คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน ผลิตภาพของภาคบริการ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ “ภาคบริการ” มีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยมากขึ้นทุกที เพราะนอกจากจะเป็นสาขาเศรษฐกิจที่สร้างงานให้กับประเทศในสัดส่วนที่สูงแล้ว ภาคบริการยังเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาภาคการผลิตอื่นๆ ด้วย เพราะมีแรงงานออกจากภาคเกษตรมาอยู่ในภาคบริการและภาคการผลิตมากขึ้น

แต่ภาคบริการส่วนใหญ่ของเราก็ยังเป็น “ภาคบริการแบบดั้งเดิม” (Traditional services)

ภาคบริการแบบดั้งเดิม (Traditional services) เป็นภาคที่ใช้แรงงานทักษะน้อย จึงให้บริการด้วยแรงงานเป็นหลัก โดยไม่เน้นการใช้เทคโนโลยี และพึ่งพิงตลาดภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว การค้าส่ง ค้าปลีก เป็นต้น

ผู้ประกอบการในภาคบริการแบบดั้งเดิมนี้ มักจะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จึงมีข้อจำกัดในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดได้ (ให้บริการทีละมากๆ) และไม่ค่อยขยายการลงทุน เพราะมีข้อจำกัดในการลงทุนที่จะเปลี่ยนจากการใช้แรงงานไปเป็นเครื่องจักร ทำให้การเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่าช้า

Advertisement

ด้วยข้อจำกัดด้านเงินการลงทุนและพฤติกรรมการใช้บริการของผู้บริโภค ทำให้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงกระจุกอยู่แค่ในบางธุรกิจบริการที่มีกำลังทุนทรัพย์มากพอ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

ทั้งที่ภาคบริการมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมาก แต่ผลิตภาพแรงงานในภาคบริการก็ยังเพิ่มขึ้นช้า (เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมามุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก

การที่ภาคบริการของไทยมีผลิตภาพ (Productivity) ที่ต่ำและต่ำกว่าผลิตภาพในอุตสาหกรรมการผลิตมาก ทำให้มีข้อจำกัดในการสร้างนวัตกรรม (Innovation) อาจเป็นเพราะว่าผลผลิตของภาคบริการมักเกิดจากแรงงานที่มีทักษะไม่มากและไม่สามารถปรับตามมาตรฐาน (Standardized) ได้ ทำให้การเพิ่มผลิตภาพถูกจำกัด อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากภาคบริการของไทยยังขาดการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภาคบริการ ทำให้ขาดโอกาสในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้งานใหม่ๆ ในภาคบริการมีผลิตภาพน้อยลงด้วย

Advertisement

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ US News and World Report ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงาน การจัดอันดับ “ประเทศที่ดีที่สุดในโลก” ทั้งหมด 73 ประเทศในปี ค.ศ.2020 ด้านการเปิดกว้างทางธุรกิจ โดยสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปี 2019 ตามด้วย แคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ขณะที่จีนและสิงคโปร์ติดอันดับที่ 15 และ 16 ตามลำดับ ประเทศไทยติดอันดับ 26 ส่วนเลบานอนรั้งท้ายสุดที่อันดับ 73

รายงานดังกล่าวระบุว่า “ประเทศไทย” ติดอันดับที่ 26 โดยได้รับคะแนนสูงในประเด็นด้านการเปิดกว้างทางธุรกิจและเป็นประเทศที่เหมาะสมกับการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสในอนาคตที่ดีขึ้น และมีมรดกทางวัฒนธรรม ขณะที่คะแนนด้านอำนาจของไทยในเวทีโลกและสถานะ การเป็นพลเมือง ค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ

จึงน่าจะถึงเวลาที่ต้องเพิ่มการลงทุนในภาคบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image