วาสนา โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“แข่งเรือ แข่งพาย แข่งได้ แต่แข่งวาสนามันยาก” อุปมาว่าชีวิตคนเราที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้าน ยศถาบรรดาศักดิ์ หน้าที่การงาน ความร่ำรวยเป็นเศรษฐี บางคนไม่ได้ทำอะไร วันดีคืนดีก็มีคนมาเสนอตำแหน่ง หรือถูกหวยรางวัลเบอร์ 1 คนก็จะบอกว่า เขาคนนั้นเป็นคนมี “วาสนา” ดี

คนไทยหลายคนมักพูดว่าวาสนา แข่งกันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับบุญเก่าที่ทำเอาไว้แต่ชาติปางก่อนส่งผลถึงสมัยนี้ สิ่งนี้เป็นความเชื่อของคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ยากดีมีจน ปุถุชน สูงศักดิ์ แม้ผู้เขียนเอง (ฮา)

ได้อ่านหนังสือของท่านพระพรหมคุณาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เรื่อง สร้างวาสนา เพิ่มค่าให้อายุ ผู้เขียนชอบคำที่ว่า “เราสร้างวาสนา แล้ววาสนาก็สร้างเรา” ซึ่งผู้เขียนเองก็ยอมรับว่า ไม่เคยรู้ว่า “วาสนา” อยากได้ต้องสร้างเอง ไม่มีใครทำให้เราได้ และก็ใช้ว่าอยากได้ แล้วมันจะได้ดั่งใจคิด ผู้เขียนจึงคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้คนที่ยังท้อแท้ในบุญวาสนา ไม่เข้าใจว่ามันมีได้ สร้างเองได้ เพราะส่วนใหญ่เขามักประสบปัญหาอุปสรรคจากการทำงาน เมื่อมีสิ่งบั่นทอนความรู้สึกเขาก็จะเกิดการท้อแท้ในวาสนาที่ตัวพอมีอยู่…(คิดเอง)

ท่านเจ้าประคุณบอกว่า…ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีจิตใจของเราเกิดอย่างนี้บ่อยๆ ว่า “เราสร้างวาสนา แล้ววาสนาก็สร้างเรา” จิตก็จะคุ้นเป็น “นิสัย” คือ คนเรานี้อยู่ด้วยตามความ “เคยชิน” เป็นส่วนใหญ่ เราไม่ค่อยรู้ตัวหรอกว่าที่เราอยู่กันนี้เราทำอะไรๆ ไปตามความเคยชินบ่อยๆ ไม่ว่าจะพูดกับใคร จะเดินกับใคร อย่างไร เวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราจะตอบสนองอย่างไร ฯลฯ เรามักจะทำตามความเคยชิน

Advertisement

ปกติแล้วก่อนที่จะมีความเคยชินก็ต้องมีการสั่งสมขึ้นมา คือ ทำบ่อยๆ บ่อยจนทำได้โดยไม่รู้ตัว แต่ท่านเตือนว่าถ้าเราปล่อยไปอย่างนี้ มันจะเคยชินแบบไม่แน่นอน ว่าจะร้ายหรือดี และเราก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง จึงขอให้มี “เจตนาตั้งใจ” สร้างความเคยชินที่ดี

ความเคยชินที่เกิดขึ้นนี้มักเรียกว่า “วาสนา” ความหมายที่แท้และดั้งเดิม ก็คือ ความเคยชินตั้งแต่จิตใจ ตลอดจนการแสดงออกที่กลายเป็นลักษณะประจำตัว ใครเคยมีความเคยชินอย่างไรก็เป็น “วาสนา” ก็จะพาเขาไปให้ทำอย่างนั้น

หากวิเคราะห์ดูเพียงแค่นี้จะพบว่า “วาสนา” เป็นพฤติกรรมชนิดหนึ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วด้วยจิตวิญญาณ หรือบุคคลนี้ชอบทำและมีค่านิยม ยอมรับศรัทธา ชอบที่จะทำอย่างนั้นๆ เสมอๆ ด้วยการชี้นำของความรู้สึกที่เคยชิน กล่าวคือ ต้นเหตุเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น เขาก็มักจะไปทำอย่างนั้นเสมอๆ บางทีเราเรียกกันว่า “วาสนาพาให้ไป” หรืออย่างบางคนอยู่ไกลถึงแม่ฮ่องสอนเกิดไปชอบแต่งงานกับคนใต้ จังหวัดยะลา ก็จะแต่งอย่างนี้มักเรียกว่า วาสนาพาไปและเขาต้องเป็นเนื้อคู่กันจึงต้องเจอกันและแต่งงานกันในที่สุด

Advertisement

“วาสนาพาให้ไป” คือใครสั่งสมมาอย่างไรก็ไปตามนั้น แต่วาสนานี้แหละจะเป็นตัวการที่ทำให้ชีวิตของเราผันผวนไปตามมัน เพราะฉะนั้น “วาสนา” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่รู้ตัว ท่านก็เลยบอกว่าให้เรามาตั้งใจ “สร้างวาสนา” ให้ดี เพราะ “วาสนา” นั้นสร้างได้

คนไทยชอบพูดว่า “วาสนา” นี้แข่งกันไม่ได้ แต่พระบอกว่า ให้แก้ไขวาสนา ให้เราปรับปรุงวาสนา เพราะมันอยู่ที่ “ตัวเรา” ที่เราสร้างมันขึ้นมา แต่การแก้ไขอาจยากนิดหน่อย เพราะความเคย “ชิน” นี้แก้ยากแก้เย็น แต่แก้ได้ปรับปรุงได้ ถ้าเราทำก็จะมีผลต่อชีวิตอย่างมากมาย

ถ้าคิดเป็น ก็พลิกวาสนาได้…บางคนเกิดมา “จน” มักจะบ่นว่าตนมีวาสนาไม่ดี หรือบางทีบ่นบอกว่า เราไม่มีวาสนาพูดอย่างนี้ไม่ถูก คนจนวาสนาดีก็มี วาสนาไม่ดีก็มี บางคนก็อับวาสนาได้

ถ้าเกิดมาแล้ว “จน” มัวแต่หดหู่ ระย่อท้อแท้ใจ ได้แต่ขุ่นมัว เศร้าหมอง คิดอย่างนั้นอยู่เรื่อยๆ ก็แน่นอนล่ะว่าวาสนาไม่ดี เพราะคิดเคยชินไปในทางไม่ดี จนเกิดความท้อแท้อ่อนแอก็กลับกลายเป็น “ลักษณะประจำตัว”

แต่ถ้าเกิดมาจน แล้วคิดถูกทางก็ดี เราเกิดมาจนนี่แหละ จะต้องเจอ “แบบฝึกหัดมาก” พระท่านว่าคนนี้เป็นสัตว์พิเศษจะประเสริฐด้วยการฝึกเพราะ “จน” เราจึงต้องมีเรื่องยากลำบากที่จะต้องพยายามแก้ให้มากนี่แหละคือได้ทำแบบฝึกหัดมากๆ

เมื่อเราทำแบบฝึกหัดมากๆ เราก็ยิ่ง “พัฒนา” มาก ได้พัฒนาทักษะได้ทำอะไรได้ชำนิชำนาญ พัฒนาจิตใจให้อดทนเข้มแข็ง มีความเพียรพยายามใจสู้ จะฝึกสติ ฝึกสมาธิ ก็ได้ทั้งสิ้น และที่สำคัญยอดเยี่ยมคือ “ได้ฝึกปัญญา” ให้คิดหาทางแก้ไข “ปัญหา”

คนเราเกิดมาร่ำรวยมั่งมี ถ้าไม่รู้จัก “คิด” ไปหาแบบฝึกหัดมาทำ มัวแต่หลงเพลินไปตามความสุขสบายนั่นแหละจะเป็นวาสนาไม่ดี ต่อไปก็กลายเป็นคนอ่อนแอ ทำอะไรไม่เป็น ปัญญาก็ไม่พัฒนา กลายเป็นคนเสียเปรียบ

ใครจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ จะดูที่ฐานะการงานว่ารวย ว่าจน เป็นต้น…ยังไม่แน่… คนที่รู้จักคิด คิดเป็น คิดถูกต้องสามารถพลิกความเสียเปรียบเป็นความได้เปรียบ แต่คนที่คิดผิดกลับพลิกความได้เปรียบเป็นความเสียเปรียบ และทำให้วาสนาตกต่ำไปเลย

จึงต้องจำให้แม่นว่า ไม่มีใครเสียเปรียบหรือได้เปรียบอย่างสมบูรณ์ ถ้าคิดเป็น ก็พลิกความเสียเปรียบให้เป็นความได้เปรียบ แต่อย่าเอาเปรียบกัน มาสร้างวาสนากันให้ดี จะดีกว่า

พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์นั้นเป็นผู้ที่พ้นจากอำนาจวาสนา พระพุทธเจ้าทรงละกิเลส พร้อมทั้งวาสนาได้หมด หมายความว่าพระองค์ไม่อยู่ใต้อำนาจตามความเคยชินแต่อยู่ด้วย “สติปัญญา”

วาสนาไม่ดี จะสร้างให้มีวาสนาดีได้หรือไม่?: นี่คือปัญหาธรรมดาที่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆ ท่านคงจะเชื่อ คนเราจะมีวาสนาดีหรือไม่ดี มันสืบเนื่องมาจากต้นกำเนิดของชีวิต เป็นคนมีบุญเก่าดีหรือไม่ดีมาตั้งแต่เกิด เรียกว่าชาติกำเนิดดีเสียอย่าง เช่น เกิดมาร่ำรวย เกิดมาอยู่บนกองเงินกองทอง หรือพ่อแม่มียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งแล้ว ลูกที่เกิดมาอย่างไรก็ดีแน่ๆ ถ้าต้นทุนไม่ดีเกิดมาอย่างไรก็วาสนาไม่ดีอย่างแน่นอน…สิ่งนี้คิดผิด

ท่านเจ้าคุณบอกเล่าว่า…คนเราสามารถสร้างวาสนาดีๆ ที่จะทำให้เกิดสุขได้ เป็นเรื่องของปุถุชนหรือคนสามัญ สามารถพยายามแก้ไขวาสนาที่ไม่ดี และปรับปรุงวาสนาให้เป็นไปในทางที่ดีได้ วิถีที่สำคัญที่สุดคือ “การที่เราตั้งใจทำจิตใจให้เกิดกุศลอยู่เสมอๆ” จิตใจของเราเป็นไปตามที่มันเคยชิน อย่างคนที่เคยชินในการปรุงแต่งไม่ดี ไปนั่งไหนเดี๋ยวก็ไปเก็บเอาอารมณ์ที่ผ่านมา ที่เกิดจากกระทบกระทั่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วนำมาครุ่นคิด กระทบกระทั่งตัวเอง ทำให้ไม่สบาย ที่นี่ถ้าเรารู้ตัว “มีสติ” ก็พยายามฝึกยับยั้งให้ได้ ถ้าคิดอะไรไม่ดีก็ “หยุด” แล้วเอาสติไปจับ คือพลิกให้ไปนึกระลึกเอาแต่สิ่งที่ “ดี” ขึ้นมา ระลึกขึ้นมาแล้วทำให้จิตใจ “สบาย” ปรุงแต่งในทางที่ดี ต่อไปจิตก็จะเคยชินแต่สิ่งที่ดีๆ พอไปนั่งที่ไหนอยู่เงียบๆ จิตก็จะ “สบาย” นึกถึงเรื่องที่ดีๆ แล้วก็มีความสุขได้

ท่านเจ้าคุณเน้นว่า…คนเรานี้สร้างความสุขได้ “สร้างวาสนาให้แก่ตัวเองได้” สร้างวิถีชีวิตได้ ด้วยการกระทำอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยการทำให้มีการเกิดบ่อยๆ ของสิ่งที่ดีงาม เพราะฉะนั้น การเกิดจึงเป็นนิมิต หมายความว่าให้ชาวพุทธได้คติหรือได้ประโยชน์จากวันสำคัญของตัวตนของเรา จัดให้มีเองหรือคนอื่นจัดให้โดยเฉพาะวันเกิด วันปีใหม่ แล้วเราตั้งใจว่าเราจะสร้างวาสนาดีๆ ให้กับชีวิตของเรา ด้วยการสร้าง “จิตใจที่ดี”

ถ้าเราๆ ท่านๆ ได้นำวิธีปฏิบัติดังกล่าวไปฝึกใช้จริงๆ จังๆ ก็จะเกิดประโยชน์อย่างแน่นอน จะเป็นบุญเป็นกุศล ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม อย่างน้อยก็เตือนตัวเองเมื่อเราฝึกทำบ่อยๆ จะได้เกิดกุศล เราจะไม่ยอมให้เกิดอกุศล เช่น ใจที่ขุ่นมัวเศร้าหมองเราไม่เอาทั้งนั้น

เมื่อเราสร้าง “จิตใจที่ดี” ต้องเกิด 5 อย่างเป็นประจำ หรือที่เรียกว่าใจเรามีการพัฒนาที่ดี 5 อย่าง คือ ใจ…มีปราโมทย์ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีสุข มีสติมีสมาธิ : ซึ่งก็คือใจ มีร่าเริงเบิกบานใจ อิ่มใจ สบายใจ คล่องใจ มีใจแน่วแน่ สงบมั่นคง ไม่หวั่นไหว เรียกว่า “สมาธิ” มา “ปัญญา” เกิด จิตใจจะผ่องใส แล้วจะคิด จำทำอะไรก็จะเดินหน้าไปโลด สะดวก ปลอดโปร่ง ทำอะไรๆ ก็ดูดีไปทุกอย่าง ด้วยการมีความรู้สึกประมาณหนึ่งว่า เรามี “วาสนาดี” ที่เราๆ ท่านๆ สามารถสร้างได้เองด้วยตัวเรา

แต่ผู้เขียนมีข้อคิดอย่างหนึ่งว่า ชีวิตเราๆ อย่าไปแอบอิงแต่เรื่อง “วาสนา” อย่างเดียวเท่านั้น พึงคิดตาม “ธรรมชาติ” ตามเหตุแห่งปัจจัย ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ล้วนมีจุด “เปลี่ยน” ของ “ความสำเร็จ” และ “ปัญหา”

มักจะแทรกอยู่ ทุกช่วงเวลา…ของชีวิต

ปัญหาจะดูใหญ่โต…เมื่อใจเรา…อ่อนแอ

และเราจะสูญเสียการ…มองโอกาส…ในแง่ดี

ช่วงเวลาที่ยากลำบาก…อาจเป็น…จุดเปลี่ยน

จงมี “สมาธิ” ในทุกเวลา “ปัญญา” จะเกิดทุกเมื่อ เมื่อถึง “จุดเปลี่ยน” แล้วจะดีเองในที่สุดคือ สู่ “ความสำเร็จ” ได้นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image