โรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

โรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

โรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

โรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ เป็นโรคที่มีอาการและอาการแสดงที่ชัดเจน นอกจากนี้ มีบางโรคอาจจะเกิดจากการป่วยมาตั้งแต่กำเนิดด้วยโรคพันธุกรรม โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากพฤติกรรมวิถีชีวิตของประชาชน แต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ นอกจากนี้แล้ว มักจะเกิดจากอุบัติเหตุ การติดเชื้ออักเสบ บางรายมีก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง หรือบางรายอาจจะเกิดจากภูมิต้านทานบกพร่องและมีอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย เช่น SLE เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนจะสื่อสารองค์ความรู้ โรคที่เกิดจากระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal system) โดยสรุปให้รู้ เข้าใจและปฏิบัติตัวให้ถูกต้องในแง่ของการป้องกัน ควบคุม และการรักษาตัวง่ายๆ บางโรคอาจไม่ต้องกินยาแก้ปวดรักษาโดยไม่จำเป็น เป็นเพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนั่ง นอน เดิน วิ่ง การทำงานในอิริยาบถต่างๆ ตลอดจนการทำงานให้ถูกหลักการของงานอาชีวอนามัยก็จะหายเองได้ เป็นต้น และควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น

1.โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง (Musculotendinous strain)

โรคปวดกล้ามเนื้อหลังเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดหลัง พบได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เป็นต้น เป็นภาวะที่ไม่มีอันตราย และมักจะหายได้เอง แต่อาจจะเป็นๆ หายๆ เรื้อรังได้ สาเหตุ : มักเกิดจากการทำงานก้มๆ เงยๆ ยกของหนักในท่าที่ไม่ถูกต้อง ใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป หรือนอนที่นอนนุ่มเกินไป ทำให้เกิดแรงกดตรงกล้ามเนื้อสันหลังส่วนล่าง ซึ่งจะมีอาการเกร็งตัวทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง คนที่อ้วนหรือหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ก็อาจจะมีอาการปวดหลังได้เช่นกัน อาการ : ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตรงกลางหลังส่วนกลาง (ตรงบริเวณกระเบนเหน็บ) ซึ่งอาจจะเกิดฉับพลัน หรือค่อยเป็นทีละน้อย อาการปวดอาจจะเป็นอยู่ตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะในท่าบางท่า การไอ จาม หรือบิดตัว เอียงตัวอาจทำให้รู้สึกปวดมากขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะแข็งแรงดี และไม่มีอาการผิดปกติ

Advertisement

สิ่งตรวจพบ มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ บางรายอาจพบอาการเกร็งของกล้ามเนื้อหลัง

การรักษา 1) ให้สังเกตว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แล้วแก้ไขเสีย เช่น ปวดหลังตอนตื่นนอน ก็อาจเกิดจากที่นอนนุ่มไปหรือนอนเตียงสปริง ก็แก้ไขโดยการนอนบนที่นอนแข็งและเรียบแบน ถ้าปวดหลังตอนเย็นๆ ก็มักจะเกิดจากการนั่งตัวงอนานเกินไป หรือใส่รองเท้าส้นสูงเกินความจำเป็น ก็พยายามนั่งให้ถูกท่า หรือเปลี่ยนรองเท้าธรรมดาแทน ถ้าอ้วนไปก็พยายามลดน้ำหนัก

2) ถ้ามีอาการปวดมากให้นอนหงายบนพื้น หรือจะใช้ยาหม่องหรือน้ำมันระกำทานวด หรือใช้น้ำอุ่นจัดๆ ประคบก็ได้ ถ้าไม่หายก็ใช้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด จะกินควบกับ ไดอะซีแพม ขนาด 2 มิลลิกรัมด้วยก็ได้ ถ้ายังไม่หาย อาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น เมโทคาร์บามอล คาร์โซมา ครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำได้ ทุก 6-8 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรนอนที่นอนแข็งๆ และหมั่นฝึกการบริหารใช้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง

Advertisement

3) ถ้าปวดเรื้อรัง หรือมีอาการปวดร้าวลงมาที่ขาหรือชาที่ขา หรือขาไม่มีแรง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาล หมออาจจะส่งตรวจเอกซเรย์ และ/หรือตรวจพิเศษอื่นๆ และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ

ข้อแนะนำ อาการปวดหลังแบบนี้เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในหมู่ชาวไร่ชาวนา กรรมกรที่ทำงานหนัก และในหมู่คนที่ทำงานนั่งโต๊ะทำงาน ซึ่งมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคไต โรคกษัย และซื้อยาชุด ยาแก้กษัย หรือยาแก้โรคไตกินอย่างผิดๆ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดโทษได้ ดังนั้นจึงควรแนะนำชาวบ้านให้เข้าใจถึงสาเหตุของอาการปวดหลัง และควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

โดยทั่วไปอาการปวดหลังเนื่องจากกล้ามเนื้อ มักจะปวดตรงกลางกลัง (บริเวณกระเบนเหน็บ) ส่วนโรคไตมักจะปวดที่สีข้าง (มักเป็นข้างเดียว) และอาจมีไข้หนาวสั่น หรือปัสสาวะขุ่นหรือแดงร่วมด้วย การป้องกัน : มาตรการที่สำคัญ เนื่องจากโรคนี้สามารถป้องกันได้โดยระวังรักษาอิริยาบถ (ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน หรือท่ายกของ) ให้ถูกต้องหมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อหลังเป็นประจำ และนอนบนที่นอนแข็ง

2.โรครากประสาททถูกกด หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน (Herniated Intervertebral discs)

โรคนี้พบได้บ่อยๆ ในคนอายุ 16-60 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า มักพบในคนที่แบกของหนัก หรือได้รับบาดเจ็บที่บริเวณหลังหรือในคนสูงอายุที่มีหมอนรองกระดูกเสื่อม

สาเหตุ โรคนี้เกิดจากหมอนรองกระดูกหรือดิสก์ (disk) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนทับรากประสาท (nerve root) ที่ไปเลี้ยงแขนหรือขาทำให้มีอาการปวดเสียว และชาของแขน หรือขาส่วนนั้น ทั้งนี้อาจเนื่องจากได้รับบาดเจ็บหรือเกิดจากความเสื่อมตามอายุขัย

ส่วนมากมักเกิดตรงบริเวณตรงกระดูกหลัง ทำให้มีการกดทับรากประสาทไซอาติก (Sciatic) ที่ไปเลี้ยงขา เรียกว่า โรคไซอาติกา (Sciatica)

ส่วนน้อยอาจเกิดที่กระดูกคอ ทำให้การกดทับรากประสาทบริเวณคอ มีอาการปวดเสียวที่ขาที่แขน

อาการ ผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันทันที เช่น หลังจากได้รับบาดเจ็บหรือยกของหนัก หรือค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยก็ได้ ในรายที่มีการกดทับรากประสาทขา จะมีอาการปวดตรงกระเบนเหน็บซึ่งจะปวดร้าวลงมาที่สะโพกต้นขา น่องและปลายเท้า อาการปวดจะเป็นมากขึ้น ภายหลังจากการเดินมากๆ และอาการปวดมากเวลาก้ม นั่ง ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย ในรายที่เป็นมากๆ เท้าจะไม่ค่อยมีแรงและชาอาจถ่ายปัสสาวะไม่ได้ หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มักพบเป็นข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น นอกจากในรายที่เป็นมาก อาจจะมีอาการปวดทั้งสองข้างจะมีอาการปวดบริเวณต้นคอ ปวดร้าวและชาลงมากที่ไหล่ แขน และปลายมือ มักมีอาการชาเวลาแหงนคอไปด้านหลัง หรือหันศีรษะไปข้างที่เป็น ถ้าเป็นมาก แขนและมืออาจมีอาการอ่อนแรง

สิ่งตรวจพบ ในรายที่มีอาการกดทับรากประสาท สามารถทำการตรวจวินิจฉัยโดย

1) ให้ผู้ป่วยนอนหงาย และจับเท้าข้างที่สงสัยค่อยๆ ยกขึ้นให้หัวเข่าเหยียดตรง จะพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถยกเท้าเหยียดตรงได้ 90 องศา ดังเช่นคนปกติหรือได้น้อยกว่าเท่าอีกข้างหนึ่ง เพราะรู้สึกปวดเสียวตามหลังเท้าจนทนไม่ได้ วิธีนี้เรียกว่า “การทดสอบเหยียดขาตรงตั้งฉาก” (Straight leg raising test/SLRT)

2) ใช้เข็มแทงที่หลังเท้าหรือน่องในรายที่เป็นมากจะรู้สึกเจ็บน้อยกว่าอีกข้างหนึ่ง

3) ให้ผู้ป่วยออกแรงเหยียดหัวแม่เท้าชนต้านแรงกดของนิ้วมือผู้ตรวจ ในรายที่เป็นมากจะพบว่ามีแรงอ่อนกว่าหัวแม่เท้าข้างที่ปกติ

4) การตรวจรีเฟล็กซ์ของข้อเข่าและข้อเท้า (tendon reflex) จะพบว่าน้อยกว่าปกติ ส่วนในรายที่มีการกดทับรากประสาทในบริเวณคอ ในระยะแรกอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน ในระยะที่เป็นอาจพบกล้ามเนื้อแขนมีอาการชาและอ่อนแรง รีเฟล็กซ์ของข้อศอกและข้อมือน้อยกว่าปกติ

การรักษา หากสงสัยควรส่งไปโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์กระดูกสันหลัง ฉายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ถ้าจำเป็นอาจต้องทำการเอกซเรย์พิเศษ ที่เรียกว่า ไมอีโลกราฟฟี (Myelography) และ/หรือ ตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าเป็นไม่มาก การนอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ให้ยาแก้ปวดและไดอะซีแพม และใช้น้ำหนักถ่วงดึงอาจช่วยให้ทุเลาได้ บางรายอาจต้องใส่ “เสื้อเหล็ก” หรือ “ปลอกคอ” ถ้ารักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล อาจต้องผ่าตัด

ข้อแนะนำ 1.ผู้ป่วยควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการเข็น หรือดันรถ และระวังรักษาอิริยาบถ (ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน และท่ายกของ) ให้ถูกต้อง หลักการ คือ อย่าให้กระดูกสันหลังบิดเบี้ยว 2. ขณะที่มีอาการกำเริบ ควรนอนหงายนิ่งๆ บนที่นอนแข็งตลอดทั้งวัน (ลุกเฉพาะช่วงกินอาหารและเข้าห้องน้ำ) สัก 2-3 วัน การนอนจะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อหมอนรองกระดูกให้เหลือน้อยที่สุด จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้

3.โรคกระดูกคองอกกดรากประสาท (Cervical Spondolysis)

โรคกระดูกคองอกกดรากประสาท เป็นโรคที่พบบ่อยในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เกิดจากกระดูกคอเสื่อมตามวัย และมีกระดูกงอกตรงบริเวณข้อต่อของกระดูกคอ ประกอบกับหมอนรองกระดูกเสื่อมและบางตัวลง ทำให้ช่องระหว่างข้อต่อแคบลงในที่สุด เกิดการกดทับรากประสาทและไขสันหลัง

อาการ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดต้นคอ คอแข็ง และมีอาการปวดร้าว และเสียวชาลงมาที่แขนและมือ ซึ่งมักจะเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง (ส่วนน้อยที่อาจจะเป็นพร้อมกัน 2 ข้าง) อาการจะเป็นมากเวลาเงยหน้า ถ้าปล่อยไว้นานๆ อาจจะมีอาการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อบริเวณแขนและมือ และถ้าหากมีการกดทับของไขสันหลังก็อาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ ระยะแรกอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน ต่อมาจะพบว่ากล้ามเนื้อแขนและมือฝ่อตัว อ่อนแรง หรือมีอาการชา รีเฟล็กซ์ข้อศอกและข้อมือน้อยกว่าปกติ

การรักษา หากสงสัย ควรรีบไปโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถ้าจำเป็นอาจต้องทำการเอกซเรย์พิเศษ ที่เรียกว่า ไมอีโลกราฟฟี (Myelography) และหรือตรวจพิเศษอื่นๆ ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการไม่มาก อาจให้การรักษาด้วยการใส่ “ปลอกคอ” ให้ยาแก้ปวดและไดอะซีแพม บางรายอาจต้องรักษาด้วยการใช้น้ำหนักดึงคอ ในรายที่เป็นมากๆ โดยเฉพาะอย่างที่มีการกดไขสันหลัง อาจต้องผ่าตัดเพื่อขจัดการกดทับและป้องกันมิให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น หลังผ่าตัดอาการปวดจะทุเลา และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้

4.โรคข้อเสื่อม/ปวดข้อในคนสูงอายุ (Osteoarthritis)

ข้อเสื่อม พบเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของอาการปวดข้อในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหลังวัยหมดประจำเดือน และจะพบมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงประมาณ 3 เท่า ถือเป็นโรคไม่ติดต่อ มีโรคแทรกซ้อนที่อันตรายร้ายแรง แต่จะมีอันตรายที่เกิดจากการใช้ “ยาแก้ปวดข้อ” (NSAID) และยาสเตียรอยด์อย่างพร่ำเพรื่อ

อาการ เกิดจากข้อเสื่อมตามวัย หรือข้อรับน้ำหนักมากเกินไป หรือมีการบาดเจ็บทำให้กระดูกอ่อนตรงผิวข้อต่อสึกกร่อน และมีกระดูกงอก (หินปูนเกาะ) ขรุขระเวลาเคลื่อนไหวข้อจึงทำให้เกิดอาการปวดขัดในข้อ อาจมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ อายุมาก ความอ้วน (น้ำหนักมาก) อาชีพที่ต้องใช้ข้อมาก (เช่น อาชีพกรรมกรแบกข้าวสาร ขี่สามล้อ หรืออาชีพที่ต้องยืนนานๆ) เป็นต้น ข้อที่พบว่าเป็นได้บ่อยๆ มักเป็นข้อที่รับน้ำหนักมาก ได้แก่ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง ข้อกระดูกคอ เป็นต้น

นอกจากนี้บางรายอาจจะเป็นตามข้อนิ้วมือ (ปลายนิ้วมือ และกลางนิ้วมือ) ได้ ผู้ป่วยอาจมีภาวะเสื่อมของข้อหลายแห่งพร้อมกัน แต่มักจะมีอาการแสดงเพียง 1-2 ข้อ เท่านั้น

อาการแสดง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขัดในข้อ (เช่น ปวดเข่า ปวดสะโพก ปวดหลัง ปวดต้นคอ) เรื้อรังเป็นแรมเดือน แรมปี บางครั้งอาจมีเสียงดังกรอบแกรบขณะที่เคลื่อนไหว ผู้ป่วยที่ปวดข้อเข่า มักจะปวดมากเวลาเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน หรือในเวลาท่างอเข่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานั่งคุกเข่า พับเพียบ หรือขัดสมาธินานๆ หรือเดินขึ้นลงบันได หรือยกของหนัก อาการปวดข้อมักจะเป็นตอนกลางคืน หรือเวลาอากาศเย็น หรืออาการเปลี่ยนแปลง ข้อที่ปวดมักจะมีอาการบวมแดงร้อน แต่ถ้าเป็นมากๆ อาจมีการบวมและมีน้ำขังอยู่ในข้อ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการทั่วไปเป็นปกติทุกอย่าง

สิ่งตรวจพบ เมื่อจับข้อเข่า หรือข้อสะโพกที่ปวด โยกไปมาจะมีเสียงดับกรอบแกรบ

อาการแทรกซ้อน ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีอาการเคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก เช่น เดินไม่ถนัด

การรักษา 1.ถ้ามีอาการปวดให้พักข้อที่ปวด (เช่น อย่าเดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันได) และใช้น้ำร้อนประคบ และกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล บรรเทาเป็นครั้งคราว ถ้ามีอาการปวดมากอาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ 3-5 วัน ไม่ควรกินติดต่อกันนานๆ และควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ (ถ้าจำเป็นใช้ยากลุ่มนี้ ควรให้ยาป้องกันโรคกระเพาะควบคู่ไปด้วย เช่น ยกลดกรด ครั้งละ 30 ซีซี วันละ 7 ครั้ง)

2.พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้อาการปวดกำเริบ เช่น ห้ามยกของหนัก หรือหาบน้ำ หิ้วน้ำ อย่ายืนนาน อย่านั่งคุกเข่า (นั่งถูพื้น หรือซักผ้า) นั่งพับเพียบ หรือขัดสมาธิ พยายามนั่งในท่าเหยียดเข่าตรง หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันได หลักการสำคัญ คือ : ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เช่น หลังจากนั่งทำงานนาน 1 ชั่วโมง ควรพักและลุกขึ้นเดินสัก 2-3 นาที เป็นต้น ถ้าน้ำหนักมาก (อ้วน) ควรพยายามลดน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยให้อาการปวดทุเลาได้มาก

3.พยายามบริหารกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวข้อให้แข็งแรง เช่น ถ้าปวดหลังก็ให้บริหารกล้ามเนื้อหลัง ถ้าปวดเข่าก็บริหารกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า การฝึกกล้ามเนื้อควรเริ่มทำเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว ระยะแรกฝึกวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที จนรู้สึกว่าแข็งแรงไม่เมื่อยง่าย จึงจะเพิ่มเป็นวันละ 3-5 ครั้ง การบริหารกล้ามเนื้อเข่า : เริ่มแรกไม่ต้องถ่วงด้วยน้ำหนัก ต่อไปค่อยๆ ถ่วงน้ำหนัก (เช่น ใส่ถุงทราย) ที่ข้อเท้าทีละน้อยๆ จาก 0.3 กิโลกรัม เป็น 0.5, 0.7 และ 1 กิโลกรัม โดยเพิ่มไปเรื่อยๆ ทุก 2-3 สัปดาห์ จนยกได้ 2-3 กิโลกรัม ข้อเข่าก็จะแข็งแรงและลดอาการปวดได้

4.ถ้าไม่ดีขึ้นใน 3-4 สัปดาห์ หรือบวมตามข้อ หรือมีอาการปวดร้าวหรือชาตามแขน (ร่วมกับปวดคอ) หรือขา (ร่วมกับปวดหลัง) ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจโดยการเอกซเรย์ดูการเปลี่ยนแปลงของข้อ หรือถ้าบวมมากตามข้ออาจต้องเจาะน้ำในข้อออก ตรวจพิสูจน์และรักษาด้วยการให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ถ้าเป็นมากอาจฉีดสเตียรอยด์เข้าในข้อเป็นครั้งคราว (ไม่ควรเกินปีละ 2-3 ครั้ง อาจทำให้กระดูเสื่อม หรือสลายเร็วขึ้น) และให้การรักษาทางกายภาพบำบัด

ข้อแนะนำ 1. ภาวะข้อเสื่อมเมื่อเกิดแล้วมักจะเป็นอยู่ตลอดไปไม่หายขาด จึงมักจะมีอาการปวดเรื้อรัง และบางรายอาจรู้สึกปวดทรมานหรือเคลื่อนไหวไม่สะดวก ควรหาทางบรรเทาการปวดข้อด้วยการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ได้แก่ รู้จักฝึกบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อที่ปวดให้แข็งแรง ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน) และหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ทำให้อาการปวดกำเริบ 2.ยาแก้ปวด ควรเลือกใช้พาราเซตามอล บรรเทาเวลามีอาการปวด แต่ไม่ควรกินยาแก้ปวดประจำ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

3.ควรแนะนำผู้ป่วยอย่าซื้อยาชุด ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดเส้น หรือยาลูกกลอนมากินเอง ยาเหล่านี้มักมียาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และ/หรือยาสเตียรอยด์ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อได้ผลดี แต่หากกินประจำอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารทะลุ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกผุ ภูมิคุ้มกันต่ำ ต่อมหมวกไตฝ่อ เป็นต้น ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image