จีนเปลี่ยนม้ากลางศึก ฟื้นฟูฮ่องกงสู่สภาพเดิม โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองของฮ่องกงได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2019 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีแต่ทรงกับทรุด กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ทำลายชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือ ในฐานะที่ฮ่องกงเป็น 1 ในศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก

รัฐบาลจีนต้องการให้ฮ่องกงกลับสู่สภาพเดิม จึงมีการปรับเปลี่ยนบุคลากรระดับสูง

ทั้งนี้ โดยสำนักนายกรัฐมนตรีจีนประกาศเมื่อวันที่ 4 มกราคมว่า

“ให้ปลดนายหวาง จื้อหมิน หัวหน้าสำนักประสานงานรัฐบาลจีนประจำฮ่องกงออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้นายลั่ว ฮุ้ยหนิง ดำรงตำแหน่งแทน”

Advertisement

“หวาง จื้อหมิน” ผู้ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเพียง 2 ปี 3 เดือน

ถือเป็นหัวหน้าสำนักงานที่มีอายุงานสั้นที่สุด

การปลด “หวาง จื้อหมิน” ครั้งนี้ รัฐบาลปักกิ่งกระทำท่ามกลางภาวะวิกฤตทางการเมือง

Advertisement

จึงถือเป็นการ “เปลี่ยนม้ากลางศึก”

สำนักประสานงานรัฐบาลจีน คือตัวแทนองค์กรแห่งอำนาจของปักกิ่ง สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลฮ่องกง

กล่าวได้ว่า “อำนาจเน็ตเน็ต”

มีข่าวเป็นระยะตั้งเดือนพฤศจิกายน 2019 ว่า เนื่องจากปักกิ่งไม่พอใจการทำงานของสำนักประสานงานในนาที
วิกฤตของฮ่องกง อีกทั้ง “หวาง จื้อหมิน” ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดอันเกี่ยวกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในฮ่องกง นอกจากนี้มีการเอื้อประโยชน์แก่คนรวย ห่างเหินจากชนชั้นระดับกลาง ดังนั้น รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาเปลี่ยนคนใหม่

และแล้วก็มีการเปลี่ยน

แต่การเปลี่ยนผู้นำระดับแนวหน้าได้กลายเป็น “Talk of the world”

ตามหลักตรรกะของการบริหารงานคือ “จัดคนให้เหมาะสมกับงาน”

แต่คำสั่งของรัฐบาลจีนครั้งนี้เป็นการย้อนแย้งกับตรรกะการบริหาร

ตำแหน่งหัวหน้าสำนักประสานงานเทียบเท่า “รัฐมนตรี”

ส่วน “แคร์รี่ หล่ำ” แม้เป็นผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง แต่ตำแหน่งคือ “ผู้ว่าการ”

ในทางนิตินัย สำนักงานประสานงาน ถือเป็นองค์กรอิสระ

ในทางพฤตินัยตำแหน่ง “หัวหน้า” มีอำนาจเหนือกว่าผู้ว่าหลายขุม เพราะว่า

“รับจ๊อบ” โดยตรงจากสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนตำแหน่ง “ผู้ว่าการ” เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลกลางเท่านั้น

หากจะเปรียบเทียบผู้ว่าเขตปกครองพิเศษฮ่องกงก็คือ “หุ่นเชิด” ของรัฐบาลจีน

หากจะเปรียบเทียบหัวหน้าสำนักประสานงานก็คือ “ร่างทรง” ของรัฐบาลจีน

ไม่ว่าหุ่นเชิด ไม่ว่าร่างทรง ล้วนอยู่ใต้อาณัติ “ปักกิ่ง”

การเปลี่ยน “หัวหน้า” สำนักประสานงานราวฟ้าผ่าครั้งนี้ นำมาซึ่งการวิพากษ์จากสังคมว่า จีนหาคนไม่ได้แล้วหรือไร จึงส่งคนวัย 65 เพิ่งเกษียณจากราชการหมาดๆ

กรณีจึงไม่ต่างไปจาก “รัฐเซียงกง”

การโจษจันเกี่ยวกับกรณี “ลั่ว ฮุ้ยหนิง” ดาษดื่น

1 ถูกกล่าวหาว่าเป็น “เด็กเส้น” อันเนื่องจากอดีตเป็นเพื่อนร่วมงานกับ “สี จิ้นผิง” สมัยที่ทำงานอยู่ที่มณฑลฝูเจี้ยน ในขณะที่ทั้งคู่ยังเป็นเจ้าหน้าที่ระดับเสมียน

1 เป็นคนมณฑลอานฮุยเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง

แม้ว่า “ลั่ว ฮุ้ยหนิง” เคยเป็นถึงผู้นำสูงสุดของมณฑลคือ “เลขาธิการพรรคมณฑลซานซี” แต่ยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกิจกรรมฮ่องกง และยังรู้เรื่องฮ่องกงไม่มากพอที่จะมาบริหารงาน

สภาพการณ์ฮ่องกงกับจีนมีความต่าง ระบบการบริหารที่จีน ไม่เหมาะกับฮ่องกง เพราะว่าจีนปกครองระบอบสังคมนิยม ฮ่องกงปกครองระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งเป็นระบบการปกครองต่างขั้ว

แม้ “ลั่ว ฮุ้ยหนิง” มีผลงานโดเด่นที่มณฑลซานซี คือ

1.ปราบโกง 2.ปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจ

ล้วนเป็นงานการพัฒนาท้องถิ่น

แต่การแก้ปัญหาฮ่องกงคือ ยุติความขัดแย้ง ฟื้นฟูสังคมให้กลับสู่ความสงบ

ถือเป็นปัญหาทางการเมืองระดับประเทศ

เป็นงานใหญ่และสำคัญ เพราะเสมือน “สะพานเชื่อม” ระหว่างจีน-ฮ่องกง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่อง “ภาษา” กล่าวคือ “ลั่ว ฮุ้ยหนิง” พูดภาษากวางตุ้งและอังกฤษไม่ได้ คนฮ่องกงส่วนใหญ่ก็พูดภาษาจีนกลางไม่ได้ จึงมีปัญหาในการสื่อสาร

แม้ใช้ล่ามแปลได้ แต่ก็ไม่ซาบซึ้งถึงใจเหมือนกับพูดเอง

อันภาษานั้นสำคัญมาก ถ้าพูดภาษาเดียวกัน จะดูเป็นกันเองมากขึ้น และจะได้ผลดีกว่า

แม้พื้นฐานการศึกษาของ “ลั่ว ฮุ้ยหนิง” คือเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต

แต่เป็นสายวิชาการ หรือเรียกกันตามภาษาจีนว่า “บุ๋น”

และงานที่ฮ่องกงค่อนข้างไปทาง “บู๊”

ดังนั้น มาดนักวิชาการอย่าง “ลั่ว ฮุ้ยหนิง” จะมารับงานนี้ คงไม่เหมาะเท่าใดนัก

ว่ากันว่า การที่รัฐบาลจีนเห็นว่า การส่งคนนอกพื้นที่มากำกับดูแล สามารถหลีกเลี่ยงการเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และพฤติการณ์ต่างตอบแทน

ไม่เห็นพ้อง เหตุผลคือ ประเด็นต้องขึ้นกับความซื่อสัตย์ของปัจเจกบุคคล

1 หากเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่ว่าจะอยู่ใดก็ซื่อสัตย์อยู่ร่ำไป

1 หากเป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ไม่ซื่อสัตย์อยู่ร่ำไป

ประเด็นที่จะต้องพิจารณาคือ “ลั่ว ฮุ้ยหนิง” เป็นคนซื่อสัตย์หรือไม่

รอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ตัดกลับไปที่ประเทศจีน ผู้นำจีนรุ่นเก่าที่ซื่อสัตย์สุจริต อาทิ “โจว เอินหลาย” นายกรัฐมนตรีจีนคนแรก เป็นที่เลื่องลือในความสัตย์ซื่อ เป็นที่รู้จักดีของชาวโลก

ครั้นเมื่อละจากโลกนี้ไปเมื่อ วันที่ 8 มกราคม 1976 ไม่ปรากฏมีทรัพย์สินใด นอกจากเสื้อผ้าใส่ทำงานเพียง 3 ชุด และเงินสดเพียง 700 หยวนเท่านั้น

เป็นตัวอย่างอันดีของชนชั้นกรรมาชีพ หรือกล่าวอีกนัย 1 คือ ชนชั้นที่ไม่มีทรัพย์สิน

แม้เงินสด 700 หยวน พิสูจน์มิได้ แต่ชุดทำงาน 3 ชุดปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์

“โจว เอินหลาย” ไม่เคยใส่เสื้อวันละสี หรือใส่ตามสีประจำวันเหมือนนักการเมืองแถบนี้

แม้ ฯพณฯ จากไปแล้วถึง 44 ปี แต่คุณงามความดีของท่านยังตราตรึงอยู่ในดวงใจของคนทั่วโลก มหาวิทยาลัยบางแห่งในสหรัฐยังนำภาพของท่านแขวนในห้องสมุด

ดังนั้น “ลั่ว ฮุ้ยหนิง” ก็ควรต้องเจริญรอยตามนักการเมืองรุ่นปู่ จึงจะทำงานชิ้นนี้ได้สำเร็จ

การทำงานของนักปกครอง ควรต้องปราศจากอคติ 4 ประการ คือ

ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ

เพราะเป็นสัจธรรม มีผลมากต่อการบริหาร ต่อการปกครอง และความสงบสุขของสังคม

หากมิฉะนั้น ก็จะเกิดการย้อนแย้งกับคำขวัญของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” อดีตผู้ยิ่งใหญ่ของจีน คือ

ฮ่องกงพรุ่งนี้ต้องดีกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image