โรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (2) โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ฉบับนี้ ยังขอเล่าต่อเนื่องถึงโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก

ซึ่งฉบับที่แล้ว เล่าไปถึง 4 โรค คือ 1.โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง (Musculotendinous strain) 2.โรครากประสาททถูกกด หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน Herniated Intervertebral discs 3.โรคกระดูกคองอกกดรากประสาท (Cervical Spondolysis) 4.โรคข้อเสื่อม/ปวดข้อในคนสูงอายุ (Osteoarthritis) ฉบับนี้เรามารู้จักกับโรคที่ 5 ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยมาก คือ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 1-3 ของคนทั่วไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 4-5 เท่า และพบมากในช่วงอายุ 20-50 ปี แต่ก็พบได้ในคนทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ

สาเหตุ : โรคนี้พบว่ามีการอักเสบเรื้อรังของ “เยื่อบุข้อ เกือบทุกแห่งทั่วร่างกาย” พร้อมๆ กันร่วมกับการมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ เชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง
(ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน) ทำให้มีการสร้างแอนติบอดี้ที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อในบริเวณข้อของตัวเอง เรียกว่า “ปฏิกิริยาภูมิต้านทานตัวเอง” หรือ “ออโตอิมมูน” (Autoimmune)

Advertisement

อาการ : ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป เริ่มด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูกนำมาก่อนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แล้วต่อมาจะมีการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็น ส่วนน้อยอาจมีการอักเสบของข้ออักเสบเกิดขึ้นฉับพลันภายหลังได้รับบาดเจ็บเป็นโรคติดเชื้อหลังผ่าตัด หลังคลอด หรืออารมณ์เครียด ซึ่งบางรายอาจมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโตร่วมด้วย ข้อที่เริ่มมีการอักเสบก่อนเพื่อนได้แก่ ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ต่อมาจะเป็นที่ข้อไหล่ ข้อศอก ผู้ป่วยจะมีลักษณะจำเพาะ คือ มีอาการปวดข้อพร้อมๆ กันและคล้ายคลึงกันทั้งสองข้าง และข้อจะบวม แดงร้อน นิ้วมือนิ้วเท้าจะบวมเหมือนรูปกระสวย ต่อมาอาการอักเสบจะลุกลามไปทุกข้อทั่วร่างกายตั้งแต่ข้อขากรรไกรลงมาที่ต้นคอ ไหปลาร้า ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือลงมาจนถึงข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า บางรายอาจมีการอักเสบของข้อเพียง 1 ข้อ หรือไม่กี่ข้อและอาจเป็นเพียงข้างใดข้องหนึ่งของร่างกาย (ไม่เกิดพร้อมกันทั้งสองข้างของร่างกาย) ก็ได้ อาการปวดข้อและข้อแข็ง (ขยับลำบากมักจะเป็นมากในช่วงตื่นนอน หรือตอนเช้า ทำให้รู้สึกขี้เกียจ หรือไม่อยากตื่นนอน พอสายๆ หรือหลังมีการเคลื่อนไหวของร่างกายจะทุเลา บางรายอาจมีอาการปวดข้อตอนกลางคืนจนนอนไม่หลับ อาการปวดข้อจะเป็นอยู่ทุกวัน และมากขึ้นทุกขณะนานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมีบางระยะอาจทุเลาไปได้เอง แต่จะกลับมากำเริบรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะมีอาการเครียดหรือขณะตั้งครรภ์ ถ้าข้ออักเสบเริ่มเป็นเรื้อรังอยู่หลายปี ข้ออาจจะแข็งและพิการได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะโลหิตจาง ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นมากตามผิวหนัง อาการปวดชาปลายมือจากภาวะเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ตามนิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาว และเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น เรียกว่า เรย์โนว์ฟีโนมีนอน (Raynaud’s phenomenon) ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต หัวใจอักเสบ หลอดเลือดแดงอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ไข้ต่ำ น้ำหนักลด เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ : ในระยะแรกอาจตรวจไม่พบอาการชัดเจน ในระยะที่เป็นมาก อาการข้อมือนิ้วเท้าบวมเหมือนรูปกระสวย

Advertisement

อาการแทรกซ้อน : ถ้าเป็นรุนแรงและเรื้อรังอาจทำให้ข้อพิการผิดรูปผิดร่าง ใช้การไม่ได้ บางรายอาจมีการผุกร่อนของกระดูก ในบ้านเราพบมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการแทรกซ้อนดังกล่าว

การรักษา : หากสงสัยควรแนะนำไปโรงพยาบาล การตรวจเลือดจะพบค่าอีเอสอาร์ (ESR) สูง และมักจะพบรูมาตอยด์แฟกเตอร์ (Rheumatoid factor) เอกซเรย์ข้อจะพบมีการสึกกร่อนของกระดูกและความผิดปกติของข้อ การรักษาให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ตัวที่ใช้ได้ผลดีและราคาถูก คือ “ยาแอสไพลิน” (Aspirin) ผู้ใหญ่ วันละ 4-6 กรัม (12-20 เม็ด) เด็กให้ขนาด 60-80 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยให้กินวันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและกินร่วมกับยาลดกรด เพื่อป้องกันมิให้เป็นโรคกระเพาะ ยานี้ต้องกินติดต่อกันทุกวัน นานเป็นเดือนๆ หรือปีๆ จนกว่าจะมีอาการทุเลา (โดยทั่วไปต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน) ขณะเดียวกันก็ควรให้การรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมไปด้วย เช่น การใช้น้ำร้อนประคบ การแช่หรืออาบน้ำอุ่น ซึ่งมักจะแนะนำให้ทำตอนเช้านาน 15 นาที

ผู้ป่วยควรพยายามหรือขยันขยับข้อต่างๆ อย่างช้าๆ ท่าละ 10 ครั้ง ทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการเจ็บปวดลงได้หลังจากให้แอสไพรินได้ 1 สัปดาห์ ควรแนะนำให้ผู้ป่วยทำการฝึกกายบริหารในท่าต่างๆ ซึ่งควรทำเป็นประจำทุกวัน จะช่วยทำให้ข้อทุเลาและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหาเวลาพักผ่อน สลับกับการทำงานหรือออกกำลังกายเป็นพักๆ ในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และอาจต้องเข้าเฝือกเพื่อช่วยให้ข้อที่ปวดได้พักอย่างเต็มที่ ในรายที่ใช้ยาแอสไพรินไม่ได้ผล ควรเปลี่ยนไปใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ตัวอื่นๆ ถ้ายังไม่ได้ผล อาจต้องให้ “ไฮดรอกซีคลอโรควิน” (hydroxychloroquine) หรือสารเกลือของทอง (gold salt) เช่น ออราโนฟีน (auranofin) ควบด้วย เพื่อลดการอักเสบซึ่งมักจะได้ผลค่อนข้างดี ในบางรายอาจต้องให้สเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ แต่จะให้กินระยะสั้น หรือให้ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressive) เช่น เมโทรแทรกเซต (methotrexate) ไซโคลฟอสฟาไมด์ เป็นต้น

ข้อแนะนำ : 1. โรคนี้พบในบ้านเรากว่าร้อยละ 70 และไม่มีอาการรุนแรงสามารถรักษาด้วยการกินยาแอสไพริน การรักษาทางกายภาพบำบัด การกำหนดเวลาพักผ่อนและทำงาน หรือออกกำลังกายให้พอเหมาะ จนผู้ป่วยสามารถทานได้เป็นปกติ (โดยผู้ป่วยจะต้องกินยาแอสไพรินติดต่อกันทุกวันเป็นปีๆ) หรืออาจหายขาดได้ มีเพียงร้อยละ 20-30 ที่อาจจะรุนแรงที่ต้องใช้ยาอื่นๆ รักษา 2.หัวใจของการรักษาอยู่ที่…“การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ” กล่าวคือ จะต้องพยายามเคลื่อนไหวข้อ และฝึกกายบริหารเป็นประจำทุกวัน อย่าอยู่นิ่งๆ เพราะยิ่งอยู่นิ่งข้อยิ่งติดแข็งและขยับยากยิ่งขึ้น

3.ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาชุดกินเอง เพราะถึงแม้จะช่วยให้อาการทุเลาได้ แต่ก็อาจจะเกิดโทษจากยาสเตียรอยด์ หรือยาอันตรายอื่นๆ ที่ผสมอยู่ในยาชุด ในกรณีที่จำเป็นต้องซื้อยากินเอง ขอแนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินควบกับยาลดกรด

4.ชาวบ้านอาจจะมีความสับสนในคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้เรียกกันกับอาการปวดข้อ เช่น คำว่า รูมาติสซั่ม (rheumatism) ซึ่งหมายถึง ภาวะต่างๆ ที่ทำให้มีอาการเจ็บปวด ปวดเมื่อย หรือปวดล้าของข้อ เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ ดังนั้น จึงเป็นคำที่ใช้เรียก โรคปวดข้อ ปวดเส้นเอ็น และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยรวมซึ่งสามารถแบ่งแยกสาเหตุได้มากมาย ดังนั้น รูมาติสซั่ม (โรคปวดข้อ) จึงอาจมีสาเหตุจากข้อเสื่อม โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ไข้รูมาติก โรคเกาต์ เป็นต้น บางรายอาจเข้าใจผิดว่า “รูมาติสซั่ม” หมายถึง โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เวลามีอาการปวดข้อเรื้อรังเกิดขึ้นจึงเหมาเอาว่าเป็นโรคปวดข้อรูมาตอยด์ไปเสียหมด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลและปฏิบัติตัวอย่างผิดๆ ดังนั้น จึงควรอธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจเรื่องนี้ด้วยจะดีและไม่สับสน

โรคข้อสันหลังอักเสบ (Aukylosing spondylitis) : โรคนี้เป็นภาวการณ์อักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลัง แบบเรื้อรังและค่อยๆ รุนแรงขึ้น จนมีการเชื่อมต่อกันของข้อต่อกระดูกพบได้ประปรายจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง (ผู้ชายต่อผู้หญิงเท่ากับ 7:3) และมักพบในหนุ่มสาว

สาเหตุ : ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านทานตัวเอง (ออโตอิมมูน : Autoimmune) ติดเนื้อเยื้อบริเวณข้อต่อกระดูกต่างๆ และสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์

อาการ : ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดข้อ โดยเฉพาะปวดหลัง หรือบั้นเอว เมื่ออายุประมาณ 20 ปี (ระหว่าง 10-20 ปี) เริ่มปวดเมื่อมีอายุมากกว่า 30 ปี พบได้น้อย บริเวณที่ปวดเรียงตามลำดับ ตามที่พบมากได้แก่ บั้นเอว แก้มก้น ทรวงอก ส้นเท้า หัวไหล่และข้อมือ ในระยะแรกมักมีอาการปวดเป็นครั้งคราว และดีขึ้นจากการกินยาแก้ปวดที่เด่นชัด คือ จะปวดหลังมากเวลานอนโดยเฉพาะในช่วงเช้า บางครั้งจะปวดมากจนต้องตื่นนอน อาจมีอาการหลังแข็งและดีขึ้นหลังจากได้เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกาย บางรายอาจรู้สึกปวดเมื่อยง่าย หลังทำงานหรือเล่นกีฬา บางรายอาจมีอาการปวดลงขาแบบรากประสาทถูกกด ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไปพบแพทย์หลังมีอาการ 6 เดือน ถึง 3 ปี อาการจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น ในระยะ 10-20 ปี แล้วอาจจะทุเลาหรือหายไปได้เอง หรืออาจปวดเฉพาะที่นั่นเอง หรือข้อสะโพก แต่บางรายอาการอักเสบ อาจลุกลามไปตามข้ออื่นๆ หรืออวัยวะอื่นๆ เช่น ม่านตา (Eris) หัวใจ ทางเดินอาหาร ปอด เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ : ในระยะเริ่มแรกอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน เมื่อเป็นมากขึ้นจะพบอาการ กดหรือคลำถูกเจ็บตรงข้อที่ปวด หรือใช้กำปั้นทุบเบาๆ ตรงกลางหลังจะเจ็บมาก อาจตรวจพบว่าผู้ป่วยก้มงอบั้นเอวลงด้านหน้าได้น้อยกว่าปกติ เรียกว่า การทดสอบแบบโซเบอร์ (Schober test) การวัดรอบทรวงอกดูการขยายตัวเมื่อหายใจเข้าเต็มที่จะพบว่าขยายขึ้นได้น้อยกว่าคนปกติ (ขยายได้ต่ำกว่า 7 ซม. ในชายหนุ่ม) ในรายที่มีอาการรุนแรงและละเลยการรักษาที่ถูกต้องเป็นแรมปี จะมีลักษณะเฉพาะ คือ หลังแข็งทั้งท่อนและโก่ง (Kyphosis) ตาไม่สามารถมองตรงไปข้างหน้า บางรายสะโพกแข็งแบบอยู่ในท่านั่งทำให้ยืนและเดินไม่ได้ บางรายอาจมีม่านตาอักเสบ มีอาการปวดตา ตาแดงร่วมด้วย เรียกว่า กลุ่มอาการไรเตอร์ (Reiter’s syndrome) หรืออาจมีภาวะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจ
เอออร์ติกรั่ว (Aortic Regurgitation) ซึ่งใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจได้ยินเสียงฟู่

อาการแทรกซ้อน : ข้อต่อสันหลัง เชื่อมติดกันจนมีความพิการ คือ หลังโก่ง ข้อสะโพกติดแข็งจนยืนและเดินไม่ได้ ข้อกระดูกซี่โครงติดแข็ง ทำให้สมรรถภาพปอดลดลงอาจเกิดติดเชื้อในปอด ปอดอักเสบได้ ข้อขากรรไกรแข็งทำให้กลืนลำบาก ประสาทสันหลังส่วนล่างผิดปกติเกิดอาการปวดขา ขาอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้

การรักษา : หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจยืนยันโดยการตรวจเลือดซึ่งจะพบค่าอีเอสอาร์ (ESR) และ C-reactive protein สูงกว่าปกติ การตรวจเอกซเรย์ จะพบความผิดปกติของข้อต่อสันหลังและข้อต่อสะโพก (Sacroiliac Joint) ในระยะที่เป็นมากแล้ว การรักษายังไม่มีการรักษาจำเพาะ เพียงแต่ให้การบรรเทาอาการปวดอักเสบ และป้องกันความพิการโดย 1.ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ตัวที่ใช้ได้ผลดี ได้แก่ อินโดเมตทาซิน ซึ่งควรปรับให้เข้ากับความรุนแรงและระยะของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายหลังให้ยาแล้วทุเลาอาจหยุดยาได้เลย บางรายอาจต้องการเพียงวันละ 1 แคปซูล (25 มิลลิกรัม) ในรายที่เป็นรุนแรงอาจค่อยใช้ถึง 150-200 มิลลิกรัมต่อวัน 2. กายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยคงรูปทรงในท่าตรงให้สามารถยืนและนั่งตรงได้และรักษามุมการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง สะโพก คอ และทรวงอกได้ 3.การผ่าตัดสำหรับระยะท้ายของโรคที่มีการติดแข็งของข้อ เช่น การเปลี่ยนสะโพก การตัดกระดูก เอวที่โก่งโค้งให้ตรง เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถช่วยตัวเองได้ ยกเว้นผู้ที่ละเลยการรักษาอาจพบมีความพิการได้ ประมาณร้อยละ 10 หากข้อสันหลังและข้อสะโพกยังมีความยืดหยุ่นหลังมีอาการเกิน 10 ปี ก็มักจะปวดจากความเสียวที่ข้อจะติดแข็ง

ข้อแนะนำ : 1. ในโรคนี้ระยะแรกจะมีอาการปวดเหมือนโรคปวดกล้ามเนื้อหลังหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือจากประสาทถูกกด ข้อเสื่อมแต่ถ้าพบเรื้อรังในชายหนุ่มมักปวดตอนเช้าก่อนตื่นนอน และอาการทุเลาหลังบริหารร่างกายก็ควรนึกถึงโรคนี้ 2. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ระยะและความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปตามสภาพของแต่ละคน ส่วนการรักษาในปัจจุบันยังไม่สามารถรู้ระยะเวลาของโรคที่เป็นและไม่อาจป้องกันการติดแข็งของข้อ ในรายที่เป็นรุนแรง อย่างไรก็ตามถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มก็อาจจะช่วยให้ผู้ป่วยคงสภาพการทำงานของร่างกายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ 3.ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย 3.1 ติดตามรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง 3.2 หมั่นฝึกทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเอง ตามคำแนะนำของแพทย์ การบริหารเน้นการเหยียดตรงของหลังและคอ 3.3 รักษาอิริยาบถการยืน เดิน นั่ง นอน หลังให้อยู่ในท่าตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควรนอนบนที่นอนแข็ง (ไม่ควรใช้หมอนหนุนใต้เข่าเพื่อลดปวดเหมือนโรคปวดหลังทั่วไป) 3.4 เมื่อมีอาการปวดอาจใช้ความร้อนช่วย เช่น อาบน้ำอุ่น ใช้น้ำอุ่นประคบและบีบนวด 3.5 ผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการข้อติดแข็ง สามารถเล่นกีฬาได้ทุกประเภท ยกเว้นประเภทที่ต้องก้มหลัง เช่น ถีบจักรยาน โบว์ลิ่ง ตีกอล์ฟ เป็นต้น 3.6 ฝึกการหายใจเข้าออกลึกๆ วันละ 10-20 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า

อนึ่ง โรคปวดข้อรูมาตอยด์เป็นโรคที่เกี่ยวกับข้อ เยื่อบุ พังผืดหุ้มข้อ และกล้ามเนื้อ เชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง (ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน ทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ที่มีปฏิกิริยาเนื้อเยื่อต่างๆ บริเวณข้อของตัวทั่วร่างกาย ซึ่งเรียกว่า ปฏิกิริยาต้านทานตัวเอง หรือที่เรียกว่าเป็นโรคที่เกิดจาก “Autoimmune” เป็นแล้วรักษาตามอาการเท่านั้น รักษาไม่หายขาด ทั้งนี้ สำคัญที่สุดถ้าพบอาการแสดงดังกล่าวให้พบแพทย์ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำในการปฏิบัติตัวให้ลดการป่วยรุนแรงและอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image