แก่น‘ธรรม’อันพึงตระหนัก โดย ไพรัช วรปาณิ

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเพื่อนผู้ใฝ่ธรรม คุณวัชระ ตันตรานนท์ อดีต ส.ว.เชียงใหม่ ที่ได้ส่งข้อความอันทรงคุณค่า ซึ่งเกี่ยวกับคำสอนพระพุทธเจ้า อันเป็นแนวทางที่เป็นการสร้างธรรมให้แข็งแกร่ง มั่งคง แน่วแน่ เป็นหนึ่งเดียว ศรัทธาในธรรม เคารพในธรรมอย่างสูง และปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดสติสัมปะชัญญะ สติปัญญา และญาณทัศนะวิสุทธิ์ สามารถหลุดพ้นจากอวิชา ตัณหา อุปาทานได้

ผู้เขียนเห็นว่าบทความนี้อาจจะก่อเกิดประโยชน์แก่ศาสนิกชนผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย จึงได้เรียบเรียง “นัย” แห่งคำสอนดังกล่าว มาเผยแพร่ เพื่อถ่ายทอดเป็นพุทธฎีกา แก่เพื่อนพ้องน้องพี่และแฟนๆ ผู้อ่าน “มติชน” ได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ดังนี้…

ประการแรก จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนา ปฏิเสธว่า มีผู้สร้างโลก ถือว่าความเชื่อนี้ไร้สาระโดยสิ้นเชิง ตรงข้าม โลกนี้ประกอบขึ้นจากเหตุธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ และลม ประกอบกันขึ้นมา

พระพุทธศาสนา ไม่ใช่ระบบความเชื่อที่จะใช้คำว่า Religion เพราะศัพท์นี้หมายถึง ต้องมีความเชื่อในพระเจ้าผู้สร้างโลก

Advertisement

จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา คือ ละกิเลสได้หมดแล้ว หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หรือวัฏสงสาร ไม่ใช่ไปแค่ไปเกิดบนสวรรค์เท่านั้น

พระพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้ปลดปล่อยสรรพสัตว์ให้รอด สรรพสัตว์ต้องช่วยตนเอง เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสและวัฏสงสาร

ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้า และสาวก คือ ครูผู้สอนและลูกศิษย์ ไม่ใช่ตัวแทนพระเจ้า และทาสผู้รับใช้

Advertisement

พระพุทธเจ้า ไม่เคยให้สาวกใช้ความเชื่อโดยปราศจากปัญญามานับถือ ตรงข้าม ทรงสอนให้ใช้ปัญญา พิจารณาคำสอนก่อนจะเชื่อและเห็นจริงด้วยตนเอง และผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ต้องนำคำสอนไปประพฤติและปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นด้วยตนเอง ไม่มีใครช่วยทำให้หลุดพ้น จากการเวียนเกิดเวียนตายได้ นอกจากให้แค่แนะนำ ชี้ทางที่ถูกต้องให้เท่านั้น

คำสอนพระพุทธเจ้า เป็นสัจธรรมประจำโลกที่เป็นและมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าทรงเป็นแต่เพียงผู้ค้นพบเท่านั้น พระองค์ไม่ใช่เป็นคนสร้างคำสอนขึ้นมา

นรกในพระพุทธศาสนาไม่ใช่สถานที่กักขังสัตว์อย่างนิรันดร์ บุคคลทำบาปแล้วไปเกิดในนรก เมื่อพ้นกรรมแล้วก็สามารถกลับไปเกิดในภพที่ดีกว่าได้ และสัตว์ที่ได้ไปเกิดในภพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภพเทวดา ภพมนุษย์ ภพเปรตวิสัย ภพเดรัจฉาน ก็สามารถเวียนกลับไปเกิดในนรกอีกได้เช่นกัน

พระพุทธศาสนา ไม่ได้สอนแนวคิดเรื่องบาปติดตัว เหมือนที่ศาสนาเทวนิยมสอน แต่สอนเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งมีทั้งกรรมขาว กรรมดำ และกรรมไม่ขาวไม่ดำ

พระพุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์และเทวดาทุกชีวิตมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้ ข้อสำคัญก็คือต้องใช้ความพยายามในการปฏิบัติ เพื่อชำระกิเลสให้พ้นไปจากจิตใจ พระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นมนุษย์สามัญธรรมดา ที่หลุดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะการประพฤติปฏิบัติมาหลายภพหลายชาติ

กฎแห่งกรรมของทุกสรรพสัตว์เป็นตัวอธิบายว่า เหตุใดคนถึงเกิดมาแตกต่างกัน กฎแห่งกรรมเป็นตัวอธิบายถึงภพภูมิที่สัตว์พากันไปเกิด

พระพุทธศาสนาเน้นให้แผ่เมตตากรุณาไปยังสรรพสัตว์ ทุกภพภูมิ ทรงสอนให้ละจากการประพฤติชั่วทั้งปวง คือ อกุศลกรรมบท 10 และให้ประพฤติปฏิบัติแต่กุศลกรรมบท 10

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเสมือนแพ หลังจากบำเพ็ญเพียรจนดับทุกข์ได้แล้ว จะอยู่เหนือบุญและบาป ธรรมะทั้งปวงจะต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น

ไม่มีสงครามศักดิ์สิทธิ์ในทรรศนะพระพุทธศาสนา การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยเจตนา ผู้กระทำจะต้องรับกรรมทั้งสิ้น จนกว่าจะหลุดพ้นจากวัฏสงสาร การฆ่าในนามศาสนายิ่งกระทำมิได้ในพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าสอนว่า กำเนิดสังสารวัฏ ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ถ้าหากสัตว์ยังดำเนินชีวิตไปตามอำนาจกิเลส

ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ย่อมต้องเวียนเกิดเวียนตายต่อไป

พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู (ผู้รู้ความจริงทุกเรื่องที่ทรงอยากรู้) และพระพุทธเจ้ามิใช่เทพเจ้าผู้ทรงมีอำนาจล้นฟ้า ดลบันดาลสร้างธรรมชาติต่างๆ ขึ้นมา การฝึกสมาธิสำคัญมากในพระพุทธศาสนา แม้ว่าศาสนาอื่นๆ ก็มีสอนให้คนมีสมาธิ แต่มีพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สอนวิปัสสนา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รู้แจ้งว่า ทุกสรรพสิ่ง เมื่อมีการเกิด ย่อมมีการดับ

หลักคำสอนเรื่อง สุญญตา หรือ นิพพาน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในพระพุทธศาสนา ถือเป็นคำสอนระดับสูงของพระพุทธศาสนาด้วย เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายทั่วโลกธาตุ ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ถาวร มีแต่ปัจจัยดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบกัน สรรพสิ่งในโลก จึงตกอยู่ในภาวะอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เหมือนกันหมด พระพุทธศาสนาจึงไม่สุดโต่งไปตามแนวศาสนาประเภทเทวนิยม หรือตามแนววัตถุนิยม ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ที่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย จนกว่าจะบรรลุธรรม จึงจะดับเย็นเข้าสู่นิพพาน

ประการต่อมา พระพุทธองค์ได้ชี้ให้ตระหนักว่า วัฏจักรหรือสังสารวัฏ ตราบใดที่สรรพสัตว์ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ก็จะเวียนว่ายตายเกิด ไปตามภพภูมิต่างๆ ตามแรงเหวี่ยงของกรรม ไม่สิ้นสุดจนกว่าจะบรรลุธรรม ดังนั้น ทุกสรรพสัตว์จึงต้องช่วยตนเอง เพื่อพัฒนาไตรสิกขา ให้หลุดพ้นจากโลภะ โทสะ และโมหะ หรืออวิชชา เพื่อการหลุดพ้นจากสังสารวัฏให้ได้

ดังที่ ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ อดีตเลขาธิการมูลนิธิพระพุทธศาสนาแห่งประเทศ ไทยกล่าวไว้ในหนังสือ “ทฤษฎีศูนย์ เพื่อประโยชน์สูงสุด” ตอนหนึ่งว่า “ธรรมหรือพระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นคำสั่งสอน ที่กล่าวถึงธรรมชาติของจิต ว่าเป็นสิ่งที่ ‘ว่างสงบ บริสุทธิ์’ หมายความว่าจิตเดิมแท้ของมนุษย์เรานั้น ‘ว่าง สงบ บริสุทธิ์ เป็นประภัสสร’ แต่ต้องเศร้าหมอง เป็นทุกข์ เพราะกิเลส-ตัณหา การปฏิบัติธรรมก็คือการให้ถึงความสว่าง ความสงบ ซึ่งเป็นจิตเดิมแท้ตามธรรมชาติ หรือกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมนั้นก็คือการเข้าถึงจิตที่แท้จริงของตัวเอง เพื่อจะได้รู้จักคุณค่าของจิตหรือรู้จัก ‘มโนธาตุ’ (ธาตุรู้) การปฏิบัติธรรม (ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค8) ทำให้เกิดสติปัญญา รู้เห็นความเป็นจริง รู้แจ้งเห็นจริงของธรรมชาติทั้งหลาย สามารถทำลาย ตัวตน รูปธรรม กิเลสตัณหาทั้งหลายลงให้หมดจนจิตไม่มีสิ่งอื่นใด นอกจากความสว่าง สงบ บริสุทธิ์ เท่านั้น”

ความบริสุทธิ์นั้นก็จะเป็นความสว่างไสว เป็น “อโลโก” ในทางโลกนั้น ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ประโยชน์สูงสุด แต่การปฏิบัติธรรม ทำทุกสิ่งให้หมดไปจากจิต พระพุทธองค์ทรงใช้ความว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ การนำสติปัญญาที่เกิดจากความว่างเป็นพลังสูงสุด ทำลายกิเลสตัณหาให้เป็น “สุญญตา” พ้นทุกข์ ชีวิตหรือจิตนั้นก็จะบริสุทธิ์มีความสุขยิ่ง เป็นอมตะ ไม่เกิดไม่ดับ หรือตายอีกต่อไป นับว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้นมีคุณวิเศษสุดอเนกอนันต์ และเป็นคำสอนที่ทันสมัยตลอดกาล

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม” ตอนหนึ่งเกี่ยวกับมโนกรรมที่สูงสุดของพระพุทธองค์ ว่า

“เมื่อกรรมดีจะส่งผล ก็ไม่มีอะไรหรือผู้ใดจะกีดกั้นยับยั้งได้ กรรมไม่ดีแรงกว่าเท่านั้นที่จะกีดกั้นขัดขวางได้ ไม่ให้กรรมดีอาจส่งผล แต่ถ้ากรรมดีแรงกว่ากรรมไม่ดี กรรมดีก็จะส่งผลจนได้ กรรมไม่ดีอาจขัดขวางไม่ได้ อะไรๆ ก็หาอาจขัดขวางได้ไม่

เมื่อกรรมไม่ดีจะส่งผล ก็ไม่มีอะไรหรือผู้ใดจะกีดขวางยับยั้งได้ กรรมดีที่แรงกว่าเท่านั้นที่จะกีดกั้นขัดขวางได้ ไม่ให้กรรมไม่ดีอาจส่งผล แต่ถ้ากรรมไม่ดีแรงกว่ากรรมดี กรรมไม่ดีก็ต้องส่งผลจนได้ กรรมดีหรืออะไรๆ ก็หาอาจขัดขวางได้ไม่”

กรรมดีทางใจที่สูงส่งใหญ่ยิ่งสุด ที่ยังให้บังคับเกิดผลดีที่ใหญ่ยิ่งสูงส่งที่สุด คือกรรมทางพระหฤทัยพระสิทธัตถราชกุมารก่อนแต่จะทรงตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้า

กรรมดีทางพระหฤทัยนั้น คือพระมหากรุณาที่จะทรงช่วยสัตว์โลกทั้งปวงให้พ้นทุกข์ เป็นกรรมดีที่ใหญ่ยิ่งสูงส่งที่สุด ไม่มีกรรมทางใจของผู้ใดเปรียบได้ กรรมทางพระหฤทัยพระสิทธัตถราชกุมารสูงสุดเต็มบริบูรณ์พระหฤทัย จึงเป็นเหตุให้เกิดผลเป็นกรรมทางพระกาย พระวาจาอย่างใหญ่ยิ่ง จนได้ถึงเสด็จออกบรรพชา แสวงหาทางเพื่อให้ทรงบรรลุจุดที่ทรงมุ่งหมาย

ทรงสละสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ย่อมไม่มีผู้ใดสละได้ เพราะสิ่งที่ทรงสละนั้นเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปปรารถนาจะไขว่คว้าให้ได้มาเป็นสมบัติของตน ทรงสละสิ่งอันเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขทุกประการ มีราชบัลลังก์เป็นสำคัญ ทรงเหนื่อยยากตรากตรำพระวรกาย ทรงสละความเป็นพระมหากษัตริย์ ลงสู่ความเป็นผู้ขอที่ไม่มีอะไรเป็นของพระองค์เลย

ทรงกระทำได้ถึงเพียงนี้ก็ด้วยทรงมีกรรมดียิ่ง ทางพระหฤทัย คือ มีพระมหากรุณาคุณเป็นมโนกรรม กรรมทางใจที่ให้ผลตรงตามเหตุ พระพุทธศาสนาที่สุดประเสริฐบังเกิดขึ้นเป็นผลแห่งพระมหากรุณาคุณ อันเป็นกรรมส่วนเหตุที่สุดประเสริฐนั้น เป็นผลสูงสุดตรงตามเหตุ คือกรรมสูงสุด”

ดังนั้น ผลของกรรมดีและผลของกรรมชั่ว มีทั้งคุณและมีทั้งโทษอยู่ในตัว คุณหรือโทษจะปรากฏตามการวางใจรับผลนั้น ผลของกรรมดีที่เกิดแก่ผู้ใดก็ตาม แม้ผู้นั้นวางใจรับไม่ถูก ไม่ประกอบด้วยปัญญา ผลดีก็จะไม่สมบูรณ์ ทั้งผลร้ายก็จะตามมาในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image