ความยากจน ความเปราะบาง และความไม่เท่าเทียมที่ไม่เป็นธรรม ในปัญหาสุขภาวะในเขตเมือง

ในช่วงนี้เราพบปัญหาด้านสุขภาวะสำคัญในเขตเมืองอยู่สองเรื่องใหญ่ที่เป็นที่สนใจของสาธารณะเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ ปัญหาฝุ่นพิษ และปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ประเทศจีน

ข่าวในช่วงนี้คงมีการรายงานการอัพเดตสถานการณ์ทั้งสองเรื่องเป็นระยะ และมีประเด็นการกดดันให้รัฐบาลต้องออกมาแสดงความสนใจและตอบคำถามข้อสงสัยในประเด็นปัญหาสุขภาวะในเขตเมือง ซึ่งน่าจะไปถึงขั้นเวชศาสตร์เขตเมืองแล้ว หมายถึงว่าไม่ใช่แค่ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงมิติของการป้องกัน รักษา เฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบ ฯลฯ ด้วย

ที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นเป็นพิเศษก็คือมิติของความเสี่ยงในประเด็นสุขภาวะในเขตเมือง (urban health risk) ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการศึกษากันอย่างกว้างขวางในระดับโลก และหนึ่งในมิติของความเสี่ยงในประเด็นสุขภาวะในเขตเมืองที่สำคัญก็คือ ความไม่เท่าเทียมที่ไม่เป็นธรรมในประเด็นสุขภาวะในเขตเมือง (urban health inequity)

ผมใช้คำว่า “ความไม่เท่าเทียมที่ไม่เป็นธรรม” เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมนั้นมีหลายระดับ

Advertisement

อาจเริ่มจาก “ความแตกต่าง” คือ มันต่างกันเฉยๆ ในสภาวะการดำรงชีวิต เช่น ใส่เสื้อคนละสี เดินทางด้วยพาหนะและวิธีเดินทางแต่ละแบบ หรืออยู่อาศัยคนละรูปลักษณะ

ในขั้นต่อมาก็คือ “ความไม่เท่าเทียม” ความไม่เท่าเทียมในชั้นต้นนี้คือ เราเริ่มเห็นแล้วว่าความแตกต่างในการดำรงชีวิต หรือโอกาสในชีวิตของเขาถูกกำหนดจากเงื่อนไขการเข้าถึงทรัยพยากรที่แตกต่างกัน เช่น เพราะเขามีเงินเท่านี้เขาจึงใส่เสื้อผ้าได้แบบนี้ เดินทางได้แบบนี้ หรือมีที่พักเช่นนี้ และอยู่อาศัยได้ในย่านนี้ แล้วเขาก็เจอปัญหาสุขภาวะบางอย่างมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่งเนื่องจากพวกเขา เปราะบาง และยากจน

แต่ขั้นที่ผมเรียกว่า “ความไม่เท่าเทียมที่ไม่เป็นธรรม” นี้ผมถือว่าเป็นขั้นสูงกว่า รุนแรงกว่า ด้วยเงื่อนไขสองประการ

Advertisement

1.เพราะความไม่เท่าเทียมดังกล่าวเป็นความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากกระบวนการเดียวกัน เกิดการกินชีวิตกัน ในความหมายที่ว่า คนที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ มีความเสี่ยงกับปัญหาสุขภาวะ และความไม่มั่นคง และอยู่อาศัยในพื้นที่ที่เสี่ยงกว่านั้นเกิดขึ้นเพราะเขาถูกลดโอกาสจากกระบวนการการพัฒนาเมือง และกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองที่ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงทรัพยากรและความมั่งคั่ง เช่น เขาไม่ได้จนเพราะเขาขี้เกียจ หรือแค่ไม่มีการศึกษา แต่เขาทำงานทั้งวัน แต่โอกาสที่เขาได้รับจากกระบวนการพัฒนาเมืองและการสร้างความมั่งคั่งในเมืองทำให้เขาเปราะบาง และลืมตาอ้าปากได้ยาก เขาอยู่ในอาชีพที่ต้องเสี่ยงกับสุขภาวะมากกว่าอาชีพอื่น เช่น หาบเร่ แผงลอย รับจ้างที่ปกป้องตัวเองจากฝุ่นพิษได้ยาก หรือต้องเจอความเสี่ยงการเจอโรคต่างๆ ที่ติดต่อ

2.ความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากกระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม อาจจะเป็นเพราะเขาไม่สามารถรวมตัวเรียกร้องได้ เขาไม่มีสิทธิในเมืองอย่างเป็นทางการ เช่น สภาพการอยู่อาศัยทำให้เขาไม่มีทะเบียนบ้านที่จะเกิดกระบวนการริเริ่มสิทธิในการเป็นพลเมืองที่เลือกตั้งได้ หรือในช่วงที่ผ่านมาระบบตัวแทนของเขาอาจถูกยกเลิกไป เพราะมีการทำรัฐประหาร หรือในการได้มาซึ่งค่าจ้างนั้นเขาอยู่ในสภาวะการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม และสวัสดิการต่างๆ นั้นไม่ทั่วถึง กอปรกับกำไรของการผลิตนั้นถูกกำหนดจากฝ่ายเจ้าของทุน หรือชนชั้นกลางมากกว่าฝ่ายพวกเขา

โดยภาพรวมแล้วสุขภาวะในเมืองนั้นมักจะดีกว่าโดยเปรียบเทียบกับสุขภาวะในชนบท แต่สิ่งที่มีการค้นพบก็คือ ความเสี่ยงของปัญหาสุขภาวะในเขตเมืองนั้นกระจายตัวอย่างไม่เท่าเทียมกันในกลุ่มทางสังคมต่างๆ และกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุดก็คือ กลุ่มที่เรียกกันว่ากลุ่มที่เปราะบาง ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนยากจน กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่แออัด และกลุ่มอยู่ในวัยที่สูงอายุ (WHO 2010 และ Montgomery 2015)

โดยภาพรวมแล้ว ปัญหาสุขภาวะในเขตเมืองอาจจะแบ่งออกเป็นมิติสำคัญสัก 4 เรื่อง

1. โรคที่ไม่ติดต่อ ซึ่งก็สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตในเมือง เช่น โรคอ้วน โรคความดัน โรคที่เกี่ยวเนื่องกับสภาวะแวดล้อมเช่นพวกโรคทางเดินหายใจ

2.โรคติดต่อ เช่น หวัด ท้องเสีย ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องกับสภาพการอยู่อาศัยใช้ชีวิตในเขตเมือง เช่น การอยู่ในย่านที่หนาแน่ ขาดการระบายอากาศ การอยู่ในพื้นที่ที่รถติด ก่อสร้าง คุณภาพน้ำดื่ม พื้นที่บ่อขยะ โรงไฟฟ้า

3.โรคที่มาจากพาหะ เช่น ไข้ ไวรัส เรื่องแบบนี้ก็เกี่ยวเนื่องกับสภาพของเมืองที่เราพักอาศัย และย่าน/ชุมชนที่พักอาศัย ซึ่งก็ขึ้นกับสภาพแวดล้อมของเมืองอยู่ดี เช่น น้ำขัง ทำให้มียุง หรือมีฝูงนกในพื้นที่

4.ภัยพิบัติเมือง ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่โรคทั้ง 3 แบบได้หมด เช่น น้ำท่วม พายุเข้า ฝุ่นพิษถล่ม ฯลฯ

ตัวกำหนดหรือเงื่อนไขที่มีต่อสุขภาวะในเขตเมือง และการกระจาย/ลดความเสี่ยงของสุขภาวะในเขตเมือง โดยเฉพาะต่อกลุ่มคนที่มีความเปราะบางในเขตเมืองนั้นองค์การอนามัยโลกชี้ว่า มีอยู่ 3 ประการใหญ่ๆ (WHO)

1.สภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจของเมือง นับตั้งแต่คุณภาพของการบริหารจัดการเมืองของรัฐ การจ้างงาน บริการสาธารณสุข การศึกษา เครือข่ายการสนับสนุนทางสังคมของแต่ละกลุ่มคน ความปลอดภัยและความมั่นคง และความเท่าเทียมกันทางเพศ

2.สภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมือง ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติ (ลม ฝน น้ำ) หรือที่มนุษย์สร้างขึ้น เรามักพบว่ากลุ่มคนที่เปราะบางในเมืองนั้นมักจะอยู่ในสภาพแวดล้อมในเขตเมืองที่เสี่ยงต่อสุขภาวะ และภัยพิบัติมากกว่า อาทิ อยู่ริมคลอง ริมน้ำ อยู่ในพื้นที่แออัด หรือไม่มีเครื่องปรับ และกรองอากาศ

3.คุณลักษณะทางสังคม และส่วนบุคคล เช่น อายุ และเพศในเมืองนั้น มีคนแก่มากไหม เพศไหนมากกว่ากัน มีเด็กเยอะไหม มีคนอพยพมากไหม

ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า เวลาที่เราเจอปัญหาทั้งภัยพิบัติและสุขภาวะในเมืองนั้น เรื่องใหญ่ก็คือ เราค้นพบสิ่งที่มากกว่าปัญหาเฉพาะตัวเราไหม และเรามีเครือข่ายทางสังคม และรัฐบาลทำหน้าที่บริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ไหม ไม่ใช่เรามีนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าตัวเองยังไหว เพราะแข็งแรง แต่คนอื่นนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อีกเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจก็คือ ในกรณีของไวรัสจากอู่ฮั่นที่ความกังวลของสังคมไทยกำลังเพิ่มขึ้น แต่จะสนใจกันเฉพาะสองเรื่องหลักคือ สมรรถภาพและประสิทธิภาพของรัฐบาลในการจัดการเรื่องดังกล่าว และความกังวลต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเมืองไทย

บทความล่าสุดใน Foreign Policy ของ Rui Zong และ James Palmer ชี้ให้เห็นปัญหาอีกมุมหนึ่งของเรื่องที่เกิดในอู่ฮั่นที่ไม่เหมือนกับสำนักข่าวต่างประเทศที่เน้นไปที่ภาพเมืองร้าง หรือคนออกจากเมืองเที่ยวสุดท้ายก่อนที่เมืองจะถูกปิด

ประเด็นที่คนไม่ได้พูดกันมากในเรื่องไวรัสที่อู่ฮั่นก็คือ คนยากจนและคนที่เปราะบางในเมืองอู่ฮั่นนั้นต่างหากที่กำลังเจอปัญหาสุขภาวะมากที่สุด เมื่อเทียบกับคนที่เดินทางออกจากอู่ฮั่น และคนทั้งโลกที่กำลังมองอู่ฮั่น และคนจีนที่เดินทางออกนอกประเทศในฐานะเชื้อโรคและพาหะ

คนจนในเมืองอู่ฮั่นคือ กลุ่มคนที่มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสมากที่สุด และเชื้อโรคกระจายตัวในอัตราที่เร็วที่สุด เมื่อเทียบกับคนในกลุ่มอื่นๆ และยังเป็นกลุ่มคนที่เป็นเหยื่อต่อมาตรการที่เข้มงวดขั้นสูงสุดของรัฐบาลจีนที่กำลังเกิดขึ้น

ตามความเข้าใจในเบื้องต้น เราได้รับทราบข้อมูลว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เกิดจากการติดต่อระหว่างสัตว์กับมนุษย์ โดยเกิดขึ้นที่ตลาดค้าส่งอาหารทะเลของเมือง ซึ่งตลาดดังกล่าวนี้เป็นตลาดที่ค้าขายเนื้อสัตว์ป่าต่างๆ รวมทั้งค้างคาว ซึ่งเชื่อว่าเป็นพาหะของเชื้อโรคชนิดนี้

ประเด็นอยู่ที่ว่าคนงานที่ทำงานหลักในตลาด โดยเฉพาะที่สัมผัสและเสี่ยงกับโรคเหล่านี้มากที่สุด โดยเฉพาะคนงานที่อพยพมาจากถิ่นอื่น เพราะอู่ฮั่นเป็นเมืองใหญ่กลางประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และเป็นเมืองที่เชื่อมกับเมืองใหญ่และเล็กหลายเมืองในภูมิภาคนี้

เมืองอู่ฮั่นอยู่ในมณฑลหูเป่ย (Hubei) ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งการขยายตัวไปในพื้นที่ชานเมือง และการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการรองรับความต้องการบริการทางสาธารณสุข และที่สำคัญในช่วงเวลาก่อนที่จะปิดเมืองเพื่อกักกันโรค (quarantine) ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่อพยพออกไปจากเมืองบ้างแล้ว ทั้งจากปัญหาการแพร่ระบาด และจากช่วงเทศกาลตรุษจีนที่คนเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเฉลิมฉลอง

ในขณะที่พวกเราตื่นกลัวกับกระแสนักท่องเที่ยวที่มาจากอู่ฮั่น และเมืองใกล้เคียงที่มาสู่ไทย และเมืองอื่นๆ ของโลก สิ่งที่เราน่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้นก็คือ บรรดานักท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวที่อาจจะติดเชื้อนี้เป็นพวกที่ได้เปรียบทางสังคมมากกว่าคนอื่นๆ ที่ติดอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายในเมืองอู่ฮั่น และเมืองอื่นๆ ว่ากันว่าประชากรจีนนั้นมีเพียงไม่ถึงร้อยละสิบเท่านั้นที่มีพาสปอร์ต และบรรดานักท่องเที่ยวเหล่านี้ ซึ่งย่อมมีอันจะกินพอจะนั่งเครื่องบินมาให้เราตรวจ ก็น่าจะพบและตรวจได้ง่ายกว่าบรรดาคนงานที่ทำงานหนักและมีโอกาสสัมผัสกับ
เชื้อโรคได้มากกว่า และคนเหล่านั้นก็นั่งรถกระบะ
รถบรรทุกแออัดกันกลับไปอาศัยที่ชานเมืองอู่ฮั่น หรือนั่งรถขนส่งสาธารณะข้ามเมือง เพื่อไปฉลองเทศกาลตรุษจีน หรือบางคนอาจจะยังติดอยู่ในอู่ฮั่น เพราะถ้ากลับบ้านก็มีค่าใช้จ่าย

นอกจากนั้น ยังมีประชากรจีนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมักอยู่ในสถานะที่ยากจนที่เข้าไม่ถึงระบบทะเบียนราษฎร เช่น ไม่ได้แจ้งเกิด หรือทะเบียนราษฎรหาย และถ้าไปทำก็จะต้องเดินทางไกลกลับเมืองตัวเองในกรณีอพยพมา ระบบการลงทะเบียนในถิ่นที่อยู่อาศัยของตัวเอง คือ ข้ามย้ายถิ่น (hukou) ก็ส่งผลให้ระบบประกันสังคมนั้นไม่ยืดหยุ่นในกรณีที่คนข้ามแดนไปหากินในพื้นที่อื่น รวมทั้งระดับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเองนั้นก็มีเพียงแค่ร้อยละ 60 เท่านั้น นอกจากนี้ ในเขตชนบทของเมืองนั้นการเข้าถึงความช่วยเหลือและบริการจากรัฐเองก็ยังน้อยกว่าในเมือง ในเรื่องของการรับบริการช่วยเหลือจากปัญหาไวรัสที่เกิดขึ้น ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงหยุดตรุษจีน (ซึ่งของจีนนั้นหยุดอย่างต่ำเป็นอาทิตย์ถึงสองอาทิตย์) การได้รับหน้ากาก หรือโรงงานที่ผลิตหน้ากากก็หยุดกิจการชั่วคราวเสียมาก ผู้ที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขส่วนใหญ่จึงยังคงเป็นชนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองมากกว่าคนยากจนในชนบท หรือขอบของเมือง

มิพักต้องกล่าวถึงระบบการแพทย์ ซึ่งแพทย์ของจีนนั้นมีหลายระดับ หมอที่มีวุฒิระดับแพทย์ศาสตร์บัณฑิตแบบไทย และอเมริกานั้นมีน้อยและกระจุกตัวในเขตเมือง ซึ่งตอนนี้จำนวนคนที่เข้ารับบริการก็ล้นทะลักทุกโรงพยาบาล

นอกเหนือจากความเสี่ยงกว่ากลุ่มอื่นของบรรดาคนงาน พบว่าในส่วนของอายุของผู้ป่วยและติดเชื้อ คนสูงอายุที่อายุ 75 ปีขึ้นไป ติดเชื้อและเสียชีวิตมากกว่าช่วงวัยอื่น (แต่เจอการติดเชื้อทุกช่วงวัยแล้ว) และพวกที่ติดเชื้อมักจะอยู่อาศัยในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือป้องกันได้ต่ำกว่าวัยอื่นๆ และยังไม่นับคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ ซึ่งย่อมมีผลที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตนั้นอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงก็ได้

อีกด้านหนึ่งคือ ภัยพิบัติต่างๆ นั้นมักจะนำมาซึ่งความตื่นตระหนกเกินล้นของชนชั้นนำ (elite panic) ที่จะมองคนจน หรือคนนอกจากพวกเขาเป็นคนอันตรายและภัย มีการอ้างถึงกรณีแผ่นดินไหวเมื่อ ค.ศ.1976 ที่เมือง Tangshan ที่คนชั้นกลางในเมืองทุบตีคนในชนบทที่เดินทางเข้าเมืองเพื่อขอความช่วยเหลือ พวกเขาถูกทุบตีจนตายด้วยข้อหาที่ว่าเป็นพวกที่จะเข้ามาปล้นชิงทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าคนที่ติดอยู่เมืองอู่ฮั่นนั้นตอนนี้ย่อมถูกมองด้วยความกลัว และหวาดระแวงจากพื้นที่โดยรอบ และจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมสถานการณ์อยู่ ในอีกด้านหนึ่งข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็มีอยู่หลากหลาย เราควรพิจารณาด้วยว่าข่าวหรือคลิปต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมานั้นส่งผลอย่างไรบ้างในสังคม แต่โดยเงื่อนไขความเป็นอำนาจนิยมของรัฐ เรามักจะพบว่าเส้นแบ่งของการพิจารณาในสายตาของรัฐนั้นจะบางมาก ระหว่างข่าวสารที่ประชาชนปล่อยมา หรือตั้งคำถามกับรัฐบาล กับการที่รัฐบาลไม่ตอบสนองต่อการสื่อสารของประชาชน และมองว่าสิ่งที่ประชาชนส่งข้อมูลออกมา หรือวิจารณ์รัฐบาลนั้นเป็นการกระทำที่สร้างความแตกแยกให้กับสังคม

ท้ายที่สุดนี้ผมคิดว่าในการติดตามข่าวสาร และเผชิญหน้ากับวิกฤตด้านสุขภาวะในเขตเมือง ไม่ว่าทั้งกรณีฝุ่นพิษ และการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เราคงต้องมีสติพิจารณาเรื่องหลายๆ เรื่องร่วมกัน และไม่ละเลยคนที่เปราะบางกว่าเรา หรือตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อมในเมืองที่อาจจะส่งผลให้สุขภาวะเหล่านี้แย่ลงไปอีกนะครับ

(หมายเหตุ – ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก World Health Organization. Health, Environment, and Sustainable Development. Www.who.int. WHO. 2010., Hidden Cities: Unmasking and Overcoming Health Inequities in Urban Setting. WHO and UN-Habitat., M.R.Montgomery. 2015. Urban Health in Low and Middle Income Countries. In R.Detels. Et al. Oxford Textbook of Global Public Health. 6th edition. Oxford: Oxford University Press. และ R.Zhong and J.Palmer. 2020. “Wuhan’s Virus and Quarantine Will Hit the Poor Hardest”. Foreignpolicy.com. 22 Jan 20.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image