Too late and too little! รัฐบาลไทยกับจีน และไวรัสอู่ฮั่น

การขยายตัวของเชื้อโรคระบาดจากเมืองอู่ฮั่นในประเทศจีนเข้าสู่ประเทศไทยหลังจากปีใหม่ 2563 กำลังเป็นการพิสูจน์การนำของนายกรัฐมนตรี และขีดความสามารถของรัฐบาลไทยโดยตรง ซึ่งดูเหมือนว่า วันนี้ผู้คนในสังคมไทยเป็นจำนวนมากมีความรู้สึกคล้ายกันว่า รัฐบาลปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ “อ่อนแอ” ในการต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น และขณะเดียวกันก็ “อ่อนด้อย” ในเชิงของการออกนโยบายเพื่อรับมือกับการเข้ามาการมาของเชื้อโรคที่มาจากชาวจีน และทั้งก็ออกอาการ “อ่อนไหว” อย่างมากกับ “ทางจีน” ที่เป็นต้นทางของเชื้อโรค

ถ้าวันนี้เราลองสำรวจความรู้สึกกับการเป็นผู้นำของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการระบาดของเชื้อโรคระบาดชุดนี้แล้ว หลายคนมีความเห็นว่า การดำเนินการของรัฐบาลนี้ “ช้าเกินไปและน้อยเกินไป” จนวันนี้การระบาดในประเทศไทยเป็นรองก็แต่ต้นทางที่จีนเท่านั้น และแทบไม่น่าเชื่อว่าวันนี้ไทยติดอันดับสองของการขยายตัวของเชื้อโรคชุดนี้ในเวทีโลก และเมืองใหญ่ของไทยสามแห่งคือ กรุงเทพ เชียงใหม่ และภูเก็ต อยู่แถวหน้าของเมืองที่เป็นจุดระบาดของโรค

สภาวะเช่นนี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องกังวลว่า ถ้าแนวโน้มของการระบาดไม่หยุดลงแล้ว ไทยอาจจะกลายเป็น “จุดระบาดใหญ่” ในอนาคตจนอาจส่งผลต่อสถานะของประเทศได้ไม่ยากนัก และหากเกิดขึ้นจริงแล้ว การระบาดเชื้อโรคนี้ย่อมส่งผลกระทบให้การท่องเที่ยวที่เป็น “หัวขบวนรถไฟ” หลักของเศรษฐกิจไทย กลายเป็น “รถไฟจอดหยุดนิ่ง” ได้ไม่ยากนัก

ถ้าจะลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ภาวะเช่นนี้ได้ ไทยอาจจะออกมาตราการควบคุมการเข้าเมืองของนักท่องเที่ยวจีน แน่นอนข้อเสนอเช่นนี้มิได้มีนัยถึงการปฎิเสธนักท่องเที่ยวจีน หรือลดระดับการมีความสัมกับจีนแต่อย่างใด แต่หากการแพร่ขยายของการระบาดในจีนยังไม่อาจควบคุมได้แล้ว มาตราการการควบคุมการเข้าเมืองของชาวจีนอาจจะต้องนำมาคิดอย่างจริงจัง

Advertisement

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท่าทีของรัฐบาลไทยมีอาการ “รีๆรอๆ” ในการแก้ปัญหา อาจจะเป็นเพราะในด้านหนึ่ง ผู้นำรัฐบาลไทยไม่เคยมีทัศนะที่ตระหนักว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโรคระบาดเป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงในโลกสมัยใหม่ เพราะปัญหาความมั่นคงไทยถูกวางน้ำหนักไว้กับเพียงสิ่งที่ถูกนิยามว่าเป็น “ความมั่นคงทางทหาร” เท่านั้น และการลงทุนในการสร้างความมั่นคงจึงมุ่งไปสู่การเสริมสร้างพลังอำนาจทางทหารด้วยการซื้ออาวุธ ยิ่งเป็นรัฐบาลที่สืบทอดมาจากรัฐบาลทหารแล้ว การลงทุนด้านความมั่นคงในมิติอื่นๆ แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย ปัญหา “ความมั่นคงด้านสุขภาพ” (Health Security) จึงไม่อยู่ในความคิดของผู้นำเหล่านี้แต่อย่างใด

อีกทั้งหากพิจารณาในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว อาการ “รีรอ” ในการออกมาตราการหรือนโยบายใดๆ ในเรื่องนี้ เป็นเพราะรัฐบาลไทยที่สืบทอดมาจากความเป็นรัฐบาลรัฐประหาร 2557 นั้น มีความ “เกรงใจ” จีนอย่างเห็นได้ชัด ในทางการเมือง รัฐบาลปักกิ่งแสดงออกอย่างชัดเจนในการสนับสนุนรัฐบาลทหารกรุงเทพ ดังเห็นได้จากพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่กระชับแน่นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร

จนเห็นได้ว่าจากรถถัง เรือดำน้ำ จนถึงรถไฟความเร็วสูง และโครงการแถบและเส้นทาง (BRI) มาพร้อมกับการขยายอิทธิพลจีนในไทยในด้านต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ชุดใหม่ที่ก่อตัวขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 ทั้งสิ้น แม้ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองจะมีความใกล้ชิดมาก่อนจากเงื่อนไขสงครามกัมพูชา แต่หลังจากความสำเร็จของการยึดอำนาจครั้งนั้น จีนกลายเป็นปัจจัยหลักในนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย จนมีข้อถกเถียงในการเมืองในภูมิภาคว่า จีนได้เข้าแทนที่ในความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของไทยแทนสหรัฐแล้วหรือไม่?

Advertisement

ดังนั้นท่าทีที่รีรอในการออกมาตราการต่างๆ ไม่ว่าจะดำเนินการควบคุมการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งรวมถึงข้อเสนอในการยกเลิกการขอวีซ่าเข้าเมืองเมื่อมาถึงประเทศไทย การรับนักศึกษาและประชาชนไทยที่อยู่ในพื้นที่การระบาดของจีนกลับไทย รวมถึงการออกมาตราการควบคุมสินค้าที่มีความจำเป็นในการรักษาสุขอนามัยของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากาก แอลกอฮอล์ที่ใช้ทำความสะอาด (แทนที่จะปล่อยให้มีการนำออกอย่างไม่จำกัดจำนวน จนกลาย “สินค้าขาดแคลน” ในตลาดไทย) … มาตราการเหล่านี้มีการพูดถึงในสังคมจนกลายเป็นแรงกดดัน และแม้ในที่สุดรัฐบาลอาจจะออกมาตราการบางประการ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ดูจะ “ช้าเกินและน้อยเกินไป” และในด้านหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ เกิดจากปัจจัยด้านต่างประเทศของไทย

ดังนั้นไม่แปลกนักที่ความรีรอเช่นนี้จะทำให้รัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างมากถึง ความทันเวลาและทันสถานการณ์ในการแก้ปัญหา และอาจจะเป็นเพราะความ “เกรงใจ” ที่รัฐบาลไทยมีต่อปักกิ่งเช่นนี้เอง ส่งผลโดยตรงให้ ไทยจะไม่ออกมาตราการใดๆ ที่จะทำให้จีนไม่พอใจ จนดูเหมือนวันนี้รัฐบาลกรุงเทพจะดีใจอย่างมากกับเสียงชื่นชมที่ปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์จีน และขณะเดียวกันก็อยากจะ “ปิดหูปิดตา” ไม่อยากได้ยินเสียงวิจารณ์ในบ้านต่อการแก้ปัญหาโรคระบาดครั้งนี้ที่ดังขึ้นไม่หยุด

รัฐบาลไทยคงต้องยอมรับความจริงว่า รัฐบาลกำลังเพลี่ยงพล้ำในทางการเมืองอย่างมากในการสู้กับ “สงครามโรคระบาด” ครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้นำรัฐบาลที่ไม่ได้สะท้อนศักยภาพของการนำในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ได้แต่อย่างใด … ไม่อยากประเมินว่า บททดสอบครั้งนี้ใหญ่และใหม่เกินกว่าขีดความสามารถของผู้นำชุดปัจจุบัน!

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image