การมาเยือนของ ‘สี ต้าต้า’ และทิศทางความสัมพันธ์พม่า-จีนในทศวรรษ 2020 โดย ลลิตา หาญวงษ์

ประธานาธิบดีสี กับด่อ ออง ซาน ซูจี ระหว่างการประชุมที่ปักกิ่งในปี 2017

ผู้เขียนขอกล่าวถึงการมาเยือนพม่าของสีจิ้นผิงก่อนในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะกลับมาเขียนเรื่อง “ออง ซาน กับรัฐพม่าสมัยใหม่” ตอนที่ 2 ในสัปดาห์หน้า

สี จิ้นผิง เป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกในรอบเกือบ 20 ปีที่มาเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ เขาเคยเดินทางมาเยือนพม่าครั้งหนึ่งแล้วในปี 2009 ในฐานะรองประธานาธิบดี สมัยประธานาธิบดีหู จิ่นเทา การมาเยือนของสีกินเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 17-18 มกราคม และจะใช้เวลาส่วนใหญ่ที่กรุงเนปยีดอ เมืองหลวงของพม่า เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าครบรอบ 70 ปี

กำหนดการในการเยือนพม่าครั้งนี้หลักๆ เป็นการพบปะบุคคลสำคัญในรัฐบาลพม่า รวมทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ด้วย แต่ที่น่าสนใจคือประธานาธิบดีสียังแสดงความสนใจพบกับกลุ่มบุคคลอื่นๆ นอกรัฐบาล โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายค้าน และพระภิกษุบางรูปก็ได้รับเชิญให้ร่วมพูดคุยกับประธานสีในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ สียังจะร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือทางการค้า การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต และความร่วมมืออื่นๆ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ในฐานะที่จีนเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในพม่า การมาเยือนของสีในครั้งนี้จึงมีความหมายทั้งในเชิงการค้า และความร่วมมือในมิติอื่นๆ ประเด็นที่จีนให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษคือการเจรจาเกี่ยวกับแผนระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า (CMEC) อันเป็นส่วนหนึ่งของอภิมหาโปรเจ็กต์เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ที่หยุดชะงักมาสักระยะหนึ่ง โครงการ CMEC คือแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเชื่อมจีนอาเซียนและภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียทั้งหมดในอนาคต รัฐบาลพม่าลงนามใน MOU กับรัฐบาลจีนมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017 หากโครงการนี้สำเร็จก็จะกลายเป็นหนึ่งในโครงการสร้างถนนและทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และจะทำให้มีรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานในจีนตอนใต้ ผ่านชายแดนรุ่ยลี่-มูเซ มาถึงมัณฑะเลย์ เมืองขนาดใหญ่ที่สุดในพม่าตอนบน และไปสิ้นสุดที่เมืองจ๊อกพยู เมืองสำคัญในรัฐยะไข่ ที่เปรียบเหมือนประตูสู่มหาสมุทรอินเดีย และเป็นเส้นทางการค้าข้าวระหว่างพม่ากับอินเดียมาช้านาน โครงการยังจะเชื่อมโยงจีนตอนใต้ไปจนถึงย่างกุ้งในพม่าตอนล่างด้วย

Advertisement

China Railway Eryuan Engineering Corporation (CREEC) ผู้ทำการสำรวจโครงการ CMEC ไปแล้วและต้องการเริ่มโครงการเมกะโปรเจ็กต์นี้ให้เร็วที่สุด บริษัท CREEC ที่มีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดพบกับปัญหาใหญ่เพราะรัฐบาลพม่าไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออื่นใดนอกเหนือไปจากการลงนามใน MOU และจนถึงตอนนี้ ทางบริษัทก็ทำการสำรวจเฉพาะเส้นทางจากด่านมูเซ-รุ่ยลี่ ชายแดนจีน-พม่า มาจนถึงมัณฑะเลย์เท่านั้น ไม่ได้สำรวจพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะเส้นทางในรัฐยะไข่ เนื่องจากโครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จ๊อกพยูมีรัฐบาลพม่าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ หากรัฐบาลพม่าไม่สามารถหางบประมาณได้เพียงพอเพื่อมาสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จ๊อกพยู โครงการ CMEC ทั้งหมดก็อาจจะล้มพับไป

เป็นที่คาดการณ์กันว่าไฮไลต์ของการเดินทางเยือนพม่าของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในครั้งนี้คือการขับเคลื่อนโครงการ CMEC และการเจรจาโครงการอื่นๆ ในแผนเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 6 โครงการที่ยังค้างเติ่งอยู่ ได้แก่ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จ๊อกพยู, โครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างเชื่อมมูเซกับมัณฑะเลย์, โครงการเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจชายแดน 3 แห่ง ที่
กันปิเกติ (Kanpiketi) ในรัฐกะฉิ่น เมืองฉิ่นฉ่วยฮอ (Chinshwehaw) และมูเซ (Muse) ในรัฐฉาน, การสร้างเขื่อนมยิตโซน, โครงการสร้างเมืองใหม่ทางตะวันตกของเมืองย่างกุ้ง ขนาดเกือบ 3 หมื่นไร่ และน่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนรวม 1.5 พันล้านเหรียญ, และโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจมยิตจีนา เมืองหลวงของรัฐกะฉิ่น
ทางตอนเหนือของพม่า

นับตั้งแต่รัฐบาลพม่าของประธานาธิบดีประกาศระงับการสร้างเขื่อนมยิตโซน เขื่อนพลังน้ำขนาดยักษ์ ในปี 2011 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าก็ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด และทำให้ผู้คนทั่วโลกเริ่มไม่เชื่อว่าจีนจะขับเคลื่อนโครงการ BRI ให้งอกเงยขึ้นได้ โครงการที่
จ๊อกพยูประสบปัญหาใกล้เคียงกับกรณีเขื่อนมยิตโซน เพราะการสร้างเมกะโปรเจ็กต์เหล่านี้ล้วนสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องที่ นอกจากนี้ รัฐบาลพม่ายังมองว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จ๊อกพยูนั้นมีราคาสูงเกินไป และเกรงว่าเป็นการสร้างหนี้มากเกินความจำเป็น

Advertisement

รัฐบาลจีนเข้าใจภาวะเศรษฐกิจในพม่าเป็นอย่างดี และแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการหยุดโครงการ CMEC ไว้ชั่วคราว และกลับมาให้ความสำคัญกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เจ้าพยูเป็นอันดับแรก หากไม่มีท่าเรือน้ำลึกที่เจ้าพยู โครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อเชื่อมจีนตอนใต้เข้ากับพม่าก็จะไร้ความหมายไปทันที และนักลงทุนภาคเอกชนจีนก็จะละความสนใจจากพม่า จริงอยู่ว่าจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และมีเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ภายใต้การบริหารงานของสี รัฐบาลจีนระมัดระวังกับการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และจะเลือกลงทุนกับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่คำนวณมาอย่างละเอียดแล้วว่า “คุ้มค่า” ที่จะเสี่ยงและลงทุน

การเดินทางเยือนพม่าของสี จิ้นผิงในเวลานี้นับว่าถูกต้องทั้งในด้านเวลาและด้านยุทธศาสตร์ เพราะพม่ากำลังมีปัญหากับชาติตะวันตกเนื่องจากวิกฤตโรฮีนจาและเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ ทำให้สังคมพม่าที่แม้จะไม่ได้ชื่นชอบจีนเป็นพิเศษ เทใจมาทางจีนมากขึ้น และทางการจีนรู้ดีว่าพม่า (โดยเฉพาะเขตที่มีทรัพยากรนอกชายฝั่งอันอุดมอย่างรัฐยะไข่) เป็นขุมทองที่ไม่สามารถปล่อยให้หลุดมือไปได้ ในท้ายที่สุด ประเด็นเรื่องความมั่นคงและเศรษฐกิจในเอเชียในทศวรรษนี้จะมาอยู่ที่การพัฒนาภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ (Global South) อื่นๆ หากจีนสามารถเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกลุ่ม Northern Alliance (ประกอบไปด้วยกองกำลังติดอาวุธในพม่าตอนบน ได้แก่ Kachin Independence Army หรือ KIA, Myanmar National Democratic Alliance Army ในเขตโกก้าง และ Ta’ang National Liberation Army ของชนกลุ่มน้อยตะอาง) จีนก็จะได้เครดิตเพิ่มขึ้น

แน่นอน การลงทุนไปเยือนพม่าของประธานาธิบดีสีในครั้งนี้ จีนไม่ได้หวังกลับปักกิ่งมือเปล่า แต่หมายถึงการเจรจาด้านเศรษฐกิจ ที่มีอนาคตของชนกลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่มเป็นเดิมพัน ตลอดจนเม็ดเงินมหาศาลที่จะเข้าไปในพม่าและออกไปจีน รวมถึงอนาคตของภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียที่จีนพยายามผลักดันอย่างหนักมานานด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image