ทัศนคติของผู้ปกครอง โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ทัศนคติของผู้ปกครองที่มีต่อผู้ใต้การปกครองย่อมเห็นได้จากผู้ปกครองหรือผู้นำในรัฐบาลว่า มองประชาชนอย่างไร มองประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง หรือเป็นผู้อาศัย หรือเป็นเจ้าของบ้านที่รัฐบาลต้องมีพันธะในการปรนนิบัติ คำตอบของคำถามดังกล่าวขึ้นอยู่กับระบอบการปกครอง กล่าวคือระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเผด็จการทหารจะมีความคิดว่าอย่างไร อะไรคือหน้าที่หลักของ “รัฐ”

เริ่มตั้งแต่สมมุติฐานเบื้องต้น เผด็จการมีสมมุติฐานเบื้องต้นว่า ประชาชนนั้น “โง่” ไม่มีความสามารถคิดออกเองได้ ประชาชนนั้นถูกชักจูงได้ง่าย จึงมักจะตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองที่ชั่วร้าย หรือนายทุนที่เห็นแก่ตัว ที่เข้ามาหลอกลวงประชาชนให้ขายเสียง ดังนั้นการลงคะแนนเสียงเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรเป็นเพียงพิธีกรรมของนายทุน ประชาธิปไตยจึงเป็นของจอมปลอม เราจึงได้คนไม่ดีเข้าสภา สู้ระบอบการเมืองเผด็จการไม่ได้เพราะรัฐบาลเผด็จการ หัวหน้าเผด็จการย่อมจะคัดเลือกคนดีมีฝีมือมาเป็นรัฐมนตรี ไม่เอาพรรคเอาพวกมาเป็นรัฐมนตรี ไม่เอาระบบเล่นพรรคเล่นพวกในวงการราชการ

เนื่องจากประชาชนนั้น “โง่” ไม่อาจจะปกครองตนเองได้และถูกนักการเมืองปลุกปั่น มักจะแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ความแตกแยกดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ส่วนรัฐบาลเผด็จการนั้นเป็นรัฐบาลของคนดี เป็นรัฐบาลที่เป็นกลางที่ประชาชนเกรงกลัว ทุกอย่างเรียบร้อยด้วยการออกคำสั่งและคำสั่งนั้นย่อมเป็นกฎหมาย เพราะหัวหน้ารัฐเผด็จการก็คือ “รัฐ” สมกับคำพูดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อประมาณ 350 ปีมาแล้วว่า “รัฐน่ะหรือคือตัวฉัน”

มาเคอาเวลลี่ เขียนสอนผู้ปกครองหรือ The Prince ไว้ว่า ผู้ปกครองต้องสร้างความกลัวให้เป็นที่ประจักษ์ เพราะประชาชนนั้นนอกจากจะโง่แล้วยังมีความอ่อนแอ ต้องคอยเตือนอยู่เสมอให้อยู่ในความสงบ หากปล่อยให้ราษฎรคนใดคนหนึ่งกระด้างกระเดื่อง อีกไม่นานคนอื่นๆ ก็จะทำตาม ดังนั้นเราจึงเห็นการเล่น “เอาเถิด” หรือ “เล่นซ่อนหา” ระหว่างผู้ปกครองกับ “เด็กนักเรียน” เกือบทุกวัน และฝ่ายที่หลงกลก็คือหัวหน้ารัฐบาล ที่ทำการประชาสัมพันธ์ให้กับฝ่ายเด็กนักเรียนได้เป็นข่าว

Advertisement

ความระแวงผู้อยู่ใต้ปกครองเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ปกครอง ดังนั้น การข่มขู่ การอ้างกฎหมายที่ตนเป็นคนออก การอ้างศาลทหารที่มีวิธีพิจารณาความที่แตกต่างจากวิธีพิจารณาของศาลพลเรือน เป็นการปกครองโดยกฎหมายที่ตนเป็นคนออกหรือที่เรียกว่าเป็นระบบ rule by law ไม่ใช่ระบบที่ใช้ระบบนิติรัฐ หรือ rule of law เป็นหลักในการบริหารประเทศ ทัศนคติของรัฐบาลประเภทนี้จึงมีทัศนคติว่า ตนเป็นผู้ปกครอง ประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง ความสัมพันธ์ก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครองหรือ rulers and subjects หรือ “นายกับบ่าว” เช่นเดียวกับฝรั่งเจ้าอาณานิคมกับราษฎรของประเทศอาณาประเทศ

เราจึงได้ยินคำข่มขู่ คำต่อว่า และคำบริภาษประชาชนทางสื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์ วิทยุและหนังสือพิมพ์ ทุกครั้งที่มีการสัมภาษณ์ “ผู้ปกครอง” ของเราทุกวันอังคารและวันศุกร์

ในการสื่อสารก็มีลักษณะของการสื่อสารระหว่าง “นาย” กับ “บ่าว” หรือ “เจ้ากับไพร่” ไม่ใช่เป็นการสื่อสารระหว่างผู้ให้ “บริการ” หรือ ผู้ “รับใช้” ประชาชน

Advertisement

การร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นการ “ให้ราษฎร” ไม่ใช่ “รับใช้ราษฎร” เราจึงมักจะได้ยินว่า ถ้าอย่างนี้ยังไม่เอาก็จะได้ของที่ “ยิ่งกว่านี้” ไม่มีทางเลือกอื่น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เพียง “ตามใจแป๊ะ” หรือ “รับใช้แป๊ะ” ไม่ใช่ “รับใช้ประชาชน” หรือ “ตามใจประชาชน”

เผด็จการจะพยายามแยกราษฎรกับผู้ที่เป็นปากเสียงกับราษฎรออกจากกัน โดยเรียก “ปากเสียง” ว่านักการเมือง ซึ่งจะถูกกระแสของฝ่ายที่นิยมเผด็จการและต่อต้านประชาธิปไตยดูถูกย่ำยีอย่างหนัก แม้จะมีความจริงอยู่บ้าง แต่เรายังเป็นตัวแทนของระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด “The least evil regime” ผู้ทำงานการเมืองที่มาจากอำนาจกระบอกปืนไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใดเลยในขณะที่อยู่ในอำนาจจึงน่ากลัวยิ่งกว่า

สำหรับระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ถูกกระแนะกระแหนค่อนขอดอยู่ทุกวัน ไม่เคยมีใครบอกว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบการปกครองที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นระบอบการปกครองที่ “เลวน้อยที่สุด” เป็นระบอบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า มนุษย์นั้นมีศักดิ์ศรี เป็นสัตว์สังคมและเป็นสัตว์การเมืองโดยธรรมชาติ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดพอที่จะปกครองตนเองได้ มนุษย์ไม่ว่าจะยากดีมีจน จะมีการศึกษาระดับใด มีความเข้าใจและรู้ว่าตนเองต้องการอย่างไร สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาพเป็นของที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ดังคำพังเพยทางรัฐศาสตร์ที่ว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน”

แต่มนุษย์ด้วยกันนั้นเอง ในสังคมที่ไม่เป็นอารยะหรือสังคมล้าหลัง ก็มีมนุษย์บางคนบางกลุ่ม บิดเบือนกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรมดีกว่าคนส่วนใหญ่ที่ยากจน มีระดับการศึกษาที่เป็นทางการต่ำกว่า หรือแม้แต่กล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ไม่เคยเสียภาษี จึงไม่ควรเท่าเทียมกัน

ผู้คนเหล่านี้ไม่ควรมีส่วนร่วมในการปกครองเลยแม้แต่ในรัฐบาลท้องถิ่น เพราะถูกหลอกลวงถูกชักจูงได้ง่าย ไม่ยอมปรองดองกับผู้คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการศึกษาสูง มีความสามารถ ไม่เคยถูกหลอก ไม่ยอมให้ถูกชักจูง สามารถปกครองตนเองและสามารถปกครองคนชั้นล่างที่ยากจนไร้การศึกษา ขายเสียงและไม่รู้ว่าตนต้องการอะไร ไม่รู้ว่าอะไรดีสำหรับตัวเป็นส่วนรวม อยู่เฉยๆ ปล่อยให้ผู้รู้และผู้ดีปกครองบ้านเมืองมีเสถียรภาพสงบสุข เศรษฐกิจก็จะดีแล้วตนก็จะได้มีงานทำได้ดีไปด้วย การออกมาเรียกร้องทำให้บ้านเมืองวุ่นวายปั่นป่วน ไม่สงบสุข เศรษฐกิจไปไม่ได้เร็วเท่าที่ควร กฎหมายก็ออกได้ล่าช้าเพราะมีการถกเถียงกันมากจนเกินความจำเป็น สู้ระบอบเผด็จการไม่ได้ ออกกฎหมายมาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องถกเถียงกันมาก ปีๆ หนึ่งสามารถผ่านกฎหมายมาได้กว่า 250 ฉบับ ซึ่งในระบอบสภาผู้แทนราษฎรทำไม่ได้

สำหรับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน มีชาติตระกูลกำเนิดใดก็สามารถปกครองตนเองได้ อำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนมอบอำนาจให้ผู้ปกครอง เพื่อทำให้สังคมมีระบบผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย

เพราะมนุษย์นั่นเองไม่อาจจะทำงานทุกอย่างได้ด้วยตนเอง หรือไม่ก็เพราะมีมนุษย์จำนวนหนึ่งที่อาจจะใช้อำนาจข่มเหงรังแกผู้อื่น ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น จึงต้องจัดตั้ง “รัฐ” และรัฐบาลขึ้นเพื่อทำหน้าที่จัดการบริหารจัดการให้มีระบบการผลิต การแจกจ่ายผลผลิต บริหารสังคมความเป็นมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ รักษาอธิปไตยของประเทศ รักษาความมั่นคงและปลอดภัยของประชาชน

“รัฐ” ในอุดมคตินี้จึงไม่ใช่ “รัฐปกครอง” หรือ “governing state” แต่เป็น “รัฐบริการ” หรือ “service state” ที่จะเป็นผู้จัดระเบียบเพื่อให้มีบริการสาธารณะหรือ public service ที่ดีมีคุณภาพ ในรูปแบบที่รัฐอาจจะทำเองหรือให้สัมปทานเอกชนทำ ให้ความสะดวกแก่เอกชนหรือประชาชนในการลงทุน ให้ประชาชนได้ใช้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ในการผลิต เพื่อแข่งขันให้ได้ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ เพื่อความอุดมมั่งคั่งและความสุข ความอยู่ดีกินดีของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐจัดตั้งด้วยสัญญาประชาคมหรือ Social Contract รัฐไม่ใช่ผู้ปกครอง รัฐบาลเป็นผู้บริหารจัดการหรือเป็น administration จนบางทีไม่เรียกว่าเป็นรัฐบาล แต่เรียกเป็นผู้บริหารจัดการ เช่น ไม่เรียก Bush Government แต่เรียกว่า Bush Administration หรือ “ทางการบุช” เป็นต้น

ข้อน่าสังเกตก็คือ ไม่เรียกรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลคอมมิวนิสต์ว่าเป็น Administration เช่น ไม่เรียกว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือว่า Kim Administration แต่เรียกว่า Kim Government รัฐบาล “คิม” เป็นรัฐบาลเผด็จการ ที่มองประชาชนว่าเป็นผู้อยู่ใต้ปกครอง ในขณะเดียวกันราษฎรเกาหลีเหนือและคิวบาก็มองรัฐบาลของตนเป็นผู้ปกครอง

การทำงานพัฒนาประเทศก็ดี การจัดบริการสาธารณะก็ดี ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ถือว่าเป็นหน้าที่ของทางการที่จะต้องจัดทำจัดหา ถ้าทำไม่ดีหรือทำไม่ได้ ในการเลือกตั้งคราวหน้าอาจจะไม่ได้รับเลือกเข้ามารับใช้

ต่างกับทัศนคติของรัฐบาลเผด็จการ การจะทำอะไรให้ ถ้าทำก็จะถือเป็นบุญคุณ เพราะไม่มีหน้าที่ต้องทำ มีหน้าที่อย่างเดียวคือ ปกครองให้อยู่กันอย่างสงบเรียบร้อย ราบคาบ ทำหรือไม่ทำ ดีหรือไม่ดี ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้เป็นผู้เลือก อาจจะรับผิดชอบกับตัวเอง เพราะเป็นผู้สถาปนากันขึ้นมาเอง การจะทำอะไรไม่ว่าจะเป็นนโยบายของตนเอง หรือตนเองสร้างขึ้นมาเองก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เช่น การจัดให้มีการลงประชามติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่ต้องการความชอบจากผู้อยู่ใต้ปกครองหรือ “สัปเยก” Subjects ของตน

จะรับหรือไม่รับก็ห้ามพูด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image