รื้อโครงสร้างศธ. อย่าทำเสียเวลา? โดย สุพัด ทีปะลา

ฮึ่มๆ มาตั้งแต่กลางปีที่แล้วในการออกมาคัดค้านการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของกลุ่มข้าราชการครูบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ

ทำให้ขณะนี้การปรับโครงสร้าง ศธ.ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรออกมามากนัก ภายหลัง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.สั่งเดินหน้าตั้งแต่ปลายปี’62

โดยได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.ขึ้นมาพิจารณาปรับโครงสร้าง เพื่อลดความซ้ำซ้อนการบริหารงานของหน่วยงานภายใน ศธ.โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่ขาดเอกภาพ และประสิทธิภาพในการทำงาน จนส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ตามข้อสังเกตของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

ล่าสุดกลุ่มศึกษานิเทศก์ (ศน.) บุคลากรกลุ่มตรวจสอบภายใน (ตสน.) และบุคลากรกลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา (ICT) จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศกว่า 1,000 คน แต่งชุดดำเข้ายื่นหนังสือถึง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เพื่อคัดค้าน

Advertisement

การถ่ายโอน ศน.ภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)

โดยมีข้อเรียกร้องหลักๆ 1.ให้ปลัด ศธ.ต้องยุติบทบาทการจัดทำข้อเสนอปรับโครงสร้าง ให้รอจนกว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติจะมีผลบังคับใช้

2.การปฏิรูปโครงสร้างของ ศธ.ให้คงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 183 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 77 เขต โดยไม่มีการโอนย้ายกลุ่มใดไปยังหน่วยงานการศึกษาอื่น

Advertisement

3.เพื่อลดความสูญเปล่าทางการศึกษาจึงเห็นควรให้ศึกษานิเทศก์ ศึกษาธิการจังหวัด กลับคืน สพท. ทั้งนี้ จะได้มาช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา

ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นการแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะไม่ให้ปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่ ทุกคนพึงพอใจกับโครงสร้างเดิม

ขณะที่ นายธนชน มุทาพร ผอ.สพป.ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย แกนนำการคัดค้าน ยืนยันชัดเจนว่าจะขอคัดค้านจนถึงที่สุด เพราะข้อเสนอการปรับโครงสร้างเป็น
การดำเนินการโดยขาดหลักธรรมาภิบาล อาศัยอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค ที่ประกอบด้วยผู้บริหารองค์กรหลัก ไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมพิจารณาและข้อเสนอ

กรณีของกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตนเอง

แต่ส่วนหนึ่งก็สะท้อนขั้นตอน กระบวนการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.หลายต่อหลายครั้งไม่ได้ให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมมากนัก

ทำให้การปรับโครงสร้าง ศธ.ในแต่ละครั้งที่ผ่านมามีการออกมาคัดค้านของข้าราชการ บุคลากรทางการศึกษา

ย้อนไปช่วงปี 2545 ที่มีการยุบรวมเข้าสู่โครงสร้างครั้งใหญ่ที่ยุบ 14 กรม ให้เหลือเพียง 5 แท่งหลักใน ศธ.ก็มีการออกมาคัดค้านเช่นเดียวกัน

ท้ายที่สุดกลุ่มไหนที่รวมตัว เคลื่อนไหวกดดันได้มากเท่าไรก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองกับกลุ่มการเมืองได้มาก

หากการเคลื่อนไหวคัดค้านยังเป็นตัวแปรหนึ่งของโครงสร้าง ศธ.ใหม่ที่จะคลอดออกมา คงยากจะคาดหวังการยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้น

บางทีการอยู่กับโครงสร้างเดิมน่าจะดีกว่าไหม อย่าให้ต้องเสียเวลานับหนึ่งใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image