คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน การกำจัดความเสียของ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่อลดต้นทุนได้ 10 บาท องค์กรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย 10 บาท แต่ถ้าเพิ่มยอดขายได้ 10 บาท องค์กรได้ไม่เต็ม 10 บาท

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ทำไมองค์กรยังนิยมใช้วิธีการ “เพิ่มยอดขาย” มากกว่า “ลดต้นทุน”

ทุกวันนี้ แนวความคิดสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้ SMEs อยู่รอดในยุคดิจิทัลหรือยุค 4.0 จึงหนีไม่พ้นเรื่องของ “การลดต้นทุน” ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนากลยุทธ์ รูปแบบ และระบบการทำงาน รวมถึงบุคลากรอยู่เสมอ

ปัจจุบัน มีธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับปัญหาด้านประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ระบบกับกระแสธุรกิจในปัจจุบัน

Advertisement

ความไร้ประสิทธิภาพต่างๆ นี้ จึงเป็นที่มาของแนวความคิดแบบลีน (Lean Thinking) ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของ “การสร้างคุณค่า” และ “การกำจัดความสูญเปล่า” ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “เสียของ” ด้วย

แนวความคิดแบบลีน (Lean Thinking) คือ แนวทางที่จะขจัดความสิ้นเปลืองและสูญเปล่า (Wastes) ของทุกกิจกรรม และกระบวนการดำเนินงานที่ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่าในองค์กร เพื่อทำให้ต้นทุนรวมต่ำลง และจัดเรียงทุกๆ กิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ให้มีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่น้อยที่สุด เพื่อสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าโดยการใช้ทรัพยากรอย่างจำกัด

แนวความคิดแบบลีนที่ว่านี้ มีรากฐานมาจาก “ระบบการผลิตแบบโตโยต้า” (Toyota Production System : TPS) เพื่อรักษาการไหลเวียนของวัตถุดิบและสินค้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการผลิตเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ในปริมาณที่จำเป็น และในเวลาที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อขจัดความสูญเปล่าต่างๆ ในกระบวนการผลิตให้หมดไป

ความสูญเปล่าที่ต้องกำจัดตามวิถี The Toyota Way ได้แก่ ความสูญเปล่าที่เกิดจาก 8 ข้อ ต่อไปนี้

(1) การผลิตของเสียมากเกินไป
(2) การผลิตสินค้ามากเกินไป
(3) การต้องรอคิวนานเกินไป
(4) การขนย้ายบ่อย
(5) สินค้าคงคลังมากเกินไป
(6) การเคลื่อนไหวมากเกินไป
(7) ขั้นตอนการทำงานมากเกินความจำเป็น และ
(8) การใช้คนไม่ตรงความสามารถ

SMEs และผู้บริหารจึงสามารถนำแนวความคิดแบบลีนไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ โดยตอบคำถามข้างต้นแต่ละข้อว่า มีความสูญเปล่าหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

แนวความคิดแบบลีน (Lean Thinking) นี้ จึงไม่ใช่เพียงแต่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้เท่านั้น แต่ภาคธุรกิจบริการ และภาคราชการก็สามารถนำแนวความคิดนี้มาปรับใช้ได้ในทุกๆ กิจกรรมที่ดำเนินการ

ถ้าผู้บริหารค่อยๆ ไล่เรียงถามทีละข้อ (จาก 8 ข้อข้างต้น) แล้ว เราก็พอจะบอกถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของเราได้ ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image