คอนเสิร์ตใช้หนี้ สะท้อนทัศนคติ ความเหลื่อมล้ำ และชนชั้น โดย สุกรี เจริญสุข

ตีตราว่าเป็นหนี้
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 สภามหาวิทยาลัยมหิดล โดยนายกสภา (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) ได้สรุปว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นหนี้รวมเงิน 41.04 ล้านบาท ซึ่งได้ยืมไปลงทุนก่อสร้างอาคาร จะต้องใช้หนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลให้เสร็จเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ส่วนงานอื่นๆ ที่ยืมเงินและเป็นหนี้กับมหาวิทยาลัยมหิดล

อธิการบดี (ศ.นพ.อุดม คชินทร) ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เร่งรัดให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ต้องใช้หนี้ให้เสร็จ โดยคณบดีไม่มีโอกาสเข้าไปชี้แจงต่อสภาแต่อย่างใด เมื่อได้รับทราบเอกสารแจ้งหนี้อย่างเป็นทางการ จึงได้แจ้งที่ประชุมกรรมการบริหารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เพื่อหาช่องทางที่จะชำระหนี้ให้เสร็จ โดยเห็นชอบที่จะจัดแสดงคอนเสิร์ต เพื่อหาเงินใช้หนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล ให้หมดก่อนที่คณบดีจะหมดวาระลงจากตำแหน่ง (19 กันยายน 2560) ซึ่งจะได้ไม่เป็นภาระแก่คนอื่นต่อไป

เหตุแห่งหนี้
มูลเหตุหนี้ เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2545 นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการของบประมาณก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ครั้งนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อของบก่อสร้างอาคารภูมิพลสังคีต ซึ่งผ่านความเห็นชอบคณะอนุกรรมการจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ สำนักนายกรัฐมนตรี และได้มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างอาคารภูมิพลสังคีต เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี

โครงการก่อสร้างอาคารภูมิพลสังคีตดังกล่าว มีผู้ที่รับผิดชอบคือ โครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้เป็นหอแสดงดนตรีวงเงินก่อสร้าง 100 ล้านบาท โดยที่มีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ร่วมออกเงิน (20%) และรัฐบาลออกงบในส่วนที่เหลือ (80%) ซึ่งเป็นวิธีใหม่ของการให้งบประมาณก่อสร้างของสำนักงบประมาณ ถือเป็นต้นแบบปฏิบัติในเวลาต่อมา ที่มหาวิทยาลัยจะต้องออกเงินรายได้ร่วมสมทบ

Advertisement

งบประมาณก่อสร้าง (20%) อาคารภูมิพลสังคีต อธิการบดีสมัยนั้น (ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ) เป็นผู้รับผิดชอบ บันทึกลงในบัญชีมหาวิทยาลัยมหิดลไว้ว่า โครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นหนี้ค่าก่อสร้างกับมหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาเมื่อวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้รับประกาศจัดตั้งเป็นส่วนงาน ในราชกิจจานุเบกษา (20 พฤศจิกายน 2552) ก็มีหนี้ส่วนนี้ติดตัวมาด้วย

ปี พ.ศ.2548 อธิการบดี (ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ)อนุมัติให้เงินของมหาวิทยาลัยมหิดลอีก 15 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างซื้อเปียโนและอุปกรณ์ดนตรี โครงการสอนดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มีหนี้เพิ่มขึ้นในบัญชีรวม 35 ล้านบาท ต่อมาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ขาดสภาพคล่องในการจัดการ ได้ขอยืมมหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่มอีก 10 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 45 ล้านบาท ซึ่งได้พยายามใช้หนี้ไปบ้างแล้ว

คงเหลือเป็นหนี้ (41.04 ล้านบาท) อย่างที่เป็นอยู่

Advertisement

ยอมรับเป็นหนี้
เมื่อเปลี่ยนอธิการบดีมาในสมัยของ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร (พ.ศ.2551) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก็ถูกเร่งรัดให้ใช้หนี้คืน แต่เนื่องจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ยังขาดสภาพคล่องอยู่ ได้พยายามจ่ายคืนแล้ว แต่ก็จ่ายไม่ได้ตามที่ตกลงไว้ เพราะวิทยาลัยดุริยางคศิลป์หาเงินรายได้ไม่พอที่จะจ่าย ในที่สุดต้องยอมจำนนว่าขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถที่จะใช้หนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลอย่างที่ตั้งใจไว้ได้

คณบดีได้เปิดเจรจาเพื่อขอยุติการใช้หนี้กับอธิการบดี ด้วยความเข้าใจเป็นอย่างดีของอธิการบดี ก็ได้รับความเชื่อมั่นจากท่านว่า “อาจารย์สุกรีอย่าได้กังวลเรื่องหนี้อีกเลย ให้ทำงานต่อไป ตราบที่ผมยังอยู่ในตำแหน่ง เราก็จะไม่คุยเรื่องหนี้กันอีก” อธิการบดี (ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร) ให้คำมั่นสัญญา

หนี้เก่ากำเริบ
อธิการบดีสมัย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน (พ.ศ.2555) เรื่องหนี้ก็กำเริบขึ้นมาอีก ประกอบกับการนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของท่านอธิการบดี นำไปสู่การเอาปี๊บคลุมหัว ที่สุดหนี้เก่าก็เปิดแผลกำเริบ บัญชีหนี้ถูกตรวจโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาจนถึงวันนี้

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) มีหนี้ทางใจกับคณบดี (สุกรี เจริญสุข) มานานแล้ว ตั้งแต่เรื่องการรับรองมาตรฐานหลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต เรื่องการดำรงตำแหน่งวาระที่ 2 ของคณบดี และเรื่องการคลุมปี๊บประท้วงอธิการบดี นายกสภาจึงได้เร่งรัดให้จัดการเรื่องหนี้ให้ชัดเจน ในการประชุมครั้งสุดท้ายที่ท่านเป็นนายกสภา เพื่อสรุปให้ชัดเจนว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นหนี้และต้องจ่าย

แก้ปัญหาหนี้
หนี้ระหว่างวิทยาลัยดุริยางคศิลป์กับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเรื่องภายในระหว่างเงินกระเป๋าซ้ายและเงินกระเป๋าขวา คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เองก็ได้พยายามเจรจาต่อรองหลายครั้งทุกสมัยก็ไม่สำเร็จ ความจริงแล้ววิทยาลัยดุริยางคศิลป์ไม่ได้เป็นนิติบุคคล ยังอยู่ภายใต้การจัดการของมหาวิทยาลัยมหิดล ทรัพย์สินทุกอย่างทุกชิ้นที่มีในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยมหิดลทั้งหมด

หากคณบดีรู้สึกน้อยใจ แล้วลาออกไปจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ คือหนีหนี้ ปล่อยให้มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าไปบริหารและจัดการไปเลย ซึ่งเกรงว่าจะเจ๊งกันหมด เพราะผู้บริหารใหม่ไม่มีความรู้เรื่องดนตรี ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะบริหารศิลปิน ไม่เป็นมิตรและไม่จริงใจ แถมยังเห็นแก่เงินเป็นเรื่องใหญ่และเงินสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

หากจ่ายหนี้เป็นเงินสดให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็จะทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ขาดสภาพคล่องทันที ไม่มีเงินในการจัดการ ซึ่งเงินที่มีอยู่ก็เป็นเงินที่รอจ่ายพนักงานและอาจารย์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้งบสนับสนุนจากรัฐน้อย (29%) จึงต้องหารายได้มาสนับสนุนในการดำเนินกิจการ หากไม่มีเงินที่จะบริหารจัดการก็จะทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ไม่มั่นคงทันที อาจารย์ฝรั่งทั้งหลาย (40%) จะลาออกไป วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก็จะต่ำลง หมดราคาความน่าเชื่อถือ วันนี้แม้จะไม่มีเงิน บอกใครๆ ก็ไม่มีใครเชื่อว่าไม่มีเงิน เพราะดูแล้วเป็นลูกคนรวย

หากคิดจะประกาศขายอาคารที่ได้งบประมาณก่อสร้าง หรือประกาศขายเปียโนที่ซื้อไว้ ก็จะสร้างความเสียหายกับหน้าตามหาวิทยาลัยมหิดลอย่างยิ่ง ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ นักเรียนก็จะไม่มา ความรู้สึกแตกแยกและความรู้สึกรังเกียจก็จะเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นเด็กดื้อเบี้ยวไม่จ่าย จะยิ่งทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ตกต่ำลงไปอีก

เหลือทางเลือกอยู่ทางเดียวที่นุ่มนวลที่สุดคือ คณบดีก็แก่แล้ว ควรหาเงินใช้หนี้ให้หมด เพื่อว่าคนรุ่นหลังจะได้ไม่ตราหน้าว่าเป็นคณบดีที่สร้างหนี้เอาไว้ ยังสร้างภาระความเกลียดชังไว้อีก ทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นองค์กรที่ไม่น่ารัก ใครๆ ก็ไม่อยากจะคบ สูญเสียความน่าเชื่อถือ ดีไม่ดีถูกตราหน้าว่าเป็นนักเลงไปเสียอีก

บทเพลงสำหรับวันพรุ่งนี้
ดนตรีเป็นอาชีพของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ดังนั้น การจัดแสดงดนตรี จึงเป็นวิธีเดียวที่ถนัดและเชื่อว่าจะหาเงินใช้หนี้ได้ อาจใช้เวลาใช้หนี้นาน แต่ก็ดีกว่าที่จะหนีหนี้ เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จะต้องไม่เกเรและไม่เบี้ยว ดังนั้น การจัดคอนเสิร์ตเพื่อหาเงินใช้หนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิธีที่กล้าหาญ เป็นวิธีที่สู้อย่างซึ่งหน้า อย่างน้อยทุกคนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์จะได้ตระหนักและไม่หลงลืมตัวว่ามีฐานะเป็นอย่างไร

รายการแรก เป็นการแสดงของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย เป็นรายการโอเปร่าเรื่องแรกที่เกิดขึ้นในเมืองไทยคือ คาวาล์เลอเรีย รูสติกานา (Cavalleria Rusticana) แสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2461 โดยคอนดักเตอร์ชาวอิตาเลียน อัลเบอร์โต นาซารี (Alberto Nazzari) เมื่อ 99 ปีมาแล้ว ได้เปิดแสดงครั้งแรกในกรุงสยาม ครั้งนี้วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยจะแสดงวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2559 โดยมีอัลฟองโซ สการาโน (Alfonso Scarano) จากเมืองมิลาน อิตาลี เป็นผู้ควบคุมวง และมีนักร้องนำจากอิตาลี

รายการที่สอง งานอนุสรณ์อยุธยา-ธนบุรี 250 ปี โดยจัดขึ้นวันที่ 24-25 มีนาคม 2560 ครึ่งแรกเป็นเพลงร้อง ดนตรีโดย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ เนื้อร้องจากเพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ส่วนครึ่งหลังเป็นผลงานดนตรี มาร์คัส ทริสตัน (Marcus Tristan) นักประพันธ์เพลงชาวอังกฤษ เนื้อร้องของอังคาร กัลยาณพงศ์ โดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย

“กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี แต่คนดีของกรุงศรีอยุธยามาตอนกรุงแตก”

รายการที่สาม เป็นการแสดงของวงบีบีซีซิมโฟนีออเคสตรา (BBCSO) จากประเทศอังกฤษ ซึ่งจะแสดงในวันที่ 28-29 มีนาคม 2560 เป็นรายการที่สำคัญอีกรายการหนึ่ง เป็นครั้งแรกที่วงบีบีซีมาแสดงที่ประเทศไทย บีบีซีนั้นนอกจากจะมีรายการวิทยุและรายการโทรทัศน์แล้ว ยังมีวงดนตรีบีบีซีออเคสตราด้วย

ทั้ง 3 รายการ บัตร 4,000 บาท ทุกที่นั่ง แถมเสื้อคอกลม (รูปคณบดีเป่าแซก) เพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่มิตรรักแฟนเพลงที่ร่วมกันช่วยใช้หนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า “ดนตรีสร้างความสามัคคีของปวงชน” และดนตรีเป็นวิชาที่จำเป็นและสำคัญสำหรับมนุษยชาติอีกสาขาหนึ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ

ซื้อบัตรและบริจาคได้ที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขามหาวิทยาลัยมหิดล เลขที่บัญชี 333-210822-1

ทำความเข้าใจ
สังคมไทยเป็นสังคมที่เงินเป็นใหญ่ เงินคือพระเจ้า บางครั้งเงินยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้าเสียอีก คือเป็นพ่อของพระเจ้า ทุกอย่างเห็นเป็นเงิน ให้คุณค่าอยู่ที่เงิน ตัดสินกันด้วยเงิน (ธนสัญญี) มีครอบครัวไทยจำนวนมากที่จบลงด้วยการทะเลาะและความตายเพราะเงิน เมื่อพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีความรักความผูกพันกันดี ครั้นพ่อแม่ตาย รุ่นลูกก็จะทะเลาะและแย่งสมบัติกัน ครอบครัวที่พ่อมีเมียหลายคน ก็จะมีชนชั้นเกิดขึ้นภายในครอบครัว แบ่งเป็นลูกเมียหลวง ลูกเมียน้อย ลูกพ่อที่เกิดกับคนใช้ หรือเด็กที่พ่อขอมาเลี้ยง เมื่อแบ่งสมบัติก็จะได้สัดส่วนที่ต่างกัน

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นลูกที่มาขออาศัยเขาอยู่เป็นลูกนอกไส้ เป็นกาหลงฝูง เมื่อพ่อแม่ตายจากไปแล้ว พี่คนโต (หูตึง คอแข็ง สายตาสั้น) มีอำนาจสูงสุด พี่ๆ ได้ทรัพย์สมบัติเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือก็ถูกแบ่งเป็นส่วนๆ ตามอำนาจ สำหรับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์นั้น ก็เป็นลูกหนี้และถูกเรียกหนี้คืน โชคยังดีที่พี่ๆ เขาไม่ได้คิดดอกเบี้ย และที่โชคดีกว่านั้นพี่ๆ เขาไม่ได้ไล่ให้ออกจากบ้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image