จริยธรรม ในนักการเมืองไทย : โดย เฉลิมพล พลมุข

ความเป็นรัฐประเทศทั้งหลายในปัจจุบันของโลกนี้ย่อมได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในประเทศนั้นๆ เพื่อให้ผู้ปกครองได้กระทำหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ในชาติบ้านเมือง สมัยโบราณกาลพระราชามหากษัตริย์ถือว่าเป็นบุคคลในระดับสูง ทั้งการเมืองการปกครอง เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันอาชีพของนักการเมืองก็เสมือนเป็นตัวแทนในการบริหารประเทศที่ถือว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย

ในครั้งสมัยกรีกโรมันได้มีนักปรัชญาที่ได้มีหลักการแนวคิดถึงการปกครองชาติบ้านเมืองไว้หลายคน หนึ่งในนั้นของผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาก็จะคุ้นเคยกับโสเครตีส (Socrates) ที่มีวิถีชีวิตใน 470 ปีก่อนคริสตกาล หลักการหนึ่งของเขาก็คือการสนทนาโต้เถียงด้วยความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อแสวงหาองค์ความรู้และการหาทางออกของปัญหานั้นๆ ด้วยระบบตรรกวิทยาและกระบวนการวิภาษวิธี (Dialectic) มีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล (Thesis) หลักการสำคัญของเขาที่เน้นย้ำก็คือ การแสวงหาปัญญาเพื่อเสริมสร้างชีวิตที่ดีและมีความสุขแก่ประชาชน

พฤติกรรมในทางจริยธรรมที่ดีในความหมายของโสเครตีสก็คือ ต้องมีปัญญาองค์ความรู้ (Wisdoms) อย่างรอบด้านที่ดี แยกแยะความชั่วและความโง่เขลาเบาปัญญาได้ รู้ว่าอะไรดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ล้วนต้องการความสุข ผู้ปกครองที่ดีต้องเว้นจากการประพฤติชั่วแล้วเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม มีความกล้าหาญ (Courage) กล้าหาญที่จะกระทำในสิ่งที่ดีงามต่อชาติบ้านเมืองทุกสถานที่ โอกาส สถานการณ์ มีพฤติการณ์แห่งการควบคุมตนเอง (Temperance) ไม่ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลด้วยความเป็นบุคคลสาธารณะ มีความยุติธรรม (Justice) เคารพสิทธิของผู้อื่น แสดงตนทั้งชีวิตครอบครัวและต่องานถึงระบบความยุติธรรมและปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา (Piety) กระทำความดียกย่องในหลักการและหลักปฏิบัติของทุกศาสนา

เขาเห็นว่าระบบการปกครองที่ดีควรปกครองแบบราชาปราชญ์…

Advertisement

ระบบการเมืองการปกครองในสังคมไทยเราได้ผ่านร้อนหนาวมาเกือบหนึ่งศตวรรษหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 จากการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในยุคสมัยปัจจุบัน ส.ส.หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนได้เข้าไปกระทำหน้าที่แทนประชาชนในรัฐสภา วันเวลาดังกล่าวที่ผ่านไปเราท่านได้พบเห็นเชิงประจักษ์ถึงพฤติกรรมของนักการเมืองบางคนทั้งที่เป็นตัวอย่างที่ดีและได้สร้างความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองมาในหลายคน อะไรสิ่งใดที่เป็นเหตุให้เขาเหล่านั้นได้มีพฤติกรรมดังกล่าว

การปฏิวัติรัฐประหารในสังคมไทยที่ได้เกิดขึ้น 13 ครั้ง โดยเริ่มครั้งแรกในสมัยของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ได้อยู่ในอำนาจเพียง 2 เดือน 19 วัน และตามมาด้วยสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ในนามคณะปฏิวัติ มาจนกระทั่งครั้งล่าสุดก็คือวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น การปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งกระทำโดยนายทหารระดับสูงและอยู่ในอำนาจในระยะเวลาที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย การปฏิวัติรัฐประหารยังคงมีคำถามในบริบทต่างๆ สมัยปัจจุบันที่ว่า บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นแบบอย่างของการปกครองที่ดี เมืองไทยเราควรจักมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นเช่นไร

ฉายาหรือนามเรียกผู้นำของนักการเมืองไทยเราจากสื่อในรอบของปีมาในหลายยุคสมัย อาทิ เงินผันคึกฤทธิ์ เติ้งเสี่ยวหาร ไม่มีปัญหา ชวนเชื่องช้า คิดไวทำไว ดีแต่ปาก มาถึงในยุคของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ก็ได้ตั้งฉายาของสภาผู้แทนราษฎรที่ว่า “ดงงูเห่า” วุฒิสภาได้นามว่า “สภาทหารเกณฑ์” นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นามว่า “มีดโกนขึ้นสนิม” นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นามว่า “ค้อนยาง” นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้นามว่า “ขนมจีนไร้น้ำยา” สำหรับฉายาของรัฐบาลก็คือ “รัฐเชียงกง” และนามหรือฉายาของนายกรัฐมนตรีก็คือ “อิเหนาเมาหมัด” การตั้งฉายาหรือนามเรียกขานความเป็นตัวตนได้สะท้อนถึงบุคลิกลักษณะและสิ่งที่ได้กระทำให้กับสังคมไทยมาในอดีต ฉายาหรือนามเรียกขานนั้นจะอยู่ในข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร เราท่านพึงพบเห็นได้ถึงระบบการบริหารจัดการประเทศในภาพรวม

ข้ออ้างสำคัญหนึ่งของการกระทำปฏิวัติรัฐประหารส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากนักการเมืองบางคนโดยเฉพาะผู้นำของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนั้นๆ ประสบปัญหากับการบริหารชาติบ้านเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองรวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองทั้งความคิด ความเชื่อ ความรู้ สีเสื้อ ขั้ว ฝ่าย สิ่งสำคัญก็คือข้ออ้างในความทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาล อำนาจผลประโยชน์ทับซ้อน หลายครั้งคราประชาชนจำนวนมากต้องออกมาประท้วงรัฐบาลในท้องถนนนำไปสู่การปราบปรามโดยใช้อาวุธสงคราม

พฤติกรรมของนักการเมืองไทยเราทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นเช่นไร เราท่านได้พบเห็นเชิงประจักษ์ที่ถูกสื่อได้นำเสนอทั้งภาพและเสียงจากรัฐสภาและพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันนอกรัฐสภา บางคนได้มีพฤติกรรมถึงการปกปิดทรัพย์สินอันได้มา ต่อการแจ้งที่มีของทรัพย์สินสมบัติก่อนกระทำหน้าที่ การปกปิดถึงการได้มาของบ้านที่ดิน การหลีกหนีการเสียภาษีที่เป็นหน้าที่ของพลเมืองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป การด่าทอเสียดสี อาจจักรวมถึงกรณีเสียบบัตรแทนกันยังคงอยู่ในกระบวนการของการไต่สวน ต่อสู้คดีและการหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนชาวบ้านได้รับความกระจ่าง

รศ.ดร.วริยา ชินวรรโณ คณะสังคมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักการเมืองไทยที่ว่า นักการเมืองไทยส่วนใหญ่ยังยึดมั่นถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 48.99% นักการเมืองที่ยึดมั่นในจริยธรรม 31.82% นักการเมืองเป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต 34.34% รวมถึงการให้การอุปถัมภ์ในการเงินของนักการเมืองในการตัดสินใจดำเนินงานทางการเมือง 33.84% เราท่านได้เห็นตัวเลขถึงงานวิจัยดังกล่าวได้สะท้อนถึงจำนวนเปอร์เซ็นต์ในระดับค่อนข้างต่ำ อะไรที่เป็นเหตุดังกล่าว

สภาพของพฤติการณ์ของนักการเมืองไทยเราบางคนที่เอื้อต่อการกระทำความผิดทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญประเทศและกฎหมายอื่นรวมถึงระบบคุณธรรม จริยธรรมก็คือ การทุจริตในการเลือกตั้งซื้อสิทธิขายเสียง ฉ้อราษฎร์บังหลวงช่วยเหลือเพื่อนญาติมิตร แทรกแซงอำนาจหน้าที่ของข้าราชการ ใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ออกกฎหมายที่เอื้อต่อประโยชน์ส่วนตัวพรรคพวก มีผลประโยชน์ทับซ้อน ดึงงบประมาณของชาติไปพัฒนาจังหวัดของตน แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการสาธารณประโยชน์ขั้นพื้นฐานของรัฐ รวมถึงการยกเว้นการเอาผิดในนักการเมืองฝ่ายของตน การแสวงหาอำนาจ ผลประโยชน์ ตำแหน่งที่ยืดยาวออกไปเท่าที่จะกระทำได้…

ภาพหนึ่งที่เราท่านบางคนอาจจะได้พบเห็นในสื่อก็คือ นักการเมืองของประเทศญี่ปุ่น หากมีพฤติกรรมที่กระทำความผิดทั้งต่อรัฐ กฎหมายของประเทศรวมถึงระบบจริยธรรมคุณธรรม เขาจะโค้งคำนับแล้วประกาศลาออกต่อประชาชน ในประเทศดังกล่าวเราท่านได้พบเห็นถึงความมีระเบียบวินัย การเข้าแถวเพื่อรอรับสิ่งของแจกในคราวที่ประเทศประสบภัยธรรมชาติ ความรับผิดชอบต่อผู้คนที่ใช้สิ่งสาธารณะร่วมกัน อาทิ ไม่พูดคุยโทรศัพท์ในรถโดยสาร การเอื้ออาทรในเด็ก สตรี ผู้สูงอายุในรถสาธารณะ ความมีระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา เป็นลักษณะหนึ่งของคนญี่ปุ่นที่ส่งผ่านการพัฒนาประเทศชาติ

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในหมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ในมาตรา 184 (2) ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม

(3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ (4) ไม่กระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ

ในยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี (พ.ศ.2561-2580) ข้อ 4 ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ข้อ 4.6.2 ได้ระบุถึง บุคลากรภาครัฐยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลีกเลี่ยงการขัดกันระหว่างประโยชน์บุคคลและประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ

ในหลักการและข้อที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดดังกล่าว มีเจตนารมณ์ก็เพื่อแสดงถึงความจริงใจที่จะทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างสุจริต เที่ยงธรรม มีธรรมาภิบาล พฤติกรรมของนักการเมืองไทยเราบางคนยังมีพฤติการณ์บางอย่างอันไม่สุจริตปิดบังไว้ ซึ่งปรากฏอยู่ในข้อเท็จจริงการความผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม การหลบหนีคดีความออกนอกประเทศ การถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ การกล่าวเท็จหรือใช้วาจาคำพูดบางอย่างที่ตนเอง พรรคของตนเองดูดีไร้ที่ติ แต่ขณะเดียวกันฝ่ายตรงกันข้ามก็ถูกใส่ความใส่ร้ายยังคงอยู่ในข้อเท็จจริงที่เราท่านสามารถเข้าถึงได้…

เร็ววันมานี้ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ของสังคมโลกและสังคมไทยเราโดยเฉพาะการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา ที่ประเทศต่างๆ เฝ้าระวังและมีการปกป้องคนในรัฐอย่างเคร่งครัด ความเห็นตอนหนึ่งที่ว่า…

รู้สึกผิดหวังและหมดศรัทธาในวิธีการทำงานของรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวคนไทยว่าเป็นคน หรือเห็นคนไทยเป็นชนชั้น 2 ไม่เคยใส่ใจในสุขภาพอนามัย ทั้งเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งมีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม รัฐบาลนี้ไร้น้ำยา ไม่มีแผน ไม่มีโครงการระยะสั้นระยะยาว ได้แต่ทำให้พ้นตัวไปวันๆ พอไวรัสโคโรนามา ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนตัดไฟแต่ต้นลม สิ่งปิดเมืองอู่ฮั่น ไม่ให้คนจีนเดินทางออกไปแพร่เชื้อโรคระบาด บังคับใช้กฎหมายจริงจังเคร่งครัดกับนักท่องเที่ยว บริษัททัวร์ แต่ไทยกลับเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาโดยไม่จำกัด นั่นเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวสำคัญกว่าชีวิต สุขภาพอนามัยของคนไทย ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าก่อนจีนจะห้ามคนเดินทางออกมานั้น มีนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยติดเชื้อไปแล้วกี่คน…(MATICHON ONLINE)

ความรู้สึกดังกล่าวเสมือนเราท่านทั้งหลายที่ต่างก็รักชาติบ้านเมืองพี่น้องคนไทยทั้งประเทศทั้งในสังคมไทยเรา และที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จะต้องมีภาวะของความเสี่ยงต่อโรคติดต่อ คุณภาพชีวิตในคนไทยเราถูกตั้งคำถามที่หลากหลายที่ว่า ราคาและคุณค่า สิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายยังคงเป็นไปตามหลักการที่อยู่ในความจริง ความดี ความงาม โดยเฉพาะการบริหารงานของรัฐที่ดูเสมือนว่ารัฐนาวามีคลื่นลมพายุนานัปการเพื่อพิสูจน์ว่าจักมีอายุชีวิตเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้หรือไม่

อะไรดี ชั่ว ถูก ผิด ควร มิควรเป็นหลักการพื้นฐานเบื้องต้นแห่งความเป็นมนุษย์ซึ่งมีอยู่ในสามัญสำนึกในเราท่านทุกคน นักการเมืองไทยเราในวันนี้ต่างได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการทำงานต่อชาติบ้านเมืองเพื่อส่งต่อชีวิตให้กับลูกหลานได้นำพาชาติบ้านเมืองไปสู่ความเป็นประเทศที่ได้รับการพัฒนาแล้ว เสมือนเมืองประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเราอย่างดีแค่ไหนเพียงไร…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image