วิพากษ์ซักฟอก-ปรับครม. ศึกเขย่าอำนาจรัฐบาล‘บิ๊กตู่’

หมายเหตุความคิดเห็นของนักวิชาการและนักการเมืองกรณีการเตรียมความพร้อมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ อย่างไร

สุทิน คลังแสง
ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.)
ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน
พรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

ความคืบหน้าในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น ในวันที่ 20 มกราคมนี้ ตัวแทนวิปฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคจะประชุมกันเพื่อสรุปข้อมูล หลักฐาน และข้อเท็จจริง รวมทั้งรายชื่อรัฐมนตรีที่จะยื่นอภิปรายเพื่อนำรายละเอียดมาเขียนเป็นญัตติ จากนั้นประมาณ 2-3 วัน จะยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

ในส่วนของพรรค พท.รายชื่อรัฐมนตรีที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเบื้องต้นยังคงอยู่ที่ 5 รายชื่อ ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 4.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ 5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนจะมีรายชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เพิ่มมาอีกหรือไม่นั้น คงต้องรอผลการประชุมร่วมกับ
7 พรรคฝ่ายค้านว่าจะมีพรรคใด มีข้อมูล หลักฐาน และข้อเท็จจริงที่เพียงพอจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร รวมทั้งรัฐมนตรีคนอื่นๆ อีกหรือไม่

ส่วนกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในเวลานี้ที่ปล่อยออกมาว่ามีแกนนำจากพรรคฝ่ายรัฐบาลเข้ามาพูดคุย เจรจา ขอให้ฝ่ายค้านตัดรายชื่อรัฐมนตรีบางคนที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจออกไปนั้น ส่วนตัวผมมองว่าเป็นการดิสเครดิตกันทางการเมืองเพื่อทำให้สังคมและประชาชนมองภาพการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านให้ไม่มีน้ำหนัก ขาดความน่าเชื่อถือ ถือเป็นเกมการชิงไหวชิงพริบกันทาง
การเมือง

ส่วนตัวผม ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้านจะทำหน้าที่อภิปรายปิด จะสรุปเนื้อหาภาพรวมการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อนายกฯ และรัฐมนตรี โดยจะชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องและความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ในช่วงที่ยังเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ยืนยันว่าถึงตอนนี้ยังไม่มีใครโทรศัพท์มาเจรจาหรือติดต่อผมเพื่อไม่ให้อภิปรายรัฐมนตรีคนนั้นคนนี้ หรือแกนนำรัฐบาลอาจจะไม่ให้ราคาประธานวิปฝ่ายค้านอย่างผม ฝ่ายค้านจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวังต่อการทำหน้าที่อย่างแน่นอน

Advertisement

ขณะที่เนื้อหาและหัวข้อที่จะอภิปรายนายกฯ และรัฐมนตรีนั้น ฝ่ายค้านคงจะบอกข้อสอบล่วงหน้าให้ทั้งหมดไม่ได้ คงต้องรอไปฟังในการอภิปรายในสภา ส่วนที่นายกฯ ระบุว่าพร้อมชี้แจงในการอภิปรายของฝ่ายค้านนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่นายกฯ จะต้องพูดออกมาในลักษณะนี้ แต่ขอให้
รอดูการอภิปรายของฝ่ายค้านและการชี้แจงของนายกฯ ในสภาจะดีกว่า แล้วให้สังคมและประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านครั้งนี้ แม้ว่าด้วยเสียงของฝ่ายค้านในสภาจะไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ แต่ฝ่ายค้านจะอภิปรายเปิดแผลให้รัฐบาลออกมาเจ็บหนักข้างนอก โดยข้อมูลและหลักฐานการอภิปรายของฝ่ายค้านจะนำไปสู่การยื่นให้หน่วยงานอิสระ อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบความผิดของรัฐมนตรีบางคน ส่งผลถึงการดำเนินคดีทางอาญาและการถอดถอนออกจากตำแหน่งได้แน่นอน มั่นใจว่าช่วง 1 เดือนหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล อาจมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีปัญหาและไร้ประสิทธิภาพออก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อ ครม.ในภาพรวมอย่างแน่นอน

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ (กพศ.)
พรรคเพื่อไทย

ต้องยอมรับไม่ว่าข่าวการยุบพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าข่าวการไหลออกของบรรดาสมาชิกระดับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ทั้งระลอกก่อนหน้านี้ และระลอกล่าสุด หรือไม่ว่าการเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านนั้น ถือเป็นข่าวใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กันอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้

เพราะหากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่จริงๆ แม้แต่ภายในพรรคอนาคตใหม่เองก็ยังประเมินแล้วว่า ส.ส.ที่พรรคอนาคตใหม่มีอยู่ในสภาขณะนี้ คงไม่ย้ายไปเข้าสังกัดใหม่เดียวกันทั้ง 100% โดยอาจจะมีบางส่วนย้ายไปร่วมกับพรรคการเมืองสังกัดรัฐบาล เป็นเรื่องที่น่าจับตา เพราะจะมีผลโดยตรงต่อเสียงในสภาเช่นเดียวกับการไหลออกของ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ แม้ในชั้นนี้จะยังไม่ชัดเจน และยังเป็นเรื่องที่น่าศึกษาในเชิงลึกต่อไปว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร เป็นปัญหาภายในตามที่ปรากฏเป็นข่าว หรือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องแยกกันเดินเป็น 2 ทางกันแน่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่ลืมว่า ส.ส.หรือแกนนำประชาธิปัตย์ที่ทยอยลาออกนั้นล้วนสัมพันธ์อยู่กับกลุ่ม กปปส.ที่เกื้อกูลอยู่กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่แล้ว จึงเห็นได้เลยว่าที่ผ่านมาเมื่อปรากฏข่าวว่าแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ลาออกก็มักจะมีกระแสข่าวของการปรับ ครม.มาด้วยทุกครั้งเสมอ

ดังนั้น หากนำข่าวการจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านเป็นแกนกลางแล้วนำทั้ง 2 ข่าวที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือการลาออกของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มาประกอบ จะทำให้เห็นผลที่เกื้อกูลกันที่ปลายทาง โดยเฉพาะหลังจากจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาแล้ว แม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะไม่สามารถทำให้รัฐบาลล้มด้วยมติในสภา แต่กลุ่มการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะภายในรัฐบาลนั้น ต่างพยายามมองในมุมที่ตนเองจะได้ประโยชน์กับสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ จึงเกิดความเคลื่อนไหวต่างๆ ในรูปแบบการจัดทัพเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั่นเอง

ในฐานะเลขานุการ กพศ.ยืนยันว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป้าหมายหลักอยู่ที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์เป็นสำคัญ โดยพรรคเพื่อไทยต้องการจะทำให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบหูตาสว่างว่าผู้นำสืบทอดอำนาจไม่ใช่ผู้สุจริตชน การเตรียมการข้อมูลจึงต้องรวมศูนย์ โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน กพศ.เท่านั้น เพื่อไม่ให้รั่วไหลออกไป เพราะเราหวังผลมากกว่าแค่ปรับ ครม.อย่างที่กลุ่มการเมืองภายในรัฐบาลคิดกัน ที่สำคัญการรวมศูนย์ข้อมูลนี่เองจึงเป็นต้นเหตุให้เกิดกระแสข่าวแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างๆ นานาขึ้น ไม่ว่าจะแลกประโยชน์กับไม่อภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รวมไปถึงการดึงพรรคเพื่อไทยร่วมรัฐบาลในช่วงเวลานี้ ต้องยอมรับว่าเป็นข่าวที่มีที่มาจากทั้งภายในรวมไปถึงภายนอกผสมผสานกัน เพื่อทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีการแลกผลประโยชน์ เป็นแค่การดิสเครดิตกันในทางการเมืองเท่านั้น

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

การลาออกของนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นจังหวะที่เหมาะสม เสมือนนายกรณ์ได้สำเร็จวิทยายุทธ์จากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว แต่นัยสำคัญคือบทบาทความสำคัญของตัวเองได้ลดลงไป โดยเฉพาะการเป็นผู้นำก็ดูริบหรี่ลง ดังนั้น ในสถานการณ์ที่เข้าสู่ห้วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่นนี้ โดยธรรมชาติของการเมืองไทย หลังเสร็จศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ประเทศจะดำเนินไประยะเวลาหนึ่งก่อนไปสู่โหมดการปรับ ครม. ดังนั้น สถานการณ์ที่นายกรณ์
เลือกเช่นนี้จึงเป็นการสร้างโอกาสทางเลือกทางการเมืองของตัวเอง หมายความว่ายาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ชื่อสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ใช้มาเข้าสู่ปีที่ 6 อาจเกิดปฏิกิริยาดื้อยาแล้ว ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างนายกรณ์ สังคมอาจพิจารณาว่าน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ หรือสร้างโอกาสทางการเมืองให้กับรัฐบาลประยุทธ์ได้ เพราะแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนายกรณ์ไม่ได้มีท่าทางเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลประยุทธ์เลย หนำซ้ำนายกรณ์ยังมีขบเหลี่ยม วิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ

อีกทั้งการสร้างกิจกรรม เช่น การเปิดให้บุคคลร่วมกันตั้งชื่อพรรคการเมือง แม้นายกรณ์จะถูกแซวว่ากิจกรรมนี้เสมือนการลอกและเลียนแบบพรรคอนาคตใหม่ แต่อย่างน้อยก็เป็นความพยายามเปิดพื้นที่แย่งชิงความรู้สึกจากคนรุ่นใหม่มาเป็นฐานการเมืองของตัวเองด้วย เมื่อมองย้อนไปสู่การนับถอยหลังของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเหลือเวลาประมาณ 3 วัน แต่ละคนจึงพยายามดิ้นสุดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบรรดาแกนนำพรรค หรือสาวกที่ชื่นชอบพรรคก็เริ่มเคลื่อนไหวปูพรมผ่านสื่อโซเชียลหรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ หากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจริงก็เป็นไปได้ว่าจะมี ส.ส.ส่วนหนึ่งสงสัยว่าไม้ผลัดต่อไปที่จะมากุมบังเหียนพรรคจะมีสีสัน หรือสามารถรักษาฐานเสียงของคนที่รักและชื่นชมพรรค
เหมือนเดิมได้หรือไม่

รัฐธรรมนูญที่ออกแบบและควบคุมการทำลายสถาบันพรรคการเมืองเท่ากับทำลายเจตนารมณ์ หรือฉันทามติของประชาชนที่ต้องการออกแบบพรรคการเมืองด้วยเสียงที่เขาเลือกเข้าไป แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการยกระดับและการพัฒนาพรรคการเมืองไทยให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการจำกัด ควบคุม หรือคุมกำเนิดการแสดงบทบาทหรือทิศทางพรรคการเมืองไทยไม่ให้มีความเข้มแข็งอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image