มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน (ในความหมายของอำนาจ) : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่ได้ฟังทุกครั้งที่คนในรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงยุทธศาสตร์ชาติคือ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน”

ยุทธศาสตร์ชาติคือเป้าหมายที่จะทำชาติไปสู่ หรือไปให้ถึง

“มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ที่เมื่อผ่านการนำเสนอของผู้มีอำนาจจัดการประเทศดูจะทำความคิดของผู้คนที่ได้ยินได้ฟังไปในมติของเศรษฐกิจ คือเป้าหมายอยู่ที่ทำให้ประชาชนมีทรัพย์สมบัติเงินทอง เหลือกินเหลือใช้ ที่เรียกว่า “มั่งคั่ง” และสภาวะมั่งคั่งนั้นจะอยู่คงทนไม่มีอะไรที่จะมาทำให้แปรเปลี่ยนไปง่ายๆ ที่เรียกว่า “มั่นคง” โดยที่สภาวะ “มั่งคั่งที่มั่นคง” นั้นจะเป็นนิรันดร์ไม่มีวันจางหายไป ที่เรียกว่า “ยั่งยืน”

คำของผู้มีอำนาจทำให้เข้าใจไปในมิติทางเศรษฐกิจแบบนั้น ทำนอง “ความยากจนจะหายไปจากชีวิตคนไทยไม่หวนคืนมาอีก” หรืออะไรทำนองนั้น

Advertisement

ทว่าเหมือนหวนกลับมามองสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนไทยจริงๆ แล้ว ดูจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ปัจจัย หรือเงื่อนไขที่เกิดขึ้น หรือถูกสร้างขึ้นในการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งที่ผ่านมาในนาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ “คสช.” ต่อเนื่องสืบทอดมาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งด้วยกติกา “ดีไซน์ไว้เพื่อพวกเรา” ไม่มีอะไรสะท้อนให้เกิดความรู้สึกว่ามีความหวังใน “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” อย่างที่เข้าใจ

ด้วยความเป็นจริงอันเกิดขึ้นกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมีสภาพสวนทางกับความหวังที่อยู่ในความคิด จึงทำให้เกิดการทบทวนความคิดกันใหม่ว่าแท้ที่จริงแล้ว “มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” ที่ผู้ครองอำนาจประกาศเป็นยุทธศาสตร์นั้นคืออะไรกันแน่

Advertisement

ในสมมุติฐานว่า “ที่เป็นจริงควรเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ว่าเกิดขึ้นแล้ว หรือค่อยๆ เกิดขึ้นแล้วโดยมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้”

ซึ่งเมื่อพิจารณาตามสมมุติฐานนี้ไปในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีอยู่เรื่องเดียวที่ชัดเจนว่าถูกดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง โดยการวางแผนไว้อย่างเป็นระบบ และได้รับการดำเนินการจัดการให้เป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง

นั่นคือ “มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” ในมิติของ “การยึดครองอำนาจ”

การทำรัฐประหารแล้วตั้งตัวเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ทำให้อำนาจไหลบ่ามาให้ครอบครองอย่างล้นเหลือ คำสั่งของผู้นำมีความศักดิ์สิทธิ์เสียยิ่งกว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ อันประชาชนทุกคนได้สัมผัสรับรู้กันมาทุกคน

ความ “มั่งคั่งในอำนาจ” เกิดขึ้นอย่างสัมผัสได้กับคณะบุคคลที่ยึดครองประเทศ

จากนั้นกระบวนการทำให้เป้าหมายในยุทธศาสตร์ขั้นที่ 2 “มั่นคง” จึงเกิดขึ้น ด้วยการเขียนกติกากำหนดโครงสร้างอำนาจของประเทศ ให้เอื้อต่อความ “ยั่งยืน” ในอำนาจที่มั่นคงแล้วนั้น

ระดมสรรพกำลังเพื่อออกแบบกฎหมายกำหนดโครงสร้างอำนาจรัฐ ตั้งแต่กฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ จนมาถึงกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

และพร้อมกันนั้นได้ใช้อำนาจอันมั่งคั่งแต่งตั้งจัดวางกลไกและบุคลากรเพื่อรองรับอำนาจอย่างเข้มข้น

มีประสิทธิภาพสูงกับการเกื้อหนุนอำนาจของกลุ่ม และจัดการสลายฝ่ายตรงกันข้ามอย่างมีประสิทธิผล

ซึ่งไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงการสถาปนาอำนาจได้อย่าง “มั่นคง” ของผู้สร้าง “มั่งคั่ง” ในอำนาจให้ตัวเองจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ

สองเป้าหมายของ “ยุทธศาสตร์ชาติ” บรรลุแล้ว “ความมั่งคั่ง และมั่นคง” ในอำนาจเกิดขึ้นแล้ว

เป้าหมายต่อไปที่ต้องดำเนินการให้บรรลุคือ “อำนาจที่ยั่งยืน”

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “ประชาธิปไตย” อันหมายถึง “ระบอบการปกครอง” ที่ “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง” คือ “ทำนองคลองธรรมของกระแสโลก”

“อำนาจ” ที่ไม่ยึดโยงประชาชนย่อมเสียดทานกับ “ทำนองคลองธรรมของกระแสโลก”

“อำนาจที่เจตนาละเลยการยึดโยงกับประชาชน” แม้จะสร้างขึ้นได้อย่าง “มั่งคั่ง” และ “ดีไซน์” ให้เกิด “ความมั่นคง” ได้

แต่ดำเนินการต่อให้เกิดความ “ยั่งยืน” นั้นย่อมไม่ง่าย

ประเทศมหาอำนาจอาจจะมีพลังพอที่จะต้านทาน “ทำนองคลองธรรมของกระแสโลกได้บ้าง”

แต่ประเทศเล็กๆ ที่คิดเลือกเอาการต้านฝืน “ทำนองคลองธรรม” ของกระแสโลก ย่อมยากเย็นที่จะเปล่งพลังขึ้นมาได้พอ

การสร้าง “พรรคการเมือง” มารองรับให้เกิดภาพของ “อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน” แม้จะเป็นหนทางที่เอื้อต่อการก้าวไปสู่ความ “ยั่งยืน”

การอาศัยกติกาและกลไกในโครงสร้างอำนาจที่ดีไซน์ไว้จัดการให้เป็นไปตามเป้าหมาย คล้ายกับหวังได้ แต่ที่สุดแล้วย่อมเป็นที่รับรู้ว่ายังมีปัญหาอีกเยอะ

จะสร้างความ “ยั่งยืน” ได้อย่างไร เมื่อมีแต่ภาพว่ายึดโยงกับประชาชนแล้ว

แต่สภาวะของ “นักการเมือง หรือพรรคการเมือง” ที่สร้างขึ้นมารองรับอำนาจที่หวังใน “ความยั่งยืน” นั้น

เป็น “นักการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ที่ทำนองคลองธรรมในใจของประชาชนไม่ยอมรับ

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image