ความจริงในห้องเรียน : ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูวันนี้ : โดย วิภาพ คัญทัพ

วันเด็กกับวันครูปีนี้ผ่านเข้ามาแล้ว จึงน่าจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูในปัจจุบันนี้ ซึ่งไม่น่าจะมีครูหรือเด็กออกมาเล่าได้บ่อยครั้ง หรือเล่าได้อย่างลึกซึ้งตรงไปตรงมาสักเท่าไร ค่าที่ว่าครูเกรงจะกระทบความสัมพันธ์กับเด็กๆ รวมถึงเพื่อนครูและผู้บริหารซึ่งร่วมงานอยู่ด้วยกัน หรือถ้าเป็นเด็กก็อาจจะยากที่จะกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ด้วยเหตุผลที่อยู่เหนืออารมณ์

ดังนี้ จึงทำให้ปัญหาบางอย่างในห้องเรียนดำรงอยู่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะคนมองเห็นปัญหาอาจมีแค่เฉพาะที่ผู้อยู่ในวงการศึกษาด้วยกัน และไม่มีครูผู้กล้าพูดเสียงดังๆ ในที่สาธารณะ เพราะความเกรงใจดังกล่าวมา และไม่มีเด็กคนไหนออกมาพูด เพราะไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่จริงสำหรับเขา นอกจากนี้ยังไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะประมวลความคิดออกมาอย่างเป็นระบบเพียงพอที่จะพูดกับสาธารณชนในวงกว้าง

ผู้เขียนเป็นครูมาหลายปีและสอนมาหลายระดับ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตลอดจนถึงมหาวิทยาลัย รู้จักและเข้าใจอารมณ์ความคิดของเด็กพอสมควร แต่ปัญหาที่กำลังจะพูดถึงนี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน เด็กในที่นี้จึงหมายถึงเยาวชนที่มีอายุเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นแล้ว

สมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็ก ครูอยู่ในสถานะของผู้ที่ควรเคารพนับถือซึ่งมีหลายบุคลิก ครูดุ ครูใจดี ครูขี้เล่น ฯลฯ เราสนุกกับการได้พบปะกับครูหลายรูปแบบ เพราะครูเราเป็นมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่สังเคราะห์ขึ้นมาให้มีบุคลิกเดียว แต่ไม่ว่าครูจะเป็นอย่างไร เราในฐานะผู้เรียนต้องรู้จักปรับตัวให้สามารถที่จะได้รับความรู้จากครูแต่ละท่าน แน่นอนการรับการส่งอาจจะดีไม่เท่ากัน เพราะความเป็นมนุษย์นั้นละเอียดอ่อนยิ่งนัก แต่อย่างไรก็ตามครูส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด เมื่อเลือกมาอยู่ในอาชีพครูแล้ว ก็จะมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ รักเด็ก รักความรู้ ไม่ใฝ่อำนาจ วาสนาและเงินตรา เพราะถ้ามุ่งหวังนอกเหนือจากนั้น ตนคงจะต้องดิ้นรนเพื่อไปประกอบอาชีพเป็นอย่างอื่น

Advertisement

น่าเสียดายเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนไม่เห็นครูได้รับการส่งเสริมให้มีชีวิตที่สดชื่นเพื่อการประกอบอาชีพตามอุดมคติอย่างมีประสิทธิภาพ และเท่าที่เห็นครูโดยส่วนใหญ่เป็นผู้น้อยหน้าในสังคมเมื่อยืนขึ้นเพื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นๆ สังคมรู้แต่ก็มิได้เหลียวแลอาชีพครูสักเท่าไร ทั้งที่ทุกคนก็เคยมีครู ยิ่งครูทุกวันนี้โชคร้ายหนักยิ่งขึ้นเพราะนอกจากจะอยู่ในงานที่ไม่ได้รับสวัสดิการที่ดีเพียงพอแล้ว แม้แต่ความเป็นตัวเองในห้องเรียนก็ยังมีโอกาสได้แสดงออกอย่างน้อยลงไปอีก ตามสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะในสถาบันเอกชน ครูคือลูกจ้าง แต่เด็กคือลูกค้า

เด็กทุกวันนี้ได้รับสิทธิในการประเมินครูอย่างเป็นทางการ ทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยซึ่งริเริ่มให้เด็กประเมินครูมานานแล้ว การประเมินนี้คงจะมีหลายรูปแบบด้วยกันตามแต่ละสถาบันจะกำหนดลงไป บางแห่งให้เด็กเขียนเป็นลายมือ บางแห่งให้กรอกลงคอมพิวเตอร์ มีทั้งคำถามปลายเปิด คำถามแบบปรนัย หรือคำถามแบบประเมินค่ามากน้อย ผลที่ออกมาก็อาจนำมาพิจารณาอาจารย์แต่ละท่านแตกต่างกันไป โดยรวมเรียกกันว่าแบบประเมินอาจารย์

โดยธรรมชาติของการประเมินสิ่งใดก็ตาม หากจะให้มีความเที่ยงธรรมแก่ผู้ได้รับการประเมินแล้ว จำเป็นที่ผู้ประเมินจะต้องทรงคุณวุฒิ มีมารยาทหรือรับรู้กติกาในการประเมินให้มากพอสมควรเสียก่อน ทำนองเดียวการประเมินการกีฬา หรือศิลปะทุกประเภท

Advertisement

แต่ในวงวิชาการกลับตรงกันข้าม กล่าวคือ มักไม่มีมาตรฐานและที่สำคัญผู้ประเมินกลับเป็นผู้ที่อ่อนทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ การไม่มีมาตรฐานนั้นมักอ้างทำนองว่าต้องการให้เกิดเสรีภาพในการประเมินอย่างมากที่สุด และการที่ผู้ประเมินอ่อนทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ ก็เพราะผู้ประเมินเป็นเด็ก แต่ทว่าเด็กก็คือเด็กที่อยู่ในวัยเรียนรู้โลก การกลั่นกรองเรื่องราวที่เข้ามากระทบกับตัวเขานั้น มักเป็นไปในลักษณะนำอารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผล

ผลที่ออกมาจึงอาจเขียนแสดงความคิดเห็นเกินเลยไปจากความเป็นจริง การนำผลการประเมินอาจารย์ไปใช้จึงควรมีความระมัดระวังว่าจะนำไปใช้ในแง่ใดอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางมาตรฐานในเรื่องการใช้ผลจากแบบประเมินนี้สำคัญนัก เพราะไม่เช่นนั้น อาจมีผู้นำผลการประเมินไปใช้ในทางไม่สร้างสรรค์ได้

เช่น อาจมีอาจารย์ที่เป็นผู้ร่วมงานนำไปสกัดกั้นความก้าวหน้าของอาจารย์ด้วยกันเอง ซึ่งการสกัดกั้นความก้าวหน้านี้ก็อาจกระทำได้ในหลายรูปแบบ ผลการประเมินจากผู้เรียนซึ่งน่าจะได้ใช้ภายในห้องเรียน จึงถูกขยายขอบเขตไปใช้นอกพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรมสักเท่าไรกับตัวผู้ได้รับการประเมิน

ความจริงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ผู้ที่สามารถจะประเมินได้ควรเป็นผู้ที่อยู่ในห้องเรียนด้วยกันเองเท่านั้น ยิ่งผู้ที่จะนำผลไปใช้ก็ควรจะเป็นผู้ที่อยู่ในห้องเรียนด้วยกัน เช่น ผู้สอนนำกลับมาพิจารณาใคร่ครวญเพื่อปรับปรุงการสอน หรือผู้เรียนนำผลมาปรับปรุงการเรียนของตนเอง ไม่ใช่ใครจะนำผลไปใช้ทำอะไรที่ไหนก็ได้ ทั้งที่ตนไม่ได้อยู่ในสถานการณ์การเรียนการสอนดังกล่าว ความจริงแม้กระทั่งการรับรู้เรื่องราวก็ไม่ควรเป็นไป การเรียนการสอนของครูควรจะได้รับเกียรติเช่นเดียวกับการบำบัดรักษาของแพทย์ที่มีป้ายติดมิให้ถ่ายภาพหรือบันทึกเสียงใดใด

นอกจากนี้ การประเมินอาจารย์โดยนักเรียน-นักศึกษา บางกรณีก็ไกลเกินของเขตของการสอน เช่น เรื่องของบุคลิก การแต่งกาย มารยาท การพูดจาและรสนิยมของครู ซึ่งในฐานะที่ครูเป็นสื่อการสอนอย่างหนึ่ง ว่าที่จริงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อการเรียนการสอน

เมื่อเป็นดังนี้ ยิ่งทำให้การสร้างกรอบการประเมินอาจารย์ควรเป็นไปอย่างชัดเจน มีมาตรฐาน และต้องรับประกันได้ว่า การนำผลที่ได้มาพิจารณาควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาอย่างแท้จริง

วิภาพ คัญทัพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image