การบริหารเศรษฐกิจติดหล่ม โดย สมหมาย ภาษี

วันนี้ผมอยากจะชี้ให้ท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่านลองมองภาวะเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ว่ามันผิดเพี้ยนไปหรือไม่ ซึ่งผมเองลองนั่งพิจารณาเศรษฐกิจเราย้อนหลังไปในช่วง 25 ปี หรือตั้งแต่ก่อนเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ผมว่าระบบเศรษฐกิจไทยได้ผิดเพี้ยนไปมาก มันได้เพี้ยนไปแบบคนจนในประเทศนี้จะอยู่ในแผ่นดินตนเองไม่ค่อยได้กันแล้ว

ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้ก่อให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Reserves) ของไทยหายไปจนเกลี้ยง เคยประมาณกันว่ายอดสุทธิจริงๆ เหลือไม่ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (IBRD) หรือเรียกสั้นๆ ว่า World Bank รวมทั้งธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และหนีไม่พ้นต้องมีกองทุนความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (OECF) เข้ามาช่วยด้วยเป็นทีม

ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 จึงต้องถูกควบคุมการบริหารด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มตัวและประชิดตัว โดย IMF และเจ้าหนี้ทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปีต่อมา

ถูกควบคุมอย่างไรหรือ ก่อนอื่น IMF ก็ควบคุมงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ อย่างใกล้ชิด มีการดูแลและกำกับตัวเลขทางการคลังกันเป็นรายไตรมาส การใช้จ่ายเงินภาครัฐทุกด้านต้องถูกตัดทอน อย่าว่าแต่เรือดำน้ำเลย ก่อนหน้าเกิดวิกฤตรัฐบาลไทยก็ทำโก้ ได้มีการสั่งซื้อเครื่องบินรบ F18 จากสหรัฐไว้หนึ่งฝูง วางเงินมัดจำแล้ว พอเกิดวิกฤตรัฐบาลไทยสมัยที่ท่านชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีต้องส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปขอยกเลิกการสั่งซื้อกับประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็เข้าใจ และรู้ว่าถ้าไม่ยอมให้ยกเลิกก็คงไม่สามารถเรียกเก็บเงินส่วนที่เหลือได้ จึงได้ยินยอมแบบมีเงื่อนไข คือไม่ให้ถอนเงินมัดจำคืน แต่ให้เอาไปซื้ออาวุธอื่นทางทหารจากสหรัฐอเมริกาได้

Advertisement

หายนะที่ได้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในสมัยนั้น แน่นอนนอกจากงบประมาณแผ่นดินจะอยู่ในภาวะจำกัดจำเขี่ยแล้ว เหตุการณ์วิกฤตก็ทำให้ค่าเงินบาทตกต่ำลงมากในชั่วข้ามคืน เงินบาทได้อ่อนลงจากอัตรา 26-27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34-35 บาท และตกต่ำลงไปเรื่อยอีกร่วม 2 ปี จึงหยุด โดยเคยต่ำสุดถึงอัตรา 58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หายนะทางเศรษฐกิจครั้งนั้น คนไทยที่ตอนนี้อายุ 45 ปีขึ้นไปย่อมรู้ดี แต่ผลจากเงินบาทอ่อนยาวนานหลายปีติดต่อกันทำให้สินค้าออกของไทยในตลาดต่างประเทศขายดี การส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็ทะลักเข้ามาประเทศไทยมากขึ้นตั้งแต่นั้น ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะที่จะล้มละลาย

วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 สมัยนั้นทำให้คนไทยทั้งประเทศทั้งอาเสี่ยและรากหญ้าจนวูบลงทันที พวกนักลงทุน นายธนาคาร นักธุรกิจใหญ่ๆ ต้องจนลงในชั่วพริบตา เพราะส่วนใหญ่กู้เงินนอกมาใช้ สถาบันการเงินของไทยโดยเฉพาะธนาคารได้ถูกกระทบหนัก ธนาคารเล็กและกลางต้องเจ๊งกันหมด ต้องไปรวมตัวกับธนาคารอื่น หรือปิดกิจการหรือไม่ก็ขายใบอนุญาตและซากให้ต่างชาติไป ส่วนธนาคารขนาดใหญ่ๆ 3-4 ราย ต้องยอมให้ต่างชาติเข้ามาร่วมทุน เพราะนายธนาคารไทยไม่มีเงินมาเพิ่มทุนแล้ว ที่ไม่ต้องพึ่งต่างชาติ หรือไม่เป็นลูกผสมก็มีเฉพาะธนาคารกรุงไทยและธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเท่านั้น เพราะรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นแต่ผู้เดียว ต้องยอมกัดฟันเพื่อรักษาชาติไทยไว้

สรุปแล้ววิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งสมัยนั้นทุกอย่างทางด้านเศรษฐกิจแย่หมด ดุลการชำระเงินแย่สุดๆ ดุลการค้าแย่ตอนต้นขาดดุลมาก เงินฝืด กระแสเงินหมุนเวียนน้อย ธนาคารไม่มีสภาพคล่อง แต่ก็ยังมีดีเหลืออยู่บ้าง คือชาวไร่ชาวนาและรากหญ้าไม่อยู่ในสภาพที่ยากจนเหมือนตอนนี้ และหนี้ครัวเรือนก็น้อย อยู่ในระดับ 40-50% ของ GDP ไม่ใช่ท่วมท้นร่วม 80% ของ GDP อย่างปัจจุบันจนสูงที่สุดในอาเซียน ซึ่งอยู่ในภาวะที่รอแต่วันตายอย่างเดียว

Advertisement

เมื่อเอาภาวะและสภาพเศรษฐกิจไทยสมัยนั้น มาเทียบกับสมัยนี้เห็นได้ชัดว่าผิดกันมาก ปัจจุบันนี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่เกือบจะหมดเกลี้ยงในปี 2540 ได้เพิ่มขึ้นตลอดมาจนมีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณปีนี้เกือบสองเท่า สูงเป็นอันดับ 11-12 ของโลก ที่สูงมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยทั้งๆ ที่อัตราการเพิ่มของการส่งออกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาค่อยๆ ลดลง จนติดลบในปี 2562 แต่อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไทยได้แข็งขึ้นเรื่อยๆ จากอัตรา 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มาถึงทุกวันนี้กำลังจะต่ำกว่าอัตรา 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

พิจารณาให้รอบคอบดูเถอะครับ ผมว่าผู้บริหารการเงินของไทย โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องรับภาระหนี้ก้อนมหึมาอันเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ได้บริหารการเงินแบบไม่ยอมเปลี่ยนจากฝันร้ายเดิมๆ ยังใช้การ์ดสูงเท่าเดิมเหมือนยังโดนวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 สิงอยู่ และยังคิดว่าตัวเองแน่เหมือนเดิม จึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศเพี้ยนไปอย่างที่เห็นๆ อยู่นี้

ที่ว่าเพี้ยนก็เห็นกันชัดๆ อยู่แล้วว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีมากจนผิดขนาด แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกลับยิ่งยากจนมากกว่าเดิม อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นตัวหลักที่ธนาคารชาติใช้ในการบริหารการเงินก็ต่ำ และอัตราดอกเบี้ยก็ไม่สูง ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันในอาเซียน ปรากฏว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำใกล้กับประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป ซึ่งมีทั้งเสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งยั่งยืนตลอดมา ดูแล้วสภาพเศรษฐกิจของไทยตอนนี้เหมือนเด็กสมัยก่อนที่เป็นโรคตานขโมย แต่ยังเดินเหินวิ่งเล่นได้ แต่อยู่ในสภาพขาลีบ ท้องป่อง หัวโต ตาถลน

เมื่อมองเข้าไปลึกๆ ถามว่า แล้วใครได้ผลประโยชน์จากการที่ประเทศมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ผู้ได้ผลประโยชน์ก็คือนักธุรกิจขนาดใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่เท่านั้น เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าไปแก้ปัญหาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงด้วยการออกกฎเกณฑ์ให้ธุรกิจนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น ที่เรียกว่ามาตรการผ่อนปรนการเคลื่อนย้ายเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งนับวันจะยิ่งต้องเปิดกว้างขึ้นไปอีก คนรวยก็ยิ่งสบาย ยิ่งกว่านั้นโดยที่อัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำสุดในขณะนี้ แต่ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องล้นระบบตลอด ยิ่งทำให้นักธุรกิจและคนรวยทั้งหลายสามารถกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาใช้ลงทุนและหมุนเวียนอย่างสบาย แถมมีข่าวว่ามีการยกเว้นให้ธุรกิจรายใหญ่บางรายกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ได้เกินกว่าวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเสียด้วย

สรุปแล้วการที่ปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ดีมากในขณะนี้ ล้วนแต่เป็นการเอื้อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้นักธุรกิจและคนรวยกันทั้งนั้น คนจนอย่างตาสีตาสาและรากหญ้า หรือแม้แต่ธุรกิจ SME ขนาดกลางและเล็ก ไม่ได้ประโยชน์กับปัจจัยดีๆ เหล่านี้เลย ยิ่งในภาวะที่เค้าลางของการเกิดหนี้เสียมากขึ้นเช่นขณะนี้ นักธุรกิจรายเล็กได้แต่อ้าปากค้างกันทั้งนั้น แม้ว่าผู้รับผิดชอบด้านการบริหารการเงินจะพยายามช่วย แต่ดูอย่างไรก็เป็นลักษณะเกาไม่ถูกที่คันเสียทุกที การบริหารในด้านการเงินของประเทศจึงมีอาการยักแย่ยักยันให้เห็นชัดขึ้น

ส่วนในด้านการคลังซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการบริหารเศรษฐกิจของทุกประเทศ เมื่อดูแต่ละด้านในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะในช่วงที่มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พลเอก ประยุทธ์หรอกครับ การบริหารการคลังยังยึดโยงอยู่กับทฤษฎีเก่าๆ
บางคนอาจจะบอกว่าเอาคนไม่รู้เรื่องมาดูแลก็คงไม่มีใครกล้าเถียง เพราะดูๆ ไปไม่ใช่เป็นการเกาไม่ถูกที่คันหรอก แต่เป็นสภาพที่คันไปหมดทั้งตัวแล้ว คนเกาก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ดูจากสิ่งที่ทำในทุกวันนี้ยิ่งเห็นชัด ยิ่งเกามั่วไปกันใหญ่ ทำอย่างไรเศรษฐกิจของคนไทยระดับล่างก็ไม่ดีขึ้น

สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้ดูแล้วเหมือนกับไม่มีทางออก เพราะภาวะการคลังของรัฐบาลไม่อยู่ในสภาพที่จะโตได้ ยิ่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยิ่งต่ำ รายได้จากภาษีอากรของประเทศไม่มีทางที่จะดีขึ้น เพราะฐานของภาษีต่ำหมด กฎหมายภาษีแต่ละตัวก็แย่และล้าสมัย ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีสรรพสามิต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต ไม่เคยมีการเอามาดูเลยว่ามีช่องว่างมากมาย ไม่เคยได้รู้ว่านำมาปรับแก้ได้ ไม่ใช่เฉพาะแค่การขึ้นหรือไม่ขึ้นอัตราแวตเท่านั้น การแก้กฎหมายภาษีแวตให้ช่วยคนจนก็ยังมีแนวทางทำได้อีกมาก แต่นี่ไม่มีใครสนใจกันเลย ยิ่งกว่านั้นภาษีทรัพย์สินซึ่งเป็นภาษีที่สำคัญมาก ควรจะต้องออกมาใช้เร็วๆ ก็ทำกันมาถึง 5 ปีกว่าจะเสร็จ เมื่อเสร็จออกมาใช่ว่าจะดีมีการยอมรับ แต่กลับเป็นร่างกฎหมายภาษีที่มีปัญหามากที่สุด เหตุใหญ่ก็เพราะเป็นภาษีที่ร่างมาจากคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อทางด้านการหารายได้จากรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้นำการปรับปรุงระบบภาษีอากรมาช่วย แต่กลับไปหวังพึ่งและดีใจกับค่าสัมปทานต่างๆ เช่น ค่าสัมปทานแหล่งก๊าซ ค่าสัมปทานจากการสื่อสารคมนาคม อย่างนี้ก็ไปไม่รอด เมื่อรายได้ภาครัฐไม่เป็นเรื่องเป็นราว งบประมาณรายจ่ายแต่ละปีที่มีโครงสร้างโบร่ำโบราณอยู่แล้ว ก็ยิ่งมีการจัดสรรแบบเดิมๆ มีการซ่อนเร้นงบกันบ้าง จัดงบเอื้อกันไม่ตรงกับความต้องการบ้าง ฯลฯ ตามที่ได้ฟังการอภิปรายของสภาเมื่อไม่กี่วันมานี้ แล้วอย่างนี้จะไปรอดกันได้หรือ

เชื่อเถอะครับ ณ บัดนี้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การบริหารเศรษฐกิจของประเทศทั้งด้านการเงินและการคลังบนโครงสร้างเก่าๆ นั้น มันได้ติดหล่มแล้วครับ

 

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊กSommai Phasee — สมหมาย ภาษี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image