อดีต ปัจจุบัน อนาคต : ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของความจริง ความดี และความงาม : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

หากเราแบ่งมิติเวลาออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ เวลาในอดีต เวลาในปัจจุบัน และเวลาในอนาคต เราจะพบว่า ณ ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะดำเนินชีวิตไปภายใต้อิทธิพลของอดีตและอนาคต มากกว่าปัจจุบันใช่หรือไม่ ลองใคร่ครวญทบทวนดู

พฤติกรรมของแต่ละคน นอกจากจะได้รับอิทธิพลจากความคิด ความเชื่อของตนเอง ซึ่งเกิดจากการอบรมเลี้ยงดู ตามความคิดความเชื่อของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ครู อาจารย์ ภายใต้บริบทของสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากความคาดหวังและเป้าหมายชีวิตในอนาคตอีกด้วย

ในขณะที่คนบางคนยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาความคิด ความเชื่อ และ/หรืออุดมการณ์ของตนเอง คนบางคนก็มุ่งมั่น ทุ่มเท ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองตั้งเป้าหมายหรือความหวังไว้ ในขณะที่คนบางคนทำสิ่งต่างๆ อย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมที่ใหญ่กว่า แต่ก็มีคนบางคนที่ทำสิ่งต่างๆ เพื่อหวังผลประโยชน์ต่อตนเองในปัจจุบันเป็นหลัก โดยไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรถึงผลกระทบทางลบที่จะเกิดกับส่วนรวมในอนาคต ไม่ว่าจะอนาคตระยะสั้นหรือระยะยาว

อดีตและอนาคตจึงเป็นตัวกำหนดที่สำคัญส่วนหนึ่งของความคิดความเชื่อและพฤติกรรมในปัจจุบัน คนบางคนให้ความสำคัญมากกับอดีต แต่คนบางคนก็ให้ความสำคัญมากกับอนาคต มากจนขาดสติ ละเลยหรือมองข้ามความสำคัญของปัจจุบันขณะไป มีการตัดสินใจทำบางอย่างลงไปโดยปราศจากการยั้งคิด ไม่พิจารณาบริบทและสถานการณ์ความเป็นจริง ณ ปัจจุบันขณะ ส่งผลกระทบทางลบ ทำร้ายอดีต หรือแม้กระทั่งทำลายอนาคตของตนเองและสังคม

Advertisement

ปัจจุบันเป็นตัวเชื่อมระหว่างอดีตกับอนาคต ปัจจุบันเป็นทั้งผลของอดีตและเหตุของอนาคต

อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ เคยทำร้ายใคร โกหกใคร ด่าใคร ฆ่าใคร ก็แก้ไขไม่ได้แล้ว เพราะมันเกิดขึ้นไปแล้ว มันผ่านไปแล้ว แต่ถ้าเรามีสติ ปราศจากอคติ เราก็สามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้ ดังนั้น ณ ปัจจุบัน เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับและเคารพอดีต เพราะปัจจุบันคือผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต เราเลือกอนาคตที่พึงประสงค์และเป็นไปได้สำหรับเราได้ ด้วยการเลือกสร้างเหตุในปัจจุบันอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยตัวของเราเอง

อนาคตเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด จึงยังไม่ใช่ความจริง นักอนาคตจึงไม่พูดถึงอนาคตในลักษณะที่เป็นความจริง อนาคตจึงเป็นเพียงแนวโน้มต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าแนวโน้มเหล่านั้นจะเป็นแนวโน้มที่พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ก็ตาม

Advertisement

อนาคตที่เป็นไปได้และพึงประสงค์ เป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น ดังนั้น ณ ปัจจุบัน เราจึงต้องมีสติและใช้ปัญญาในการสร้างสรรค์อนาคต

ในระบบการศึกษา เราให้ความสำคัญกับอดีต ด้วยการมีวิชาหรือสาขาวิชาประวัติศาสตร์ เราให้ความสำคัญกับอนาคตด้วยการมีวิชาหรือสาขาวิชาอนาคตศาสตร์ (Futurics/Futurology) อนาคตศึกษา (Futures Studies) และการวิจัยอนาคต (Futures Research) แล้วเรามีวิชาหรือสาขาวิชาปัจจุบันศาสตร์ (Presentology) หรือไม่?

ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ทำให้เรายึดติดอยู่กับอดีตและหลงใหลไปกับอนาคตที่วาดฝันไว้ จนทำให้เราขาดสติกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันหรือไม่?

เราใช้ชีวิตอยู่กับอดีตและอนาคต แต่ทรยศกับปัจจุบันหรือเปล่า?

ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ก็ถูกครอบงำและล้างสมองด้วยความคิดความเชื่อเรื่องเศรษฐกิจเสรี ทุนนิยม การแข่งขันชิงความเป็นหนึ่ง การเพิ่มผลผลิต การขยายกิจการ … ผ่านระบบการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ประเทศตะวันตกที่จัดตัวเองว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ใช้พลังอำนาจที่เหนือกว่าทั้งทางทหาร อาวุธ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และอื่นๆ ผลักดัน กดดัน และบีบรัดให้ประเทศที่ด้อยกว่าเปิดตลาดเสรี แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศที่ด้อยกว่าในหลากหลายรูปแบบและวิธีการ

การเมืองที่เป็นอยู่ ก็ยึดติดกับตัวบุคคล ผลประโยชน์ส่วนตัว กลุ่มตน พวกและพรรค มากกว่าประโยชน์สุขของส่วนรวม มีการแก่งแย่ง ช่วงชิงอำนาจ แย่งชิงความได้เปรียบในทุกรูปแบบ ทำลายขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมที่สั่งสมกันมาในอดีต ทั้งโดยเจตนา และ/หรือรู้เท่าไม่ถึงกาล สร้างความสับสนวุ่นวายในปัจจุบัน เพื่อจะให้เกิดอนาคตตามที่ตนเองต้องการ

เราจะยอมติดกับดัก อยู่กับระบบเศรษฐกิจและการเมืองกระแสหลักอย่างนี้ต่อไปหรือไม่ แนวคิดและแนวทางการพัฒนาตามอย่างตะวันตก (เสรีทุนนิยม) โตไม่หยุด โตอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดจะนำเราเข้าสู่ขอบฟ้าปรากฏการณ์ (Event Horizon) จุดที่ไม่มีวันจะย้อนกลับและถูกกลืนเข้าไปในหลุมดำ (Black Hole) ของระบบในท้ายที่สุด

หรือเราควรหยุดคิดและหยุดทำตามกระแสหลัก แล้วตั้งสติ ใคร่ครวญ ทบทวนดู ว่าการเดินตามการพัฒนากระแสหลักที่เป็นอยู่ มันมีลักษณะดังต่อไปนี้หรือไม่ … “อดีตถูกด้อยค่า บ่นด่าปัจจุบัน ฟาดฟันอนาคต ขี้รดบนหลังคา”

หรือเราควรร่วมกันเรียนรู้สรุปถอดบทเรียนจากอดีต ร่วมกันสรรสร้างปัจจุบัน และช่วยกันพัฒนาอนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกัน

มีสติอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับและเคารพอดีตที่เกิดขึ้นและผ่านไป ให้เกียรติอนาคตในทุกมิติและทุกแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้ ไม่ประมาท

เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ความจริง ความดี ความงาม ของอดีต ปัจจุบัน และอนาคตร่วมกัน

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image