‘พรบ.งบฯ’สะดุด‘เศรษฐกิจ’สะเทือน

หมายเหตุ ความเห็นของนักวิชาการกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สะดุด ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเข้าชื่อยื่นขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญกรณี ส.ส.โหวตแทนกันในการพิจารณาวาระสองและสามซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าความล่าช้าที่ต้องรอผลวินิจฉัยอาจส่งผลกระทบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

หากงบประมาณ 2563 ล่าช้าไปกว่าแผนเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่จะนำมาใช้ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายประเมินว่างบประมาณ 2563 อาจล่าช้าไปกว่าเดิม 3 เดือน คือนำมาใช้ได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถ้าเป็นไปตามนี้เศรษฐกิจไทยคงยังไม่เสียอาการ แต่อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำกว่าเดิม ในปีนี้ศูนย์พยากรณ์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% จากปัญหางบประมาณล่าช้ามีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 2.8% ถ้าเกิดปัญหาทางการเมือง เช่น ยุบสภา จนส่งผลกระทบต่องบประมาณปี 2563 ไม่สามารถนำมาใช้ได้ และการจัดทำงบประมาณปี 2564 กว่าจะทำได้ต้องรอรัฐบาลใหม่ ตรงนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยหนักและเหนื่อย อาจส่งผลให้ปีนี้โตต่ำกว่า 2.5% ได้

Advertisement

เดิมทีเคยประเมินว่าหากงบประมาณ 2563 ประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวปลายไตรมาส 2 แต่เมื่องบล่าช้าออกไปอีก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องดีเลย์ไปอีก 1 ไตรมาส อาจจะเป็นช่วงไตรมาส 3 ถือว่าช้ามาก อย่างไรก็ตาม หากปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) คลี่คลาย สถานการณ์ท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ปัญหาภัยแล้งไม่รุนแรง สินค้าเกษตรฟื้นตัวตามบรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น น่าจะมาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดต่ำ

งบประมาณที่ยังเบิกจ่ายไม่ได้ทำให้งบลงทุนไม่ขับเคลื่อน งบจัดซื้อจัดจ้าง งบสัมมนาหายไป ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2562 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณเปราะบางสูง โดยเศรษฐกิจไทยเปราะบางมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2561 จากปัญหาเทรดวอร์ ส่งผลให้การส่งออกของไทยทรุดตัวลง ตรงนี้เป็นปัญหาจากต่างประเทศและในปี 2561 พอเกิดเหตุเรือของทัวร์จีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและท่องเที่ยว

ขณะนี้บรรยากาศเศรษฐกิจไทยเริ่มโงหัวขึ้นเพราะเทรดวอร์คลายตัว นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมา ดังนั้นภาพต่างประเทศเริ่มนิ่ง จึงมาอยู่ที่สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่กระทบจากปัจจัยต่างๆ เช่น กระทบจากรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ ทำให้คนกังวล กระทบจากงบประมาณยังไม่ผ่านสภา ราคาพืชผลยังไม่ฟื้นตัวและทรงตัวต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าวและยางพารา ปัจจุบันสถานการณ์เหล่านี้ยังมีอยู่ นอกจากนี้ค่าเงินบาทแข็งทำให้คนกังวล ยิ่งงบประมาณดีเลย์ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยทรุดยังมีต่อเนื่อง แต่จะทรุดมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลนำมาประคับประคอง ถ้างบประมาณไม่ช้ามากเศรษฐกิจอาจจะมีสัญญาณฟื้นตัวชัดในไตรมาส 2 แต่ไตรมาสแรกยังทรงตัว ก่อนหน้านี้มีความหวังว่าไตรมาส 1 จะไม่ทรุดมากไปกว่านี้

Advertisement

ถ้าถามว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะทรุดไปมากกว่านี้ไหม ตอบว่ามีโอกาส เพราะต้นปีเศรษฐกิจไทยเจอปัญหาสงครามระหว่างสหรัฐอิหร่านทำให้น้ำมันแพง ตอนนี้ราคาน้ำมันลดต่ำลง แต่เจอปัญหาโคโรนาไวรัส ส่วนปัญหาระหว่างสหรัฐและจีน ปัญหาการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือเบร็กซิท เริ่มคลี่คลาย แต่ไทยเจอปัญหา PM2.5 ภัยแล้ง และงบประมาณดีเดย์

ดังนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังคงมีความผันผวนสูง ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่ำ คนยังห่วงในเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่า และปัจจัยใหม่เกิดขึ้นคืองบประมาณดีเลย์ไปเท่าไหร่ หากงบประมาณยังไม่สามารถใช้ได้ สิ่งที่ประคับประคองคือเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังสามารถใช้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเงินค้างสต๊อกประมาณ 1-3 แสนล้านบาท นำมาลงทุน ซึ่งตรงนี้น่าจะพอเยียวยาช่วงที่ไม่มีเงินงบประมาณลงไป นอกจากนี้ให้แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อลงไปสู่ระบบ

อย่างไรก็ตาม มาตรการข้างต้นเป็นแค่การช่วยบรรเทา ผลต่อเศรษฐกิจคงไม่เหมือนกับงบประมาณ เพราะงบประมาณเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก นอกจากนี้เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจแย่ไปกว่านี้รัฐบาลต้องเร่งรับมือภัยแล้ง แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และดูแลไวรัสโคโรนาไม่ให้ระบาดในไทย

สมพร อิศวิลานนท์
นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ

เรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณสะดุดมีผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง เนื่องจากงบประมาณล่าช้าทำให้เบิกใช้ไม่ได้ ตอนนี้เศรษฐกิจชะลอตัวจึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณเข้ามาจับจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจเสมือนเฟืองอันหนึ่ง ถ้ามีการกระตุ้นเฟืองก็จะหมุน แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว รายจ่ายที่จำเป็นหรือเงินก้อนใหญ่ที่จะได้มาก็ชะลอตัวไป เช่น งบก่อสร้าง เนื่องจากยังเปิดประมูลไม่ได้

หากสังเกตดูจะพบว่าตอนนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยเดินอยู่แล้ว โดยเฉพาะการซื้อขายในชนบทที่ค่อนข้างเงียบเหงา ดังนั้น เมื่อถามว่าเมื่องบไม่ผ่านแล้วมีผลหรือไม่ มี แต่ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะพยายามแก้เกมอย่างไรถึงจะทำให้งบสามารถไหลออกมาได้

วันนี้มีไวรัสโคโรนาเข้ามาอีก การท่องเที่ยวก็หายไปอีก ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หนึ่งที่เดินอยู่ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยส่วนใหญ่ก็คือคนจีน วันนี้นักท่องเที่ยวหดตัวลง เงินที่ใช้จ่ายทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งก็คือการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้จ่ายในประเทศ ตอนนี้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวส่วนหนึ่งก็เพราะเศรษฐกิจหดตัวลงด้วยเพราะราคาพืชผลทางการเกษตรและอื่นๆ จำเป็นต้องอาศัยการกระตุ้นโดยการกระตุ้นดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พยายามทำอยู่ สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้

นี่เป็นเรื่องเลวร้ายของ ส.ส.ที่อยู่ในสภา เป็นเรื่องจริยธรรมที่ขาดหายไป รวมทั้งความไม่รับผิดชอบกับตำแหน่งหน้าที่ที่ตนมีต่อบ้านเมือง มองเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่มีวุฒิภาวะ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของคนรุ่นหลังที่จะได้เห็นภาพว่า ส.ส.จะต้องเป็นแบบอย่างของการทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่มาแสวงหาตำแหน่งหน้าที่ในเชิงชื่อเสียงหรืออิทธิพล

 

คำร้องส.ส.ฝ่ายค้าน84คน

สภาผู้แทนราษฎร
ถนนทหาร แขวงถนนนครไชยศรี
เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
22 มกราคม 2563

เรื่อง ขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่

กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.รายชื่อสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าชื่อเสนอความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148

วรรคหนึ่ง (1)

2.รายงานข่าวและภาพข่าว รวม 2 แผ่น

3.รายชื่อ ส.ส. ที่ลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระที่ 3

4.แผ่น CD บันทึกภาพการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 แผ่น

5.สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3 – 4/2557

ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563 และได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้วุฒิสภาได้พิจารณา ซึ่งต่อมาวุฒิสภาได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว นั้น

เนื่องจากได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 2 ตั้งแต่มาตรา 31 ถึงมาตรา 55 และในข้อสังเกต และการพิจารณาในวาระที่ 3 ขั้นการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ปรากฏชื่อ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคภูมิใจไทย ลงมติเห็นด้วย ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในระหว่างเวลาดังกล่าว นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ มิได้เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง การที่มีชื่อนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ลงมติเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ด้วย แสดงว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนอื่นซึ่งมิใช่นายฉลอง เทิดวีระพงศ์ ได้นำบัตรของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ไปลงคะแนนแทน นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการลงคะแนนในวาระที่ 2 ของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยคนเดียวได้ใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ อันส่อให้เห็นพฤติกรรมว่ามีการลงคะแนนแทนบุคคลอื่นด้วย ปรากฏตามคลิปภาพ สิ่งที่ส่งมาด้วย หมายเลข 4

การกระทำดังกล่าวแม้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าบุคคลใดเป็นผู้ลงมติแทน นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ แต่การกระทำเช่นนี้นอกจากเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากความขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 แล้ว ยังขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคสาม อีกด้วย ดังนั้น กระบวนการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีจึงถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรในกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันมีผลให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กรณีทำนองเดียวกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วตามคำวินิจฉัยที่ 3 – 4/2557 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557

ข้าพเจ้า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 84 คน ตามรายชื่อท้ายหนังสือ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงกราบเรียนเพื่อขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งความเห็นนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ต่อไป พร้อมกันนี้ ข้าพเจ้าได้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image