แรงงานไทยหายไปไหน?

การมาเยือนของ ออง ซาน ซูจี และการชุมนุมกันของแรงงานพม่าเพื่อรอต้อนรับผู้นำของตน ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ด้านสถานการณ์แรงงานของไทยกันแพร่หลายทั้งในหน้าสื่อและสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับข้อเรียกร้องด้านสิทธิของแรงงานพม่าจากองค์กรแรงงานต่อซูจีในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ หรือผู้นำที่แท้จริงของสหภาพเมียนมา และกล่าวถึงสภาพการทำงานที่ขาดแคลนคนไทย ต้องอาศัยแรงงานพม่าเป็นหลัก ก่อให้เกิดคำถามว่า แรงงานไทยหายไปไหนจากประเทศไทย?

จากข้อมูลสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทยมีประชากรวัย 15 ปีขึ้นไปประมาณ 55 ล้านคน เป็นวัยที่มีกำลังทำงานได้ประมาณ 38 ล้านคน มีคนไม่มีงานทำ 340,000 คน หรือราว 0.1% ถือว่าเป็นอัตราส่วนการว่างงานที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม การเก็บสถิตินี้อาจมีความคลาดเคลื่อนมาก เนื่องจากนิยามของผู้มีงานทำในการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หมายถึงผู้ที่มีงานทำอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยได้รับค่าตอบแทนในสัปดาห์ก่อนการสำรวจ อย่างไรก็ดี ภาวการณ์มีงานทำของไทยถือได้ว่ามีผู้ว่างงานต่ำ เนื่องจากงานในภาคเกษตรสามารถดูดซับแรงงานส่วนเกินได้ ทำให้งานภาคการผลิตและงานภาคบริการจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากเพื่อรองรับธุรกิจ

คำตอบของคำถามว่า “แรงงานไทยหายไปไหน?” นั้นอยู่ในตัวเลขของจำนวนประชากรนี้เอง

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย แรงงานไทยอยู่ในภาคการเกษตรถึง 16.7 ล้านคน คือกว่า 38% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ส่วนตำแหน่งงานว่างที่ต้องการในภาคการผลิตและการบริการ ยังต้องการแรงงานกว่าปีละ 450,000 คนซึ่งมาจากความไม่สมดุลในระดับการศึกษา วุฒิที่จำเป็น กับตำแหน่งงานที่ต้องการ ทำให้ตำแหน่งงานในระดับล่างถึงระดับกลาง เช่น แรงงานประกอบและบรรจุสินค้า พนักงานขาย พนักงานบริการหน้าสถานที่ และเสมียน ที่ต้องการผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพขาดแคลนอย่างมาก แต่ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปประสบภาวะว่างงานปีละกว่า 300,000 คน เป็นช่องว่างที่ทำให้แรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะจากประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศในอาเซียนเข้ามาทดแทนช่องโหว่ของตำแหน่งงานส่วนนี้

Advertisement

อีกส่วนหนึ่งของแรงงานไทย ก็แสวงหาโอกาสอันดีในการออกไปทำงานยังต่างแดนเช่นเดียวกับที่แรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาแสวงหาโอกาสในประเทศไทย ด้วยความแตกต่างของค่าจ้างต่อค่าครองชีพ การทำงานยังต่างประเทศสามารถเก็บเงินเป็นกอบเป็นกำส่งกลับมาให้ครอบครัวหรือสร้างอนาคตที่ไทยได้มากกว่า โดยจากสถิติของสำนักแรงงานไทยไปต่างประเทศ นับเฉพาะแรงงานที่ขออนุญาตไปทำงานผ่านกระทรวงแรงงานในแต่ละปีมีกว่า 48,000-50,000 คน และมีจำนวนแรงงานไทยในต่างประเทศสะสมมากกว่า 400,000 คน ในจำนวนแรงงานเหล่านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าได้ส่งเงินกลับคืนประเทศมากกว่า 83,000 ล้านบาท ในปี 2558

นักรบแรงงานไทยเหล่านี้ออกไปทำงานด้วยความหวังสร้างเนื้อสร้างตัวและสร้างอนาคตให้กับตนเองและครอบครัว ไม่ต่างอะไรกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่เมืองไทย และไม่ต่างอะไรกับบรรพบุรุษผู้อพยพมาหากินในเมืองไทยแต่เมื่ออดีตกาล ไม่ว่าจะเป็นแขก จีน หรือญวน

ไม่ว่าจะเป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานในไทย หรือแรงงานไทยออกไปทำงานต่างประเทศ หากเป็นแรงงานที่ผ่านการจัดหางานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตและใบรับรอง ก็ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ และได้รับความคุ้มครองจากรัฐอย่างถูกต้องตามอนุสัญญาด้านแรงงานขององค์กรแรงงานสากล

Advertisement

ปัญหาแรงงานจึงจะมองเพียงแค่ข้อคิดเห็นเชิงอารมณ์ไม่ได้ แต่ต้องนำเอาข้อมูลข้อเท็จจริง ตัวเลข และผลกระทบที่เกิดขึ้นมาตีแผ่โดยละเอียด ซึ่งกระทรวงแรงงานของไทย ได้มีการเก็บสถิติและมีงานวิจัยรองรับอยู่แล้วพอสมควร เหลือเพียงแต่การนำงานวิจัยเหล่านั้นไปประยุกต์ปฏิบัติใช้ให้เป็นผล เพื่อให้แรงงานต่างด้าวอยู่ไทยและสร้างเสริมเศรษฐกิจไทย และแรงงานไทยที่ไปนอกได้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image