คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน ใครจะอุ้มช้างออกไปนอกห้อง : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รายงานข่าวของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สรุปความว่า “ก.พ. กำลังเตรียมยกเครื่องระบบราชการไทย เพื่อรับมือกับภาวะโลกเปลี่ยน”

รายงานข่าวได้สรุปคำให้สัมภาษณ์ของ “หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 ว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.พ. กำลังเตรียมปรับโครงสร้างของข้าราชการพลเรือน ซึ่งมีทั้งหมด 1.33 ล้านคน โดยเฉพาะในส่วนข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงราว 3.9 แสนคน

ท่านเลขาฯยอมรับว่า การทำงานของข้าราชการถูกสังคมตั้งคำถามมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ดังนั้นเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น สำนักงาน ก.พ. จึงตั้งโจทย์ศึกษาใน 3 ประเด็นหลัก คือ

(1) จำนวนข้าราชการ และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญได้มีการทำงานเต็มประสิทธิภาพคุ้มค่าหรือไม่ และปัญหาเร่งด่วนที่แท้จริงคืออะไร ระหว่างปริมาณหรือคุณภาพ

Advertisement

(2) เป้าหมายการลดต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคลของภาครัฐให้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่าย จากปัจจุบันอยู่ที่ 37% ของงบประมาณรายจ่าย โดยใช้คนทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะจากการประเมินต้นทุนของข้าราชการตั้งแต่เข้าทำงานวันแรกจนถึงวันที่เสียชีวิตจะอยู่ที่ราว 28 ล้านบาทต่อคน และ

(3) จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจเข้ามาทำงานข้าราชการมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถไม่สนใจเข้ามาทำงานราชการ เนื่องจากระบบราชการไทยมีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบมีเงื่อนไข ขณะที่การทำงานของคนรุ่นใหม่ชอบอิสระ และให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพคน คุณภาพงาน และคุณภาพชีวิต

ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวนี้ ถือเป็นความท้าทายของ “ระบบราชการไทย” และเป็นโจทย์ที่ ก.พ. จะกำหนดออกมาเป็นแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนต่อไป

Advertisement

เรื่องที่สำคัญก็คือ “ปริมาณและคุณภาพของคนที่ไม่สอดรับกัน”

เราจึงต้องทำให้ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่าปัญหาของระบบราชการไทยคืออะไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มาก เปรียบเทียบปัญหา คือ “ช้าง” และทุกวันนี้ช้างก็ยังยืนอยู่ในห้อง และเราเองก็อุ้มช้างออกนอกห้องไม่ได้

ดังนั้น หากไม่ทำในวันนี้ระบบราชการจะเป็นแบบนี้ตลอด ก.พ. ในฐานะฝ่าย “ทรัพยากรบุคคล” (HR) ของรัฐบาล จึงต้องหาวิธีทำให้ขนาดกำลังคน ต้นทุน และประสิทธิภาพของคนอยู่ในระดับที่เหมาะสมไปพร้อมๆ กับการตอบโจทย์ที่ว่าจะสร้างเสริมนโยบายรัฐ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เป็น “ไทยแลนด์ 4.0” และทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีรู้สึกดีต่อระบบราชการไทยอีกครั้ง

การเปรียบเทียบ “ระบบราชการ” เหมือน “ช้าง” ของท่านเลขาธิการ ก.พ.นั้น ต้องถือว่าท่านเปรียบเทียบได้ชัดเจนจนเห็นภาพเลย เพราะช้างตัวใหญ่น้ำหนักมาก จึงอุ้ยอ้ายและเคลื่อนไหวเชื่องช้าเกินกว่าจะวิ่งทันกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนระบบราชการให้มี “คุณภาพ” และมี “ผลิตภาพ” สูง จึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะระบบราชการเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายต่างๆ ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image