เมื่อสิทธิการตรวจสอบกลับคืนมา : สมหมาย ปาริจฉัตต์

รัฐสภากำหนดปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงช่วงชิงยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก่อนที่สภาจะปิดลง

ผู้ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สวุรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คาดการณ์ว่าการอภิปรายจะเกิดขึ้นราววันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป โดยฝ่ายค้านขอใช้เวลา 4 วัน วัน เวลา จะเป็นไปตามนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการหารือระหว่างฝ่ายค้านกับคุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และความพร้อมของฝ่ายรัฐบาล จะตกลงกัน

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่จะกระทำต่อ พล.อ.ประยุทธ์ นับแต่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาถึงวันนี้

Advertisement

การดำรงตำแหน่งต่อเนื่องสองห้วงเวลาทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะกระทำเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลบริหารราชการหลังเลือกตั้ง หรือย้อนกลับไปถึงช่วงรัฐบาลภายใต้ คสช.ด้วยหรือไม่

คำถามนี้ยังไม่มีคำตอบหรือคำชี้ขาดจากผู้เกี่ยวข้องฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่คอการเมืองมั่นใจว่าฝ่ายค้านจะย้อนสาระไปถึงช่วงรัฐบาลภายใต้ คสช.ด้วยอย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจส่วนใหญ่เป็นคนเดิม บริหารราชการสืบทอดต่อเนื่องกันมา

ที่ผ่านมาไม่เคยมีการตรวจสอบการบริหารงานอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาต่อสาธารณะโดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเพิ่งฟื้นคืนมาอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง

Advertisement

ตลอดเวลาห้าปี ภายใต้ระบอบอำนาจพิเศษ ฝ่ายเห็นต่างไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้เท่าที่ควร ตรงกันข้ามกับถูกอำนาจพิเศษเล่นงาน ปิดกั้นต่างๆ นานา

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่ฝ่ายค้านในสภามีโอกาสนำเอาความจริง ความไม่ชอบมาพากล ความสงสัยเคลือบแคลงต่างๆ ออกมาบอกกล่าวต่อสาธารณะ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน พูดถึงประเด็นหลักที่จะอภิปรายว่า จะเน้นหนักเรื่องความล้มเหลวในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด เน้นไปที่เศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก ส่วนเรื่องการเมืองจะมีเรื่องของการทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่หยุดยั้งและการทุจริต มีหลักฐานจะชี้ให้เห็นว่าใครเป็นคนทำและทำอย่างไรบ้าง

ฟังคำพูดของแกนนำฝ่ายค้านแล้ว เทียบเคียงกับรายชื่อผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ กลับไม่พบว่ามีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบทางด้านเศรษฐกิจอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถูกอภิปรายแม้แต่รายเดียว และไม่มีรัฐมนตรีที่มาจากนักการเมืองสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา มีแต่พรรคพลังประชารัฐและไม่สังกัดพรรค ซึ่งอยู่ในโควต้าของนายกรัฐมนตรี

พิจารณาจากรายชื่อและคำบรรยายเหตุผลในตัวญัตติสะท้อนชัดว่า จุดมุ่งหมายของพรรคฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวขบวนเป็นหลัก

ฝ่ายค้านอ่านเกมแล้วว่าถึงอย่างไร เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็มีมากกว่า ฝ่ายค้านไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยจำนวนมือที่ลงคะแนนอย่างแน่นอน

ยุทธศาสตร์ตีตรงหัว รวมศูนย์ตอกย้ำประเด็นความไม่ชอบธรรมทางการเมือง ละเมิดหลักนิติธรรม มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู และตามด้วยการขาดประสิทธิภาพในการบริหาร

ต้องการเพิ่มความบอบช้ำต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีจุดอ่อนเรื่องการควบคุมอารมณ์ เก็บอาการไม่อยู่ และต้องชี้แจงด้วยตัวเอง จึงเป็นการทดสอบต่อมความอดทน เป็นบทเรียนของผู้นำที่ก้าวมาจากกองทัพด้วยการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

หลักการของการอภิปรายไม่ใช่เพียงแค่ว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านยกขึ้นมากล่าวหาเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ข้อมูลเชื่อถือได้แค่ไหน รัฐบาลตอบชี้แจง หักล้างได้หมดจดงดงามหรือไม่เท่านั้น

แต่หัวใจอยู่ที่โอกาสของการตรวจสอบฝ่ายบริหาร สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการควบคุม ตรวจสอบทั้งสองฝ่าย ได้รับการยอมรับปฏิบัติ เป็นจริงตามกติกาประชาธิปไตย

ถ้าฝ่ายค้านทำการบ้านมาดีมีเนื้อหา หลักฐานน่าเชื่อถือ ก็จะได้รับความนิยม ชื่นชม ยกย่อง

ยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีกระบวนการทำงานก้าวหน้า ทันสมัย มีฐานความรู้รองรับ จะยกมาตรฐานการอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้นอีกระดับหนึ่ง

แต่หากตรงกันข้าม ดีแต่เล่นสำนวนโวหาร ลีลา เอามัน สะใจได้ล้างแค้น ก็ย่อมทำลายตัวเอง บั่นทอนความศรัทธา เพราะไร้คุณภาพ มีแต่ราคาคุย

ประโยชน์ของการอภิปรายจะเกิดขึ้นสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อทำให้กระบวนการควบคุมฝ่ายบริหารโดยสภาผู้แทนราษฎรศักดิ์สิทธิ์ มีความหมาย ไม่ใช่แค่พิธีกรรมเพื่อช่วงชิงอำนาจกัน

ต้องทำให้การตรวจสอบมีมาตรฐาน เกิดผลด้านบวก ช่วยกระตุ้น ปลุกเร้าความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ยิ่งกว่าเพิ่มความเบื่อหน่าย ไร้ศรัทธาความหวังที่มีต่อนักการเมืองและรัฐสภา

ระหว่างเรื่องกับรส เนื้อหาสาระกับลีลา ความเป็นจริงจะเป็นไปในทิศทางไหนมากกว่า จะเห็นกันในการอภิปรายครั้งสำคัญนี้

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image