ปัญหาเศรษฐกิจ ปรากฏการณ์หอกข้างแคร่รัฐบาล โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

การบริหารประเทศของรัฐบาลในทุกยุคที่ผ่านมาหนึ่งในนโยบายที่สำคัญสำหรับการเดินหน้าเพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาและถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญได้แก่การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในขับเคลื่อนเพื่อการเดินหน้าสำหรับการพัฒนาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าถึงแม้รัฐบาลจะมีการบริหารจัดการด้วยนวัตกรรมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถซึ่งเซียนเรียกพี่เข้ามาเป็นจอมทัพในการผลักดันและดำเนินการด้วยมิติต่างๆ ที่หลากหลายแต่ผลที่ปรากฏจะพบว่ารัฐบาลทุกยุคก็ยังไม่สามารถบริหารจัดการให้เป็นที่พึงปรารถนาของสังคมได้

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นสำหรับการเดินหน้าประเทศสู่การพัฒนาภายใต้มิติของความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนโดยกำหนดวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์ ที่จะให้ประเทศและประชาชนหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง และลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรียังได้ลงมารับหน้าที่เป็นขุนพลหรือแม่ทัพด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาตระหนักและให้ความสำคัญการพัฒนาประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21” โดยกำหนดนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน

สำหรับการดำเนินการนโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญและถือได้ว่าเป็นหัวใจที่สำคัญของทุกนโยบายได้แก่การใช้งบประมาณแผ่นดินหรือภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่าภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้

Advertisement

พร้อมกันนั้นยังระบุด้วยว่าการดำเนินการจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ แผนแม่บทแผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติโดยอยู่บนรากฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่เติบโตเชิงคุณภาพไม่ใช่การเติบโตเชิงปริมาณ

ที่น่าสนใจสำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนได้แก่มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ตามด้วยการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรมและการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต

ในขณะที่นโยบายหลัก 12 ด้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจรัฐบาลกำหนด การเดินหน้าในช่วง 4 ปีจากนี้ไใน 3 ประเด็นคือการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก

Advertisement

ภายหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง 12 นโยบายหลัก 12 นโยบายเร่งด่วนระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2562 พบว่านโยบายหลักที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการมากที่สุดติดอันดับสอง และสามได้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ตามลำดับ

ในขณะที่นโยบายเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการมากที่สุดพบว่า อันดับหนึ่ง การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิต อันดับสาม มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และอันดับหกการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคตเป็นต้น

นับจากวันที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาจวบจนวันนี้ผ่านไปกว่า 6 เดือน จะเห็นได้ว่าถึงแม้รัฐบาลจะมุ่งมั่นในการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยนวัตกรรมหรือกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด แต่จากสภาวการณ์ที่เป็นจริงจะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะฝ่าฟันไปได้ ประกอบกับปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นอุปสรรคไม่ว่าจะอันเนื่องมาจากภายนอกหรือภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปัญหาเศรษฐกิจจึงกลายมาเป็นหอกข้างแคร่ที่คอยทิ่มแทงรัฐบาลอยู่เนืองๆ

ด้วยมูลเหตุแห่งปัญหาที่หลากหลายและกำลังจะเป็นตัวบ่งชี้ที่จะนำไปสู่การฉุดหรือการทุบเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงต่างๆ สอดคล้องกับรายงานการประเมินผล
กระทบจาก 5 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยปี 63 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า 5 ปัจจัยเสี่ยงประกอบด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กระทบต่อการท่องเที่ยว และทำให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลง ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 และความล่าช้าของงบประมาณปี 63

ซึ่งในการรายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยถึง 226,700 ล้านบาทและมีผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยลดลง 1.3% แต่ศูนย์ยังไม่ปรับลดประมาณการปี 63 จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายขยายตัวที่ 2.8% เพราะต้องรอดูมาตรการจากรัฐบาลที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

พร้อมกันนั้นศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจชื่อดังยังชี้ให้เห็นถึงมูลค่าความเสียหายในมิติต่างๆ อาทิ จากไวรัสโคโรนาที่มีต่อการท่องเที่ยวหากทางการจีนควบคุมการระบาดและการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวได้ในเดือนมีนาคม 2563 จะทำให้นักท่องเที่ยวลดลงรวมมูลค่าความเสียหาย 117,300 ล้านบาท

ในขณะที่ความเสียหายจากการที่งบประมาณรายจ่ายปี 63 ถ้าล่าช้าถึง 6 เดือนหรือเบิกจ่ายได้ในเดือนเมษายนนี้จะเกิดความเสียหาย 77,500 ล้านบาท และกรณีภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงเสียหาย 10,200 ล้านบาท เมื่อไปดูความเสียหายจากปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 หากมีความรุนแรงเกิน 1 เดือนจะเสียหาย 6,200 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยรายงานดังกล่าวชี้ว่าแม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจต่ำกว่า 2.5%

จากสภาวการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิบากกรรมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้ในงานสัมมนา 2020 ปีแห่งการลงทุน ทางออกประเทศไทยจัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ปาฐกถาพิเศษในงานดังกล่าวโดยมีความมั่นใจว่าสามารถประคับประคองภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้สามารถเดินหน้าไปได้แต่ได้เตือนภัยและชี้ให้เห็นว่าคนไทยจะเจอกับระเบิดเวลา 2 ลูก

ระเบิดลูกแรกที่รองนายกรัฐมนตรีชี้ให้เห็นได้แก่ว่าเป็นระเบิดที่อยู่เหนือน้ำคือการส่งออกที่ค่อยๆ ชะลอตัวลงจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีน ในขณะที่ระเบิดลูกที่ 2 คือระเบิดใต้น้ำซึ่งมีหลายลูกเช่นโครงการลงทุนขนาดใหญ่เคลื่อนตัวช้าเกินไปและงบประมาณแผ่นดินที่เกิดความล่าช้าเป็นต้น

จากปัจจัยหรือสภาวการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นถึงแม้รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านเศรษฐกิจจะพยายามแสวงหาทางรอดทางเลือกที่หลากหลายแต่ดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวอาจจะย้อนมาเป็นหอกข้างแคร่ที่ทิ่มแทงรัฐบาลไปอีกนานเท่านาน

ในกรณีนี้ล่าสุดมีรายงานว่ารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจ่อปรับลดจีดีพี ปี 63 ซึ่งในประเด็นนี้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองแจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจตัดสินใจที่จะปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงจากเดิมที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดไว้ว่าจะขยายตัว 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางที่ 3.2% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงใหม่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในห้วงเวลานี้ผู้คนทั่วไปจะตื่นตัวกับปรากฏการณ์ของไวรัสโคโรนาที่ระบาดทั้งในและนอกประเทศทำให้การเรียกร้องของประชาชนที่มีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงก็ตามแต่อีกไม่นานปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลยังเกาไม่ถูกที่คันหรือแก้ได้อย่างสะเด็ดน้ำ ปัญหาดังกล่าวจะกลายมาเป็นลูกระเบิดหรือหอกข้างแคร่ที่จะตามมาหลอกหลอนหรือทิ่มแทงรัฐบาลอีกเช่นเคย

ต่อปัญหาเศรษฐกิจของประเทศหากมองด้วยความเป็นธรรมจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจากรัฐประหารก็ตามถึงแม้จะมีนโยบายที่สวยหรูสามารถผลักดันแผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชานิยมหรือประชารัฐเพื่อสร้างความนิยมหรือความพึงพอใจให้ประชาชนได้คล้อยตาม แต่ในความเป็นจริงมิติของความนิยมดังกล่าวไม่ได้ยั่งยืนอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง

เหนือสิ่งอื่นใดการเดินหน้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในยุคดิจิทัลที่จะส่งผลต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมภายใต้มิติของความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหนึ่งในปัจจัยที่รัฐบาลจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง

คือการเดินหน้าพัฒนาบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้จะเป็นหนึ่งในบริบทของการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image