัดสินใจลงมือทำ

Advertisement

ผู้เขียน ขอใช้ข้อมูลบางส่วนจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ 33 / เรื่องที่ 3 คลอง / คลองขุดในประเทศไทย…

ชาวสยามขุดคลอง หลายสาย ทำงานต่อเนื่อง สู้ชีวิต มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี

สมัยรัตนโกสินทร์ เป็นยุคที่มีการขุดแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อความมั่นคง เปิดพื้นที่ สร้างบ้านเมือง เลี้ยงดูคน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ สร้างแหล่งเก็บกักน้ำมากที่สุด

เมื่อในหลวง ร.1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ.2325 ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ทยอยเข้ามาตั้งหลักปักฐาน เกิดชุมชนทั้งกระจุกและกระจายตัวกัน

ในช่วงแรกการขุดคลองรอบกรุงเทพฯ ทั้งชั้นใน และชั้นนอก มีหลักการ คือ เพื่อป้องกันกรุงเทพฯ จากการรุกรานของข้าศึกศัตรู ก็คือ พม่าที่ยังขับเคี่ยวกันมาไม่เลิก ไม่รา และก็ต้องการให้มีน้ำใช้

การไปมาหาสู่ในยุคกระโน้น ใช้แม่น้ำ ลำคลองเป็นหลัก จะเคลื่อนย้าย ขนส่งข้าว ปลาอาหาร วัสดุก่อสร้างที่จะนำมาสร้างเมืองกรุงเทพฯ จะไปมาหาสู่ ใช้เรือขนส่ง ต้องการไปที่ไหนก็จะขุดคลองไปที่นั่น

ประวัติศาสตร์ไทยบันทึกว่า ในช่วงรัชสมัยในหลวง ร.1 ถึงรัชสมัยในหลวง ร.5 มีการขุดคลองมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นคลองในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียง

คลองที่ขุดขึ้นในช่วง 5 รัชกาล ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของไทย จาก “แบบยังชีพ” มาเป็นแบบ “การค้าส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลก” โดยเฉพาะข้าว ทำให้มีการส่งเสริมการขุดคลองเป็นจำนวนมาก เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว และนำผลผลิตจากแหล่งผลิต ออกสู่แม่น้ำและท่าเรือ เพื่อส่งต่อไปยังต่างประเทศ โดยทางทะเล

ลองมาดูคลองที่ขุดขึ้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ บางส่วนนะครับ

1.คลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง-บางลำพู) ขุดขึ้นในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2328 ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ขุดแล้วเสร็จในปีใด ขุดขึ้นเพื่อเป็น “คลองคูเมือง” เริ่มตั้งแต่บางลำพู มาออกแม่น้ำเจ้าพระยาด้านใต้ เหนือวัดสามปลื้ม มีความยาวประมาณ 7 กิโลเมตร

2.คลองหลอด มี 2 คลอง คลองหนึ่งอยู่ที่ข้างวัดเทพธิดาราม อีกคลองหนึ่งอยู่ที่ข้างวัดสุทัศนเทพวราราม ทั้ง 2 คลอง ขุดจากคลองคูเมืองเดิม ไปบรรจบกับคลองรอบกรุง โดยขุดในสมัยรัชกาลที่ 1 ในเวลาที่ใกล้เคียงกับการขุดคลองรอบกรุง

3.คลองมหานาค เป็นคลองสั้นๆ อยู่บริเวณเหนือวัดสระเกศ ขุดขึ้นในรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2328 และขยายคลองให้ใหญ่ขึ้นใน พ.ศ.2344 คลองนี้ขุดขึ้น เพื่อให้ประชาชนชาวพระนครได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลงเรือ และสักวา ในฤดูน้ำหลาก เหมือนอย่าง “คลองมหานาค” ที่อยุธยา และให้ชื่อคลองอย่างเดียวกัน คลองนี้ขุดแยกจากคลองรอบกรุงที่ใกล้ป้อมมหากาฬ ไปทางทิศตะวันออก และบรรจบกับคลองผดุงกรุงเกษม ที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4

4.คลองสุนัขหอน ขุดเชื่อมแม่น้ำท่าจีนฝั่งขวา ในตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร กับแม่น้ำแม่กลองฝั่งซ้าย ในตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม คลองนี้มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร ขุดในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้รับผิดชอบดำเนินการขุดคือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เริ่มขุดใน พ.ศ.2377 ไม่ปรากฏปีที่ขุดแล้วเสร็จ

5.คลองพระโขนง อยู่ในเขตพระโขนง และส่วนหนึ่งของเขตประเวศ กรุงเทพฯ ขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ใกล้กับบริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ ไปต่อกับคลองประเวศบุรีรมย์ ขุดขึ้นในรัชกาลที่ 3 ผู้รับผิดชอบดำเนินการขุดคือ พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต บุนนาค)

เริ่มขุดเมื่อ พ.ศ.2380 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2383 ยาว 14.5 กิโลเมตร

6.คลองแสนแสบ ขุดเชื่อมคลองบางกะปิ กรุงเทพฯ กับคลองบางขนาก ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยคลองบางกะปิเป็นคลองที่ขุดแยก จากคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก ตรงข้ามกับปากคลองมหานาค ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ไปสิ้นสุดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ ต่อจากนั้น จึงเป็นคลองแสนแสบ แต่ปัจจุบันมักถือว่า คลองแสนแสบตั้งต้นจากประตูน้ำในเขตปทุมวัน จึงครอบคลุมอาณาเขตส่วนหนึ่งที่เดิมเป็นของคลองบางกะปิ

คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นในรัชกาลที่ 3 ด้วยแรงคนล้วนๆ นับเป็นคลองขุดที่ยาวที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำของกรุงเทพฯ ที่จะเดินทางไปสู่ภาคตะวันออก สร้างความเจริญทันทีทันใดกับพื้นที่ภาคตะวันออก

แนวคลองแสนแสบ เริ่มจากประตูน้ำในเขตปทุมวัน ไหลผ่านเขตต่างๆ คือ เขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เขตมีนบุรี และเขตหนองจอก ก่อนไหลไปเชื่อมกับคลองบางขนาก ซึ่งไหลไปลงแม่น้ำบางปะกง ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา

ผู้รับผิดชอบดำเนินการขุดคือ พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต บุนนาค) เริ่มขุดเมื่อ พ.ศ.2380 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2383 มีความยาว 53.56 กิโลเมตร

คลองแสนแสบ นับเป็นคลองพระเอก ในบรรดาคลองที่ขุดขึ้น เพื่อให้สามารถเดินทางติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองฉะเชิงเทราได้สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น

คลองแสนแสบ ยังอำนวยประโยชน์ด้านความมั่นคง คลองขุดที่ยาวที่สุดนี้ เป็นเส้นทางลำเลียงอาหารการกิน เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง (Logistics) สำหรับกองทัพสยามที่ต้องไปจัดการปกครอง และป้องกันหัวเมืองภาคตะวันออก ซึ่งในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 3 ไทยยังมีศึกสงครามกับญวน ที่ขยายอำนาจเข้ามาในเขมร

ผู้เขียนขอให้ชนชาวไทย ได้ชื่นชมกับพระวิสัยทัศน์ของในหลวง ร.3 ที่ตัดสินพระทัยเด็ดขาด โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองนี้ขึ้นมา เพราะในเวลานั้น สยามต้องเผชิญหน้ากับกองทัพญวนทางภาคตะวันออกและในดินแดนกัมพูชายาวนานเกือบ 15 ปี

เกร็ดประวัติศาสตร์ตอนหนึ่ง …จากหนังสืออานามสยามยุทธ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ โฆษิต หน้า 342 เขียนโดย ก.ศ.ร.กุหลาบ จากบันทึกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพไทยที่ไปบัญชาการรบในเขมร ระบุว่า

…“ปีที่ 14 ในรัชกาลแผ่นดินที่ 3 กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ชื่อทัด) เป็นแม่กองจ้างจีนขุดคลอง ตั้งแต่ตำบลหัวหมากต่อคลองบางกะปิไปทางตะวันออก ทะลุที่บางกะหนากฝั่งแม่น้ำเมืองฉะเชิงเทรา รางวัดทางยาว 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก กว้าง 6 วา ราคาค่าจ้างขุดเส้นละ เจ็ดสิบบาท รวมเงินทั้งค่าฟันตอไม้ ค่าแก้คลองพระโขนงข้างปลาย รวมเป็นเงินพันสองร้อยหกชั่งสิบสามตำลึง สองบาทสลึงเฟื้อง ขุดอยู่ถึงสีปีเศษจึงสำเร็จแล้วตลอด เป็นลำคลองเรื่อเดินได้ ..ชนสามัญเรียกว่า ‘คลองแสนแสบ…’”

“คลองแสนแสบ” ที่จ้างกลุ่มชาวจีนอพยพขุดขึ้นนี้แหละ คือปัจจัย ในการพลิกแผ่นดินแถว “หนองจอก-มีนบุรี” ให้มีราคาสูงขึ้น ที่ดินมีราคาดั่งทองคำอย่างไม่ต้องสงสัย บางช่วงก็ใช้เชลยที่กวาดต้อนมาจากทางใต้ คือ แขกมลายู แขกจาม มุสลิม ขุดเสร็จก็ตั้งบ้านเรือนแถวนั้น

7.คลองผดุงกรุงเกษม ขุดเป็น “คูเมืองชั้นนอก” ของกรุงเทพฯ เมื่อคราวขยายเขตพระนครออกไป ในรัชกาลที่ 4 ผู้รับผิดชอบการขุด คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เริ่มขุดเมื่อ พ.ศ.2394 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2397 มีความยาว 5.5 กิโลเมตร

8.คลองภาษีเจริญ พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม) เจ้าภาษีฝิ่น ได้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้เงินจากภาษีฝิ่นขุดคลองนี้ โดยดำเนินการขุด เมื่อ พ.ศ.2410 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2414 เพื่อประโยชน์ในการค้าขาย และการสัญจรทางน้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสมุทรสาคร เพื่อผลประโยชน์ของพระภาษีสมบัติบริบูรณ์เอง เพราะท่านมีโรงหีบอ้อยอยู่ที่บ้านดอนไก่ดี (ดอนกะฎี) ทำให้สามารถขนส่งอ้อย และน้ำตาลทราย ได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ยาว 24.8 กิโลเมตร

9.คลองสวัสดิ์เปรมประชากร (ปัจจุบันเรียกว่า คลองเปรมประชากร) นับเป็นคลองแรก ที่ขุดขึ้นในรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุด พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นแม่กองขุด เริ่มขุดใน พ.ศ.2413 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2415 ขุดเพื่อการสัญจรทางน้ำ และการค้าขายระหว่างกรุงเทพฯ กับอยุธยา เพื่อเปิดพื้นที่บริเวณสองฝั่งคลอง ซึ่งเป็นป่าให้เป็นที่อยู่อาศัย และทำการเพาะปลูก

คลองนี้ขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านบางกะสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาจนถึงเขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปบรรจบกับคลองผดุงกรุงเกษม ที่หน้าวัดโสมนัสวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีความยาว 50.85 กิโลเมตร

คลองเปรมประชากร เขตดุสิต กรุงเทพฯ ปัจจุบันใช้ประโยชน์เพื่อการระบายน้ำ

10.คลองประปา ชื่อก็บอกชัดเจน ว่าเพื่อนำน้ำมาทำเป็นน้ำประปา สำหรับชาวกรุงเทพฯ

ขอนำข้อมูลมาบอกเล่าว่า…ในเวลานั้นกรุงเทพฯ พัฒนา เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นเมืองใหญ่ มีถนน มีผู้คนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เคยเกิดโรคระบาด มีคนตายจำนวนมากจาก “โรคห่า”

ในหลวง ร.5 ได้ทรงมีพระราชดำริ ให้จัดหาน้ำบริโภค สำหรับประชาชน ในเขตพระนคร ด้วยทรงเห็นว่า ในขณะนั้นประชาชนทั่วไปยังคงใช้น้ำซึ่งไม่สะอาดบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับต่ำ ทำให้น้ำทะเลเข้ามาถึง น้ำมีรสกร่อยไม่เหมาะสำหรับการบริโภค

13 กรกฎาคม พ.ศ.2452 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้กรมสุขาภิบาลดำเนินการนำน้ำ มาใช้ในพระนคร ดังนี้

1.ให้ตั้งทำที่ขังน้ำที่คลองเชียงราก ในเขตจังหวัดปทุมธานี อันเป็นที่พ้นเขตน้ำเค็มขึ้นถึงทุกฤดู

2.ให้ขุดคลองแยกจากที่ขังน้ำนั้น เป็นทางลงถึงริมคลองสามเสนฝั่งเหนือใกล้แนวทางรถไฟ

3.ตั้งโรงสูบขึ้น ณ ตำบลสามเสน สูบน้ำขึ้นขังยังที่เกรอะ กรองตามกรรมวิธีให้น้ำสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งซึ่งจะเป็นเชื้อโรค แล้วจำหน่ายน้ำ ไปในที่ต่างๆ ตามควรแก่ท้องที่ของเขตพระนคร

การขุดคลองประปา เพื่อจะผลิตน้ำประปาให้คนในกรุงเทพฯ มีการซื้อที่ดินสำหรับสร้างคลองประปา โรงสูบน้ำ และโรงกรองน้ำสามเสน จำนวน 1,097 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา

คิดราคาเฉลี่ยตารางวาละ 30 สตางค์ และเนื่องจาก เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม มีผู้มอบที่ดินให้เพื่อช่วยราชการถึง 33 ราย รวม 24 ไร่ 3 งาน 28 ตารางวา

การดำเนินการขุดคลองประปา คือ ขุดคลองแยกจากที่ขังน้ำ ที่ตำบลบางพูน อำเภอเมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี ขนานกับคลองเปรมประชากร มายังโรงกรองน้ำสามเสน ยาวประมาณ 25 กิโลเมตร

น้ำดิบที่ไหลผ่านคลองเป็นระยะทางยาวมาก มีโอกาสได้สัมผัสกับอากาศและแสงแดด ทำให้น้ำสะอาดขึ้น การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ.2456 และได้มีการประกาศพระราชบัญญัติรักษาคลองประปา ในปีเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามลงไปจับสัตว์น้ำ ตกปลา อาบน้ำ ซักล้างเสื้อผ้า หรือทิ้งสิ่งโสโครกลงไปในคลอง โดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับอย่างรุนแรง

ต่อมาใน พ.ศ.2523 การประปานครหลวง พิจารณาว่า การชักน้ำจากที่ขังน้ำ เข้าคลองประปา มายังโรงกรองน้ำสามเสน มีน้ำดิบในปริมาณน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะคนในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นไม่หยุด จึงขยายแนวคลองประปาขึ้นไปถึงเหนือ “วัดสำแล” ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เพื่อสูบน้ำดิบโดยตรงจากแม่น้ำเจ้าพระยา คลองประปาจึงยาวขึ้นเป็น 31 กิโลเมตร

มาถึงตรงนี้ ทำให้เราได้ทราบว่า คลองประปา ที่ผลิตน้ำให้คนใน กทม. (ส่วนหนึ่ง) นั้น คือ พระวิสัยทัศน์ของพระพุทธเจ้าหลวง ร.5

ขอเรียนท่านผู้อ่านว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่าง “บางส่วน” ของ แม่น้ำ คู คลอง ที่บรรพบุรุษของเรานับร้อยปีที่แล้ว ที่วิริยะ อุตสาหะ มองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ สร้าง ขุดขึ้นมา ซึ่งยังประโยชน์สุขแก่บ้านเมือง

ชาวต่างประเทศที่เข้ามาในแผ่นดินสยาม บันทึกตรงกันว่า ชาวสยามจำนวนมาก ใช้ชีวิตบนแพ ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง อย่างมีความสุข

มีคลอง มีน้ำกิน มีน้ำใช้ เป็นการเปิดพื้นที่ สร้างความเจริญ

น่าคิดนะครับ… วันนั้น ไม่มีแผนที่ ไม่มีภาพถ่ายทางอากาศ ไม่มี GPS ไม่มีใครเรียนวิชาการชลประทาน ไม่มีเครื่องจักรกลใดๆ ที่จะมาช่วยเนรมิต แม่น้ำ คู คลอง

มีเพียง 1 สมอง 2 มือ 2 เท้า จอบ เสียม กระบุง บุ้งกี๋ ที่ทุ่มเท แทงจอบ เสียม ลงไปในดิน งัดขึ้นมา กลายเป็นลำคลองตรงเป๊ะ ลึก ยาวเป็นร้อยๆ กิโลเมตร ที่สำคัญ คือ การรับรู้ปัญหา กล้ารับผิดชอบ กล้าตัดสินใจอย่างชาญฉลาด แล้วสั่งให้ลงมือทำงาน ทำให้สำเร็จ

เวลา คือ สิ่งที่มีค่าที่สุด คิดแล้วลงมือทำสิ่งดีๆ สร้างอนาคตไว้ให้ชนรุ่นหลัง กินดี อยู่ดี มีสุข

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image