ใครเป็นคนสั่ง? โดย วีระเชษฐ์ จรรยากูล

คนนี้มีเรื่องฟ้องคดีกันกับญาติ ต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและพนักงานอัยการก็เห็นด้วยว่าอย่าฟ้องเลย เธอก็เลยอยากทราบว่าพนักงานอัยการท่านใดบ้างที่ลงชื่อสั่งคดี มีเหตุผลอย่างไร

นางสาวหนึ่ง ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีกับนางสาวสองและนางสาวสามข้อหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม และ
ยักยอกทรัพย์ ต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องทั้งสองคนและแจ้งไปยังพนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดี ซึ่งต่อมามีคำสั่งยุติการดำเนินคดีทั้งสองคนในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ เพราะยอมความกันและคดีขาดอายุความ ส่วนเรื่องปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม หลักฐานไม่พอ นางสาวหนึ่งจึงขอข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานอัยการจังหวัด เกี่ยวกับรายชื่อพนักงานอัยการที่รับผิดชอบและรายชื่อพนักงานอัยการที่ร่วมลงลายมือชื่อในคำสั่งไม่ฟ้อง แต่สำนักงานอัยการจังหวัดมีหนังสือแจ้งปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยให้เหตุผลว่า การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพฯ และจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องในคดี ตามมาตรา 15 (2) และ (4) นางสาวหนึ่งจึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

ในการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สำนักงานอัยการจังหวัด ส่งเอกสารตามอุทธรณ์ไปประกอบการพิจารณาและชี้แจงว่า เมื่อได้รับหนังสือขอข้อมูลข่าวสารจากนางสาวหนึ่งแล้ว ได้แจ้งพนักงานอัยการที่มีชื่อเกี่ยวข้องว่าจะคัดค้านการเปิดเผยหรือไม่ ก็ได้รับตอบกลับไปมีทั้งคัดค้าน ยินยอม และไม่ตอบจึงถือว่าไม่ปฏิเสธ ส่วนเหตุผลที่ไม่เปิดเผยรายชื่อพนักงานอัยการตั้งแต่แรก เพราะไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงว่าจะนำรายชื่อไปทำอะไร

คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารพิจารณาแล้วเห็นว่า รายชื่อพนักงานอัยการที่รับผิดชอบและรายชื่อพนักงานอัยการที่ร่วมลงลาย
มือชื่อในคำสั่งไม่ฟ้อง เป็นข้อมูลข่าวสารการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติองค์การอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 เป็นข้อมูลข่าวสารในการปฏิบัติราชการตามปกติของพนักงานอัยการ เมื่อได้มีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้ว มีผลให้การพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการเสร็จสิ้นแล้ว การเปิดเผยไม่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพฯ ตามมาตรา 15 (2) และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อเปิดเผยรายชื่อพนักงานอัยการไปแล้ว จะเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความไม่ปลอดภัยแต่อย่างใด ตามมาตรา 15 (4) แต่การเปิดเผยจะทำให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ จึงวินิจฉัยให้สำนักงานอัยการจังหวัด เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องให้นางสาวหนึ่ง แต่ไม่รวมถึงลายมือชื่อของพนักงานอัยการ อนุญาตให้ดูได้แต่ไม่ให้ถ่ายสำเนาเอกสาร

Advertisement

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ หารือไปได้นะครับที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 0-2283-4678

(ที่ สค 428/2562)

“เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image