บทความ : คลองไทยฝัน… จะเป็นจริง : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

คลองไทยกลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้มีการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย และมีประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนจริงหรือไม่ ต้องรอคำตอบหลังจากผ่านไป 120 วัน หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 49 คน เป็นผู้ไปค้นหาคำตอบเชิงวิชาการต่อไป แต่ขออย่างเดียว ขอให้คณะกรรมาธิการดังกล่าวทำงานอยู่ภายใต้ความจริงจังและจริงใจ และต้องโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

คลองไทย เป็นโครงการที่พูดถึงกันมานาน มีการศึกษากันมาแล้ว 1 ครั้ง ของวุฒิสภา ปี 2544-2548 แต่ในบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรไม่เคยนำโครงการคลองไทยมาเป็นญัตติในการศึกษาเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของสภาไทย คลองไทย เป็นโครงการใหญ่ระดับโลก มีผลกระทบวงกว้างทั้งเชิงบวกและเชิงลบ และอาจจะส่งผลไปยังกลุ่มอาเซียน เอเชีย และระดับโลกก็เป็นได้ คลองไทยเป็นที่กล่าวขาน ทั้งแสดงความยินดีและห่วงใยของผู้หวังดีต่อชาติบ้านเมือง

ในยามที่ประเทศหมดช่องทางนำเงินมาขับเคลื่อนประเทศ โลกข้างหน้าเปลี่ยนไปมาก มีการขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่ทันสมัยและล้ำยุค จะหวังรายได้เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วโลกที่ท้าทาย นักท่องเที่ยวสอดรับกับการเดินทางที่ราคาถูก ประหยัด และรวดเร็ว จะหวังส่งสินค้าออกที่เป็นอยู่ก็ยากและตีบตัน ติดกับดักค่าของเงินบาทที่แข็งค่า ติดกับดักค่าแรงที่สูง ตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจหลายอย่างย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย หวังจะให้นักลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนก็ยิ่งยาก เพราะติดกับดักเรื่องค่าแรงและการบริหารจัดการที่ยุ่งยากและซับซ้อน

ย้อนไปดู 10-20 ปีที่ผ่านมา เช่น จีนซื้อยางดิบจากไทย แต่จีนกลับผลิตยางดิบได้เอง ส่งผลให้ไทยติดกับดักเรื่องการส่งออกยางพารา ซึ่งกระทบกับเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคใต้ 3 กก./ 100 บาท รวมถึงสินค้าอื่นๆ แต่ละประเทศเจริญก้าวหน้าทั้งคน ทั้งเงิน รวมถึงเทคโนโลยี หันมาผลิตเอง ใช้เอง ภาวะเช่นนี้อาจจะส่งผลให้ภาวการณ์ส่งออกของไทยต้องฝืดเคือง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

หนึ่งในหลายช่องทาง คือ หาเงินโดยใช้ภูมิรัฐศาสตร์ของภาคใต้ให้เป็นธุรกิจบริหารจัดการ จากที่ตั้งของภาคใต้ที่ขนาบด้วยทะเล คือ การขุดคลองไทย เปิดพื้นที่ให้เป็นเส้นทางการขนส่งทางทะเลใหม่ของโลก เพราะที่ตั้งของคลองไทยอยู่ตรงกลางของเศรษฐกิจโลกเกือบทุกด้าน พร้อมด้วยตลาดและจำนวนคนที่อยู่รอบๆ ประเทศไทยราวๆ 4 พันล้านคน พื้นที่เหมาะทั้งที่ตั้งและภูมิอากาศ ไม่ร้อนและไม่หนาว รอบๆ คลองไทยประกอบด้วยประเทศที่ทรงพลังทางด้านเศรษฐกิจ เช่น จีนและอินเดีย ลงมาทางใต้ กลุ่มอาเซียนและออสเตรเลีย

คลองไทยมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน กังวลใจว่าเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก ที่จะขึ้นไปยังขั้วโลกเหนือ ส่งผลให้คลองไทยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่หวัง ประเด็นนี้น่าจะเกิดขึ้นยากที่นักเดินเรือจะไม่ใช้คลองไทย แล้วหันไปใช้เส้นทางขั้วโลกเหนือ เพราะขั้วโลกเหนืออากาศหนาวราว 7-9 เดือน มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปีเส้นทางขั้วโลกไม่มีเมืองท่าใหญ่ๆ ที่จะกักตุนหรือขนถ่ายสินค้า

ด้วยปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวจึงยากที่จะเป็นเส้นทางหลักในการเดินเรือ คลองไทย หลายท่านกังวลใจว่าคุ้มหรือไม่ กลัวโน่น กลัวนี่ กันมากมาย แต่ถ้าศึกษาแล้วมันคุ้ม ก็ค่อยว่ากัน ขึ้นอยู่กับผู้นำและพระสยามเทวาธิราชจะมองเห็นและดลบันดาล แต่ถ้าไม่หลุดพ้นกับดักความกล้าหาญ ประเทศก็จะยากจน ประชาชนแร้นแค้นอยู่ร่ำไป ประเทศไทยบริหารเงินขาดดุล ระดับ 700,000 ล้าน เพราะไม่มีเงินจึงจำเป็นต้องหาช่องทางใหม่เพื่อหาเงินเข้าประเทศ หรือจะเลือกใช้เงินภาษีของประชาชน มาหว่านมาแจกกันต่อไป โครงการชิม ช้อป ใช้ ดูแล้วตื่นเต้น เร้าใจไม่น้อย จ่ายมาเท่าไหร่ประชาชนเฝ้ารอ

Advertisement

แต่สุดท้ายเงินดังกล่าวก็หมุนเข้ากระเป๋านายทุนใหญ่เช่นเคย

สําหรับข้อมูลเชิงวิชาการที่สามารถนำมาอ้างอิงและเป็นที่น่าเชื่อถือ มีให้คนที่เห็นต่างหรือห่วงใย ได้ศึกษาและตัดสินใจ เช่นข้อมูลจำนวนเรือ ข้อมูลค่าใช้จ่ายของเรือนำมาประกอบการศึกษาการขุดคลองไทย ได้นำมาเป็นตัวอย่าง จากข้อมูลที่เชื่อถือได้ ฐานข้อมูลปี 2016 (2559) จำนวนเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศประเภทต่างๆ ใช้บริการ/แล่นผ่านคลองและช่องแคบเดินเรือสำคัญๆ ของโลก Database recorded of World Ships are passing Through and movement each of Importance water Straits & Canal’s Year 2016 ดังนี้

1.ช่องแคบสิงคโปร์ (Singapore Straits) movement estimate ~209,057 ลำ (หรือเที่ยว)

2.ช่องแคบมะละกา-มาเลเซีย (Malacca Straits) movement estimate ~84,000 ลำ (หรือเที่ยว)

3.ช่องแคบบอสฟอรัส (อิสตันบูล)-ตุรกี (Bosphorus (Istanbul) Straits) movement estimate ~41,000 ลำ (หรือเที่ยว)

4.คลองซุเอส (The Suez canal) Transist estimate ~22,000 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

5.คลองปานามา (The Panama canal) Ships Transit estimate ~14,000 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

6.คลองคีล-เยอรมนี (The Kiel canal-Geramany) Ships Transit estimate ~43,000 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

7.คลองโครินทร์-ประเทศกรีซ (The Corinth canal-Greek) Ships Transit estimate ~11,000 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

8.ช่องแคบลอมบอก-อินโดนีเซีย (The Lombok Strait-Indonesia) Ships passing estimate ~3,500 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

9.ช่องแคบซุนดา-ประเทศอินโดนีเซีย (The Strait of Sunda-Indonesia) Ships passing estimate ~70,000 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

ด้านค่าใช้จ่ายของเรือต่อวัน ซึ่งมีผู้ให้ข้อมูลกันมากมาย จะขอยกตัวอย่างคร่าวๆ ขนาดเรือบรรทุกน้ำมันดิบ Crude Carrier Tanker 260,988 dwt. ความเร็วเรือปกติ 115.00 Knots ขนาดของเครื่องจักรใหญ่ (Main Engine) 20,630 KW. หรือราวๆ 28,050 แรงม้า PS.

ค่าเช่าเรือ T/C-Rate ต่อวัน จะตกประมาณวันละ 40,000-42,000 US$ เหรียญสหรัฐ หรือประมาณวันละ 1,302,000 บาท ราคานี้ยังไม่รวมค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่นๆ บนเรือขณะเรือวิ่ง ซึ่งถ้าหากรวมแล้วค่าใช้จ่าย/วัน ก็จะตกราวๆ 101,000 US$ ต่อวัน หรือประมาณ 3,131,000 บาท และการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของเรือแต่ละขนาด ระหว่างแล่นผ่านช่องแคบมะละกา กับแล่นผ่านคลองไทย โดยถัวเฉลี่ยแล้วแตกต่างกันประมาณ 1.6-2.2 วันครับ ดังนั้นจึงมีคำตอบว่า การที่เราจะเก็บค่าผ่านทางเรือต่างๆ นั้น ก็จะคิดจากค่าใช้จ่ายของเรือต่อวันที่ประหยัดไปซึ่งอาจจะคิดที่ 80% ของค่าใช้จ่ายที่ประหยัดไปทั้งหมดยกตัวอย่างเรือขนาด 2 แสน 6 หมื่นเดทเวทตัน ค่าใช้จ่ายวันละ 3,131,000 บาท คูณ 2 วัน ก็ตกประมาณ 6,262,000 บาท เมื่อจะเก็บค่าผ่านทาง (คลองไทย 9A) ที่ประมาณ 80% ก็จะตกราวๆ 5,009,600 บาท>นี่คือค่าผ่านทางที่เรือขนาดนี้ต้องจ่ายเป็นค่าผ่านคลองในแต่ละครั้ง ส่วนค่าใช้จ่ายของเรือโดยหลักๆ คือ

1.ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง

2.เงินเดือนคนประจำเรือ

3.ค่าสูญเสียน้ำมันหล่อลื่น

4.ค่าน้ำจืดน้ำใช้

5.ค่าเสบียงแต่ละวัน

6.ค่าสึกหรอค่าเสื่อมสภาพของตัวเรือและเครื่องจักร

7.ค่าประกันภัยเรือ และอื่นๆ

การเดินเรือผ่านคลองไทย
การผ่านคลองไทยไม่จำเป็นต้องเป็น convoy ก็ได้เราขุดคลองให้มีความกว้างเพียงพอและใช้ทุ่น

ทำเป็นเส้นแบ่งแนวจรที่ชัดเจน และเรือก็ไม่ต้องกังวลน้ำขึ้น-น้ำลงเพราะคลองจะมีความลึกถึง 30 เมตร

จากระดับน้ำลงต่ำสุด จึงทำให้สามารถรองรับเรือทุกขนาดในโลกให้ผ่านได้ตลอดเวลา จึงทำให้เรือจะไม่มีการสูญเสียเวลาตรงนี้

1) เรือน้ำมันทุกขนาดรวมทั้งขนาดที่ใหญ่ที่สุดคือ ULCC เป็นเรือแบบ double hull หรือตัวเรือสองชั้น ดังนั้นโอกาสที่น้ำมันจะรั่วไหลออกมาภายนอกก็เป็นไปได้ยากมาก ยกเว้นว่าถูกขีปนาวุธยิงจริงๆ แต่ลำพังการเกยตื้นหรือเรือชนกันไม่ทำให้น้ำมันรั่วไหลออกมาได้ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลว่าทำไมเรือพวกนี้จึงจะเข้ามาในอ่าวไทยไม่ได้

2) เรือบรรทุกสินค้าเทกอง (bulk) ขนาด ULOC หรือ เรือ China max นั้นวิ่งด้วยความเร็วเต็มที่เพียง 12 knots ไม่ใช่ 15-20 knots อย่างที่กล่าวอ้าง เรือพวกนี้ไม่สามารถผ่านช่องแคบมะละกาได้ต้องไปผ่านช่องแคบลอมบอกแทน ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างการผ่านคลองไทยกับผ่านช่องแคบลอมบอกแล้ว เราสามารถเก็บค่าผ่านคลองจากเรือพวกนี้ได้ถึง 12 ล้านบาทต่อเที่ยว และเรือพวกนี้จะมีวิ่งกันประมาณ 200 เที่ยวต่อปี ดังนั้นคลองไทยจะมีรายได้จากเรือพวกนี้เพียงอย่างเดียวประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท ซึ่งอันนี้ยังไม่นับรวมรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ในการทำเป็นศูนย์กระจายสินค้าในกรณีที่เรือพวกนี้ต้องการให้เรือใหญ่บรรทุกแร่มากองไว้ก่อนแล้วให้เรือเล็กมารับต่อไปอีกครั้ง

3) ระยะทางที่ใช้เป็นระยะทางที่คิดได้จากแผนที่ที่ใช้ในการเดินเรือจริง ไม่ได้ปั้นแต่งตัวเลขเพื่อหลอกประชาชนใดๆ ทั้งนั้น ประหยัดได้เท่าไหร่ก็บอกตัวเลขไปตามจริงเท่านั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องมีข้อกังขาในข้อมูลกันภายหลัง ส่วนเรื่องจำนวนเรือที่จะผ่านคลองไทยเพื่อเข้าแหลมฉบังนั้นก็ไม่ควรไปนับแต่ตัวเลขในปัจจุบัน เพราะแหลมฉบังเองก็กำลังขยายเป็นเฟส 3 และเฟส 4 เพื่อรองรับเรือคอนเทนเนอร์ขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นจำนวนเรือที่จะผ่านก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ ไหนจะมีท่าเรือคลองไทยทางฝั่งอ่าวไทยซึ่งวางตัวเป็นฮับกระจายสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีก ทำให้อนาคตต้องมีจำนวนเรือที่ผ่านคลองไทยเพิ่มขึ้นจากตัวเลขที่ใช้ตอนนี้อีกหลายเท่าตัว (ข้อมูลจากนักเดินเรือระดับโลก)

คลองไทยหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติรวมทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ร่วมกันผลักดันให้มีการศึกษา ก็กลับมาเป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นเรื่องปกติและดีเสียด้วยซ้ำไป จะได้ช่วยกันตรวจสอบทักท้วง แต่อยากกราบเรียนว่าคลองไทยถ้าเกิดขึ้นจริงจะนำบทเรียนของหลายๆ คลอง มาเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติให้มากที่สุด แต่ห่วงอย่างเดียว คือกลัวคนไทยนำคลองไทยไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดและเหตุผลที่ไม่ยอมฟังใคร หวังเอาชนะคะคานกัน

ถ้าเป็นอย่างนี้ประชาชนและชาติรับกรรมและประเทศไทยก็ยังติดกับดักในการพัฒนาประเทศต่อไป

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ และโรงเรียนดาวนายร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image