มหาวิทยาลัยแถวท่าพระจันทร์และครูของข้าพเจ้า : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

ผู้เขียนเรียนที่มหาวิทยาลัยแถวท่าพระจันทร์ กิจกรรมในมหาวิทยาลัยสมัยนั้น ซึ่งย้อนเวลาไปมากหน่อย ดูสนุกบันเทิงดี โดยเฉพาะคณะศิลปศาสตร์เป็นสีสันของมหาวิทยาลัย คณะนี้เรียนสนุกไม่เครียด ครูบาอาจารย์หลายท่านก็น่านับถือ ได้สร้างสรรค์สิ่งดีให้สังคมมากมาย และสร้างอย่างหลากหลายเสียด้วย นอกจากทางศิลปวัฒนธรรมแล้ว ท่านเลยไปเรื่องประชาธิปไตยนั่นเลยทีเดียว

มีเรื่องเล่ามากมายล้วนแต่ออกรสทั้งนั้น

ครั้งหนึ่งมีการบวงสรวงของมหาวิทยาลัย เข้าใจว่าคณะศิลปศาสตร์เป็นแม่งาน การบวงสรวงครั้งนี้มีขึ้นเพื่อค้นหาถ้อยคำที่ขาดหายไปในศิลาจารึก การบวงสรวงไม่ได้ทำในมหาวิทยาลัย แต่ได้ทำในสถานที่จริง ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลหรือมูลเหตุตามศิลาจารึก ทางบรรดาอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ และนักศึกษา พร้อมกับครูอาจารย์ของพราหมณ์ได้ร่วมกันจัดพิธีบวงสรวงแบบโบราณอย่างครบถ้วน และมีการแสดงละครเพื่อเสี่ยงทายว่าเรื่องราวในศิลาจารึกที่ขาดหายไปนั้นจะตรงตามที่ตัวละครได้แสดงหรือไม่ ถ้าตรงก็ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แสดงอภินิหารให้รู้ว่าตรง ถ้าไม่ตรงก็ให้แสดงให้รู้ให้ประจักษ์เป็นสัญลักษณ์ว่าไม่ตรง

ในวันนั้นละครแสดงไปได้พักหนึ่ง ก็มีเสียง “ตูม” ดังสนั่นขึ้น เหมือนระเบิด ได้ความในทันทีตอนนั้นว่าอาจจะเป็นหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดและไฟฟ้าดับ ในขณะเดียวกันลมก็พัดแรงขึ้นขนาดที่กระแสลมกระทบมุมตึกมีเสียงดังหวีดหวิว ลมพัดสิ่งของกระจัดกระจายไปหมด และเสียงอื่นๆ ไม่รู้ว่ามาแต่ไหนก็ดังประจวบกันขึ้นมา เป็นต้นว่าเสียงแตรรถตามถนนเสียงดังสนั่น เสียงหม้อไหถ้วยชามของแม่ค้าขายกับข้าวแถวนั้นตกหล่นเสียงดังโครมคราม คนที่เดินแถวนั้นก็ร้องเอะอะโวยวายขึ้นไม่ทราบสาเหตุว่าเพราะอะไร ฟังไม่ได้ศัพท์ ฟังดูก็ไม่รู้ความว่าพูดอะไร หรือภาษาอะไร และเสียงโดยรอบบริเวณนั้นพร้อมใจกันอึกทึกโกลาหลไปหมด เป็นอันว่าต้องเลิกทำพิธีกันเดี๋ยวนั้นทันที และรีบแยกย้ายกระเจิดกระเจิงกันกลับบ้านไป

Advertisement

นับแต่นั้นไม่มีใครกล้าทำพิธีอะไรแบบนั้นขึ้นอีก

ความจริงแนวความคิดบวงสรวงทำละครเสี่ยงทายอะไรๆ นั้น เป็นความคิดที่เท่มากในยุคนั้น และน่าจะเท่จนถึงยุคนี้ และไม่ใช่วิธีการแบบอย่างคนที่จนหนทาง แต่เป็นทางเลือกหนึ่งของความเชื่อว่ามีสิ่งต่างๆ ในโลกคู่ขนานที่เรามองไม่เห็น อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นความทุ่มเทของครูบาอาจารย์ทางภาษาศาสตร์ที่พยายามค้นหาความรู้ด้วยวิธีทางภาษาศาสตร์ และไสยศาสตร์ หรือทางอื่นๆ อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามความรู้ที่มี เรามีวิธีการที่หลากหลายเพราะเรามีเสรีภาพ

ความจริงผู้เขียนไม่ใช่นักศึกษาในคณะศิลปศาสตร์แต่ชอบไปดูอะไรๆ แถวนั้น และชอบไปนั่งเล่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงใต้ตึกคณะมีที่นั่ง และมีกลิ่นน้ำซึ่งลมพัดโชยมา ตอนนั้นแม่น้ำเจ้าพระยายังดีอยู่ ในบริเวณที่นั่งนั้นยังประกอบไปด้วยหมอดูในศาสตร์ต่างๆ ทั้งดวงไทยและดวงจีนนั่งอยู่แถวนั้นด้วย ล้วนเป็นแหล่งรวมของความรู้หลายสาขา ทั้งทางจิตศาสตร์ และความเชื่อนานาชนิด ที่สำคัญคือมีเสรีภาพ ณ ที่นั้น ชาวบ้านมานั่งเล่นในมหาวิทยาลัยได้ ทุกวันนี้ก็ยังมี

Advertisement

ย้อนไปในตอนนั้นนักศึกษานิยมแต่ชุดไปรเวต และนักศึกษาหญิงไม่นิยมแต่งหน้า ไม่แต่งตัวกันเลย เป็นบรรยากาศของการศึกษาจริงๆ ที่ไม่เน้นสิ่งอื่น นักศึกษาใส่เสื้อยืดและกางเกงยีนส์ แต่ก็แต่งตัวรัดกุมไม่เปิดเผยเนื้อหนัง หากเทียบกับการใส่ชุดนักศึกษาในปัจจุบันนี้แต่เผยเนื้อหนังแล้ว ผู้เขียนนิยมอย่างเก่า สมัยนั้นผู้เขียนมีเพื่อนที่หน้าตาดีจัดว่าสวยอยู่หลายคน คนสวยสมัยนั้นสวยแบบธรรมชาติไม่มีใครทำศัลยกรรม บางคนมีฐานะดีขับรถบีเอ็มมาเรียนแต่ขับรถไปแอบไว้ ทำผมยุ่งๆ แล้วเดินเท้าเข้ามาในมหาวิทยาลัยเพราะกลัวว่าเพื่อนจะเกร็งไม่กล้าคบด้วย คล้ายๆ กับเป็นสังคมที่มีคนถ่อมตัวไม่ค่อยอวดกันเท่าไหร่ สังคมในมหาวิทยาลัยในตอนนั้นดูเป็นธรรมชาติมากจนแทบทุกคนหลงรักมหาวิทยาลัยนี้ ดินแดนที่เป็นมิตรกับชาวบ้านและเสรีภาพทุกตารางนิ้ว พร้อมกับค่าเล่าเรียนที่ยังจัดว่าราคาถูกอยู่ในสมัยนั้น

ฉะนั้น ลูกชาวบ้านและลูกผู้มีตระกูลจึงมาเรียนด้วยกันคบกันเป็นเพื่อนและเรียนรู้ชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย

ที่เล่ามาอย่างนี้ก็เพื่อให้เห็นภาพว่ามหาวิทยาลัยที่ย้อนไปประมาณยี่สิบสามสิบปีที่แล้วเป็นอย่างไร เขาเรียนกันอย่างไร เขาสอนกันอย่างไร มหาวิทยาลัยของรัฐในยุคนั้นทำหน้าที่สมบูรณ์แบบอย่างไร อาจารย์ของผู้เขียนบางท่านซึ่งความจริงต้องบอกว่าหลายท่านดำรงตนอย่างสมถะเป็นผู้ที่ให้มากกว่ารับ เป็นบุคคลที่น่านับถือ เป็นบุคคลที่ควรกราบไหว้ อาจารย์บางท่านเป็นผู้พิพากษา ท่านเดินเท้าผ่านสนามหลวงมาสอนนักศึกษาด้วยตัวท่านเอง พอสอนเสร็จท่านก็เดินกลับ

ในการเรียนปีที่หนึ่งเป็นการเรียนความรู้พื้นฐาน นักศึกษาจะได้เรียนกับอาจารย์ในสาขาวิชาต่างๆ จากต่างคณะ อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ก็ยังคงความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ดังเช่นอาจารย์ที่สอนวิชาภาษาไทยท่านหนึ่งผู้เขียนยังจำไม่ลืม ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้แต่งเรียงความให้อาจารย์ท่านนี้ตรวจ ด้วยความที่ตั้งใจกับเรียงความชิ้นนี้มากก็ได้สอดแทรกภาษาที่แสดงอารมณ์และออกรสต่างๆ ไว้มากมาย อาจารย์เรียกไปพูดว่า “คุณยังเป็นนักศึกษาอยู่ยังใช้ภาษาแบบนักเขียนไม่ได้ ตอนนี้ขอให้คุณเคร่งครัดในแบบฟอร์มการเขียนหนังสือในลักษณะมาตรฐานไปก่อน เมื่อได้ทำงานเขียนจริงจังแล้วค่อยใช้สำนวนโลดโผนอย่างไรก็ได้” และเมื่อผู้เขียนได้ทบทวนดูเรียงความของตัวเองในตอนนั้น แม้จะไม่เห็นด้วยกับอาจารย์เพราะภาษาย่อมต้องมีอิสระมากกว่านั้น แต่ก็ได้ยึดถือหลักของอาจารย์ไว้ว่าจะเขียนอะไรก็ตามต้องมีหลัก แบบแผนเป็นแกนกลางไว้ก่อน แล้วค่อยโลดโผนได้ในเวลาที่เหมาะสม นับว่าอาจารย์ท่านนี้เป็นครูที่จริงใจ และสิ่งที่พูดก็เหมือนเป็นคำอำนวยพรอยู่ในตัว ความจริงท่านไม่พูดก็ได้แล้วก็ให้คะแนนไปตามเรื่องตามแต่ใจท่านซึ่งท่านย่อมทำได้เสมอ แต่ท่านไม่ทำอย่างนั้น

ท่านกลับมีเมตตาชี้ทางสว่างให้เพราะความเอาใจใส่ที่มีต่อลูกศิษย์ เป็นที่น่าประทับใจมาก

ต่อมาอีกหลายปี ในครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนได้เขียนบันทึกข้อความในงานที่ทำอยู่และบันทึกข้อความนั้นควรจะต้องใช้ภาษาทางการมากๆ ผู้เขียนได้เผลอเขียนสำนวนอย่างที่ชอบไปครั้งหนึ่ง ผู้ที่ตรวจงานตามลำดับชั้นเรียกไปคุยด้วย เขากล่าวว่า “อ่านบันทึกข้อความของคุณแล้วน้ำตาไหล นึกว่าอ่าน นวนิยาย” ผู้เขียนนึกถึงอาจารย์สมัยเรียนมหาวิทยาลัยท่านนั้นทันที และผู้เขียนสวนกลับไปทันทีเหมือนกันว่า “สาระก็มี” ให้สกัดความเป็นสาระของบันทึกข้อความออกมาก็จะเห็นประเด็นสำคัญที่แสดงคุณภาพของงานเขียนนั้น ส่วนสำนวนก็ไม่ต้องไปสนใจ คุณพระคุณหลวงและข้าราชการในสมัยโบราณท่านเขียนงานในราชการท่านก็ใช้สำนวนของตัวเอง

“คนขายก๋วยเตี๋ยวยังมีเสรีภาพในการปรุงรสก๋วยเตี๋ยว ผู้เขียนทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมใช้สำนวนออกรสบ้างไม่ได้เชียวหรือ”

ย้อนกลับไปในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น มีครูตัวจริงซึ่งเป็นที่น่านับถืออยู่มาก ผู้เขียนหวังว่าในปัจจุบันน่าจะยังมีอยู่ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ความเป็นกึ่งกลางของสิ่งสองสิ่งระหว่างความเป็นราชการและเอกชนนั้นเป็นอะไรกันแน่ จะเป็นการรวมสิ่งที่ดีของทั้งสองระบบเข้าด้วยกันอย่างที่หวังไว้ หรือเป็นการรวมสิ่งแย่ๆ ของทั้งสองระบบเข้าด้วยกัน

เรื่องเล่านี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก เป็นเรื่องเล่าในโอกาสที่เป็นวันครู เป็นวันที่เราต้องทบทวนอะไรบ้างตามสมควรเท่านั้นเอง และเป็นที่น่าคิดว่าความประทับใจระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ในยุคนี้จะยังคงมีอยู่หรือไม่ จะทำอย่างไรให้มีอยู่ในระบบที่รังแกบุคคลที่เกี่ยวข้องเสียเหลือเกิน สิ่งที่ควรคิดต่อไปคือจะทำอย่างไรที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ครูอยู่อย่างสุขสบาย ไม่เดือดร้อน มีเสรีภาพตามสมควร จะได้สอนลูกศิษย์ได้เต็มที่

คนเราต้องมีครู ไม่มีครูไม่ได้ เพราะจะไม่ได้รับความรู้แบบลึกซึ้ง เป็นต้นว่า การเรียนในสาขาศิลปศาสตร์และโบราณคดี มีเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนจำขึ้นใจ เป็นวิธีการดูศิลปะการแกะสลักหินที่เป็นลวดลายพญานาคเทียบกันระหว่างศิลปะสมัยทวารวดีกับสมัยลพบุรี สมัยทวารวดีเก่ากว่าแน่นอน แต่ถ้าดูด้วยตาเป็นการประเมินคร่าวๆ โดยยังไม่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์จะทำอย่างไร มีข้อคิดจากครูบาอาจารย์สั่งสอนว่า “ถ้าดูรูปพญานาคแล้วหน้าเหมือนลิงให้ตีว่าเป็นศิลปะทวารวดี ถ้าดูแล้วพญานาคมีปากแหลมดูคล้ายหมูให้ตีว่าเป็นศิลปะลพบุรี”

คำสอนของครูเพียงสิบคำนี้มีค่าดั่งทองคำ ใช้ประเมินสมัยของศิลปะที่พบได้ชะงัดนัก ถูกต้องแม่นยำมาก และการอ่านหนังสือเอาบางทีก็ไม่ได้ผล ต้องได้รับการสอนจากปากอาจารย์เท่านั้นในบางเรื่อง ที่คนโบราณเขาให้ครอบครูหรือไหว้ครูเวลาจะเรียนวิชาอะไรลึกซึ้งคงเป็นเช่นนี้นี่เอง

ความจริงบทความนี้ได้แสดงการเขียนรวมเรื่องสัพเพเหระ ประกอบด้วยเรื่องที่ไม่เข้ากันเลยไว้ด้วยกัน กึ่งบทความกึ่งเรื่องสั้น ด้วยวิธีการแปลกๆ แบบนอกครูอีกแล้ว ซึ่งถือเป็นการบูชาคุณครูแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง ในโอกาสวันซึ่งเราระลึกถึงครู หรือวันครู อีกครั้งหนึ่ง

และสมัยนี้ ขอฝากเรื่องสัพเพเหระอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ค่อยเกี่ยวกัน คือ การงดใช้ถุงพลาสติกนี้รบกวนจิตใจผู้เขียนเหลือเกิน ด้วยเป็นห่วงว่าเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ซื้อของต้องหอบหิ้วพะรุงพะรังโดยไม่มีถุงใส่ และยังต้องสะพายกระเป๋าหนังสือและขวดน้ำ กลัวว่าเวลาเดินข้ามถนนจะห่วงหน้าพะวงหลัง จะอันตรายได้ไม่คุ้มเสีย ผู้ใหญ่ช่วยกันพิจารณาให้ถ้วนถี่กันจะดีกว่าหรือไม่

แต่เรื่องเรื่องนี้จะว่าไม่เกี่ยวก็ไม่ได้เพราะคนเป็นครูก็รักลูกศิษย์เห็นลูกศิษย์อยู่ในอันตรายก็ย่อมเป็นห่วง ทรรศนะของคนที่คิดอย่างครูย่อมมีมุมมองที่ลึกซึ้ง จนบางครั้งก็ห่วงคนอื่นมากกว่าตัวเอง

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image