ครูบ้านนอก อภิปรายนอกสภา : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ครูบ้านนอก อภิปรายนอกสภา : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ครูบ้านนอก อภิปรายนอกสภา : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านที่ประชุมสภาวาระสามไปตามคาดหมาย ฝ่ายรัฐบาลยังรักษาจำนวนมือ ส.ส.ไว้ได้มากกว่าฝ่ายค้านที่ใช้ลีลา ไม่ออกเสียงแทนโหวตไม่รับ

งบประมาณกระทรวงหนึ่งที่ถูกจองกฐินอภิปรายกันมากเป็นพิเศษ ก็คือกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากประเด็นการจัดสรรให้ที่โน่นมาก ที่นี่น้อยแล้ว หนีไม่พ้นการดำเนินนโยบายบริหารการศึกษา อันเนื่องมาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560

Advertisement

ความทับซ้อนของภารกิจระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กับเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งมัธยมและประถม ซึ่งยังคาราคาซังมาถึงวันนี้ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาบอกว่าจะหาทางแก้ปัญหาให้ยุติภายในต้นปี 2563 ให้ได้

ครับ ฟัง ส.ส.และผู้บริหารการศึกษาโต้แย้งกันในเวทีสภาผู้แทนแล้ว ลองมาฟังผู้เกี่ยวข้องโดยตรงบ้าง โดยเฉพาะคนเป็นครู

แฟนคลับ จากสภาการศึกษาฝากเสียงของครูบ้านนอก ส่งผ่านไลน์มาให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายได้ฟัง คนนอกแต่อยู่วงใน กันบ้าง ครูสะท้อนมาอย่างนี้

กระผมขออนุญาตนำเสนอแนวคิดบ้านๆ ที่ครูบ้านนอกอย่างตัวกระผมที่ถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์ที่เห็นตลอดอายุราชการเกือบ 40 ปี เพื่อท่านพิจารณา

รมว.ศธ.ที่เข้ามาแต่ละคนเข้ามาด้วยภาวะจำใจ ขาดความชำนาญการ ความรู้ด้านการจัดการศึกษาที่เน้นคุณภาพนักเรียน จึงตกเป็นเครื่องมือของ ขรก.ประจำที่เขี้ยวลากดินดิ้นเพื่อผลประโยชน์แห่งตนและพวกพ้อง ชงแต่เรื่องปรับโครงสร้างทั้งปี

ถ้ามองให้ลึกคนที่ขาดความจริงใจการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจนิติบุคคลสมบูรณ์ให้สถานศึกษาก็คือ ขรก.ประจำระดับผู้บริหารกระทรวง ทบวง กรม เพราะกลัวสูญเสียความมั่งคั่งประโยชน์มหาศาลจากเงินงบประมาณ กลัวสูญเสียอำนาจในการบริหารบุคคล ท้ายสุดการศึกษาก็ล้มเหลว อำนาจ บารมี ความร่ำรวยก็เวียนวนอยู่กับคนกลุ่มบน

หากวิเคราะให้ถ่องแท้ คุณภาพของผู้เรียนอยู่ที่สถานศึกษา โดยการขับเคลื่อนของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และชุมชน (บวร : บ้าน วัด โรงเรียน)

โครงสร้างต่างๆ ที่พยายามปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา สร้างแต่ความแตกแยกเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย ไม่มีผลต่อคุณภาพผู้เรียนแม้แต่น้อยนิด ซ้ำยังเป็นตัวคอยถ่วงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติบ้านเมืองมาโดยตลอด

ทั้ง ศธ.ภาค ศธจ. และเขตพื้นที่การศึกษา ที่มีปัญหากันอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นผลพวงมาจากการปรับโครงสร้าง เพิ่มหน่วยงานให้มากขึ้น แทนที่จะปรับโครงสร้างให้เล็กลงแต่มีประสิทธิภาพ ไม่ทำกัน กลับเพิ่มหน่วยงาน คนเพิ่ม กิเลสเพิ่ม การคอร์รัปชั่นก็เพิ่มตามมา งบประมาณที่ใช้พัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพก็น้อยลง

ทางออกที่ควรเลือก

1.ควรยุบทิ้งทั้ง 2 หน่วยงาน เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน หากจะดูโหดร้ายเกินไป มีคำถามตามมาแล้วจะเอาคนไปไว้ไหน

2.ถ้าไม่ยุบทั้ง 2 หน่วยงานข้างต้น ก็ให้คงไว้เหมือนเดิม แต่ต้องลดคนลง คนส่วนหนึ่งคงไว้ คนไหนประสงค์ลงสถานศึกษาก็ตามสมัครใจเพราะมั่นคงกว่า เมื่อสถานศึกษามีบุคลากรสนับสนุนเพียงพอ เช่น มี จนท.ธุรการ จนท.พัสดุ จนท.การเงิน จนท.สารบรรณ จนท.โภชนาการ นักการภารโรง รปภ. ฯลฯ ส่งผลใหครูได้ทำหน้าที่สอนอย่างเต็มที่ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ

ทั้ง ศธจ.และเขตพื้นที่ ให้มีหน้าที่นิเทศ ติดตาม ตรวจสอบ ส่งเสริม สนับสนุน ให้ตัด “อำนาจ” ออกไป เพราะมีอำนาจจึงวุ่นวายในปัจจุบัน อำนาจในการบริหารบุคคล การบริหารงบประมาณ การบริหารวิชาการ และการบริหารงานทั่วไป ให้กระทรวง ถ่ายโอนลงให้สถานศึกษาให้เบ็ดเสร็จ ให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ เพราะคุณภาพผู้เรียนอยู่ที่สถานศึกษา

3.ยุบ หรือควบรวมทั้ง 2 หน่วยงานข้างต้นให้เป็นหนึ่งเดียวจะได้ไม่ขัดแย้งกันอีก ลดกำลังคนลงตามหลักการในข้อ 2 ให้มีหน้าที่ตามข้อ 2 ห้ามไม่ให้มีอำนาจเด็ดขาด จะครอบงำสถานศึกษา ขัดขวางการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ขัดขวางการปฏิรูปการศึกษาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แนวคิดจากจิตบริสุทธิ์ เห็นมาอย่างไรพูดไปอย่างนั้น ไร้อคติทั้งมวล

ครับ ครูใหญ่อีกท่าน สะท้อนมาว่า อ่าน “ปฏิรูปไม่ไปไหน” แล้วเป็นจริงอย่างว่า กรณีเกี่ยวกับครู รมต. กระทรวง อว. และ ศธ. พร้อมด้วยปลัดกระทรวง เลขานุการ รมต. ที่ปรึกษา รมต. ข้าราชการผู้ใหญ่ 2 กระทรวง พบกันวันอังคารที่ 19 พ.ย. ที่ทำเนียบ

เห็นด้วย ตรงกันใน 4 เรื่อง คือ 1.ตั้งกรรมการนโยบายร่วมเรื่องการผลิตและพัฒนาครู เพื่อให้การผลิตและพัฒนาตรงกัน demand = supply และเรื่องคุณภาพครูใหม่ครูเก่า 2.exellence center เรื่องการผลิตครู เพื่อทำให้ครูของครูเป็นเลิศก่อน

3.research institute เพื่อทำเรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดประเมินผลให้ทันสมัย ทันหรือนำ ศว.ที่ 21 และ 4.สร้าง network เพื่อการผลิตและพัฒนาครูในรูป area-based

จนกระทั่งวันนี้ยัง “เงียบ” จริงแล้ว ใช้เงินไม่เท่าไหร่ในการดำเนินการแต่ละเรื่อง เรื่องนโยบายสำคัญ ไม่น่าจะปล่อยให้เนิ่นนานอย่างนี้

ทำอย่างไร ให้นายกฯ เอาจริงเรื่องครู เรื่องโครงสร้าง ศธ. ไม่ใช่ Threat ร้ายแรงของ ศธ. เรื่องการเรียนการสอน เรื่องครู เรื่องผู้บริหาร ร.ร. ด่วนกว่า

อยากเห็นรัฐบาลทำเรื่องใหญ่ๆ เรื่องจิ๊บจ๊อยปล่อยให้ข้าราชการประจำทำไปก็ได้ ไม่อยากให้ข้าราชการการเมืองไปแย่งงานข้าราชการประจำมาทำ ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image