สุจิตต์ วงษ์เทศ : เครือญาติคนไทย

เศียรพระโพธิสัตว์ หล่อด้วยสำริด (สัญลักษณ์ที่ผมหายไป) เกล้าผมทรงชฎามงกุฎ มีพระมัสสุ (หนวด) อายุราว พ.ศ. 1200 ฝีมือช่างเขมรแบบไพรกเม็ง (จัดอยู่ในกลุ่ม “ประติมากรรมแบบประโคนชัย”) พบที่บ้านโตนด อ. โนนสูง จ. นครราชสีมา (จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

โพธิสัตว์สำริด พบที่บุรีรัมย์ บริเวณลุ่มน้ำมูล เป็นหลักฐานสำคัญแสดงความสืบเนื่องเทคโนโลยีหล่อโลหะจากวัฒนธรรมสำริดบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว จากนั้นถ่ายทอดต่อเนื่องถึงเทวรูป-พุทธรูปสำริดแบบละโว้-อโยธยา และแบบสุโขทัย

เป็นพยานสำคัญว่า ผู้คนที่ราบสูงกับที่ราบลุ่มของลาว-กัมพูชา-ไทย ล้วนเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ทั้งทางเผ่าพันธุ์และทางสังคมวัฒนธรรม

ประติมากรรมสำริดรูปโพธิสัตว์ ฝีมือช่างแบบประโคนชัย มีแหล่งกำเนิดแถบลุ่มน้ำมูลในอีสานใต้ ที่ราบสูงโคราช ราวหลัง พ.ศ. 1000 เคยมีขนาดใหญ่โตสุดเป็นเศียรโพธิสัตว์สำริด พบใกล้แม่น้ำมูลที่บ้านโตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) นักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะกลุ่มหนึ่ง อธิบายว่าเป็นลักษณะเฉพาะของบ้านเมืองลุ่มน้ำมูล

เทคโนโลยีหล่อสำริดเป็นรูปโพธิสัตว์ ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เป็นความรู้สั่งสมสืบเนื่องจากวัฒนธรรมสำริดบ้านเชียงที่มีมาก่อน โดยมีแหล่งทองแดงซึ่งเป็นโลหะหลักจากลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ภูโล้น (จ.เลย) ลงไปถึงเขตลาวใต้

Advertisement

เจ้าของเทคโนโลยีควรเป็นตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์ของดินแดนแถบลุ่มน้ำมูล และควรสืบเนื่องเป็นเจ้านายในราชวงศ์มหิธรปุระของบ้านเมืองระดับรัฐ มีศูนย์กลางอยู่ปราสาท พิมาย หรือเมืองพิมาย ราวหลัง พ.ศ.1500

ราชวงศ์มหิธรเป็นบรรพชนกษัตริย์กัมพูชา ที่สร้างปราสาทนครวัด (เมืองพระนคร) กับปราสาทบายนในนครธม (เมืองพระนครหลวง) ขณะเดียวกันก็สืบวงศ์เครือญาติถึงกษัตริย์เมืองละโว้-อโยธยาศรีรามเทพ กับกษัตริย์รัฐสุโขทัย (สายพ่อขุนศรีนาวนำถุม)

เทคโนโลยีหล่อสำริดรูปโพธิสัตว์ สืบทอดสู่ช่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ เช่น เศียรธรรมิกราชแบบอู่ทอง (อยุธยา) กับเทวรูป-พุทธรูปแบบสุโขทัย

Advertisement

บ้านเมืองกลุ่มนี้ต่อมาเรียกชื่อ เมืองไทย ผู้คนเรียกตัวเองว่า ไทย ล้วนเป็นบรรพชนคนไทยทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image