ศึกษา จากอดีต เพื่อเข้าใจ “ปัจจุบัน” “รัฐธรรมนูญ”

คล้ายกับว่า การเสนอให้แปร “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557” ให้พัฒนาไปสู่ “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2557”

จะกลายเป็นเรื่อง “บ้า” หรือ “มโน”

แต่หากย้อนกลับไปศึกษากระบวนการของ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502” ก็จะต้องร้อง

“ฮ้อ” พร้อมเพรียงกัน

Advertisement

นี่คือผลิตผลทางการเมืองจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501

ว่ากันว่า มาจาก “สมองก้อนโต” พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 เป็นความต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495

Advertisement

มีบทบัญญัติเพียง 20 มาตราเท่านั้น

เจตนาเหมือนกับว่าเป็น “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” เพราะกำหนดให้มีการจัดตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้น เพราะเมื่อใดที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรก็ต้องยกเลิก

ผลเป็นอย่างไร

สภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น 1 ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ขณะเดียวกัน 1 ก็ทำหน้าที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกาศและบังคับใช้ต่อไป

อายุของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ยาวนานอย่างเหลือเชื่อ

ขณะเดียวกัน อายุของ “ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2502” ก็ยาวนานอย่างเหลือเชื่อ

เหนือกว่า “รัฐธรรมนูญ” ด้วยซ้ำไป

เพราะแม้กระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 การ “ร่าง” รัฐธรรมนูญก็ยังไม่เสร็จ

ตกทอดมาถึงยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร

กระทั่ง เมื่อ พล.อ.หลวงสุทธิสารรณกร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2511 นั้นหรอก

การ “ร่าง” รัฐธรรมนูญจึงเริ่ม “ขยับ”

เหตุผล 1 ซึ่งไม่ควรมองข้ามก็คือ

นายทวี บุณยเกตุ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนใหม่

ท่านผู้นี้เป็นสมาชิกคนสำคัญของ “คณะราษฎร”

จึงในวันที่ 20 มิถุนายน 2511 รัฐธรรมนูญจึงได้ประกาศและบังคับใช้

จากวันที่ 28 มกราคม 2502 มาถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2511 คือ ระยะเวลาของการประกาศและบังคับใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502

รวมเป็น 9 ปี 4 เดือน 23 วัน

จากที่เคยคิดว่าเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ก็กลายเป็นเรื่องค่อนข้าง “ถาวร” แม้จะมิได้ใช้คำว่า “ชั่วคราว” ก็ตาม

ยาวนานกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ที่ถูกยกเลิกในปี 2490

ยาวนานกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ซึ่งเรียกกันว่า “ฉบับใต้ตุ่ม” เพราะถูกยกเลิกเมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ประกาศและบังคับใช้

ยาวนานกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 เพราะเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2494 ก็นำเอารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 กลับมาแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2495

การแปร “ชั่วคราว” เป็น “ถาวร” จึงมิใช่เรื่องซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ขณะเดียวกัน การแปรสภาพ “ชั่วคราว” ให้ดำรงอยู่อย่างค่อนข้าง “ถาวร” ก็มิได้เป็นเรื่องบ้าหรือเรื่องมโนในทางการเมือง

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เคยทำมาแล้วจนถึงแก่ “อสัญกรรม”

จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เคยสืบทอดมาแล้ว และยืดระยะเวลาความเป็น “ถาวร” ออกไปอีกอย่างน้อยก็ร่วม 5 ปี

เห็น “ตัวอย่าง” หรือไม่ เห็น “บทเรียน” หรือไม่

ความเข้าใจในทางสังคมที่ว่าอาจมีการพัฒนาฉบับ “ชั่วคราว” ให้เป็นฉบับ “ถาวร” จึงมิใช่จะไม่มีความเป็นมา

เพียงแต่ในกรณีของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นเรื่องของรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 เพียงแต่ในกรณีของ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจ

ขณะที่ปัจจุบันเป็นเดือนมกราคม 2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image