สะพานจันทร์โอชา

นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ กล่าวในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 ม.ค. เสนอสร้างสะพาน เชื่อม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยให้ชื่อ “สะพานจันทร์โอชา” ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์รุนแรง นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ชื่อสะพานไม่ได้เป็นแนวคิดของนายกฯ ส่วนที่ ส.ส.เสนอสร้างสะพาน ถือเป็นประโยชน์กับพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมต้องไปพิจารณา ทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงการใช้งบประมาณ ส่วนการตั้งชื่อไม่ได้มีการมาหารือ นายกฯ ขอขอบคุณในความหวังดี แต่ไม่อนุญาตให้นำนามสกุลไปตั้งเป็นชื่อสะพานหรือสถานที่ใดๆ

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ตนเคยเสนอแนวความคิดการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะสมุย ตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา แต่เห็นว่าเป็นเมกะโปรเจ็กต์ มีผลกระทบในหลายด้าน ต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ ต้องทำประชาพิจารณ์ แต่เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา มี ส.ส.เสนอในที่ประชุมสภา และเสนอใช้ชื่อสะพานจันทร์โอชา จนเกิดเสียงวิจารณ์ โฆษกรัฐบาลต้องออกมาชี้แจงว่า เป็นเฟคนิวส์ ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง มีหลักฐานชัดเจน ที่ ส.ส.รัฐบาลเสนอในสภาเพื่อเอาหน้าและเอาใจ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เมื่อ พล.อประยุทธ์ปฏิเสธ และไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะการสร้างสะพานข้ามเกาะสมุย ใช้งบประมาณแผ่นดิน การตั้งชื่อสะพานเป็นเรื่องของประชาชนในพื้นที่ จะเห็นควรว่าจะ
ใช้ชื่ออะไรกับสะพานของเขา

การใช้ชื่อนามสกุลของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง ไปเป็นชื่อของสิ่งก่อสร้างจากงบประมาณแผ่นดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีคุณูปการต่อการก่อสร้างอย่างไร หากไม่ได้มีบทบาท ก็อาจกลายเป็นปัญหา ดังที่มีผู้ตั้งประเด็นว่าอาจเข้าข่ายประโยชน์ทับซ้อน ขัดกับรัฐธรรมนูญได้ ปัจจุบันนี้ แม้การเมืองจะไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มร้อย แต่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและมีความรู้ความเข้าใจการเมือง การกระทำในเชิงยัดเยียดไม่ได้ผลอีกต่อไป นักการเมืองควรเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของประชาชนให้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image