มาฆบูชา : ท่ามกลางปัญหาโรคระบาด : โดย รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียประเทศหนึ่งซึ่งมีนักท่องเที่ยวนิยมชมชอบโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยเหตุนี้เมื่อไวรัสโคโรนามีการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงมีผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยเพราะทางการจีนสั่งระงับการเดินทางออกนอกประเทศ แต่ไวรัสสายพันธุ์โคโรนาเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อยกว่าซาร์สและเมอร์ส ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาวโดยแบ่งชนิดของไวรัสออกเป็น 2 ชนิด คือ 1) ชนิดโคโรนาที่ไม่ทราบชื่อ และ 2) ชนิดโคโรนาที่ทราบชื่อ

ไวรัสโคโรนาที่ทราบชื่อ มีอาการของโรค คือ ไข้หวัด คัดจมูก และน้ำมูกไหล กระทั่งเกิดอาการปวดบวม และนำไปสู่โรคซาร์ส และโรคเมอร์ส ส่วนเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดอยู่ที่เมืองอู่ฮั่นในปัจจุบันเป็นไวรัสโคโรนาที่ยังไม่ทราบชื่อ จึงไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เป็นไวรัสที่เกิดจากคนสู่คนทางระบบหายใจ ต้องดูแลรักษาสุขภาพด้วยการใส่หน้ากากเอ็น 95 เพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือเอ็มพี 2.5 (ตามคำแนะนำของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา)

การป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้เข้มแข็งควบคู่กับการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หากจิตใจอ่อนแอวิตกกังวลจนเกินเหตุร่างกายจะพลอยเสื่อมทรุดหรือเจ็บป่วยในทันที เพราะจิตใจมีอิทธิพลต่อร่างกายดังคำกล่าวที่ว่า “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว” การสวมใส่หน้ากากแม้จะเป็นการป้องกันโรคได้ในระดับหนึ่ง แต่การสวมใส่ศีลธรรมจะเป็นการป้องกันโรคได้ตลอดไป เพราะสังคมไทยในยุคดิจิทัลคนเป็นโรคกันสารพัด ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และครู-อาจารย์ไม่มียกเว้น

เนื่องเพราะตลาดนัดศีลธรรมชำรุดทรุดโทรม ขาดการดูแลเอาใจใส่ มัวแต่สนใจถนนมอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง และเรือดำน้ำ รวมทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหรือกระทรวงวัฒนธรรม ขาดบุคลากรผลิตวัคซีนป้องกันโรคทางศีลธรรมหรืออย่างไรมิทราบ ตลาดนัดศีลธรรมในโรงเรียน และวัดจึงมีสภาพดุจโรงมหรสพ เป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียนวัดแท้ๆ ยังมีสันดานเป็นมหาโจรปล้นฆ่าผู้คนอย่างโหดเหี้ยมและทารุณ ทำให้รำลึกนึกถึงคำพูดของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุที่กล่าวไว้นานแล้วว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ”

Advertisement

ท่านไม่ได้กล่าวว่าไวรัสพันธุ์ใหม่กลับมาโลกาจะวินาศ เพราะโรคระบาดไม่เหลือความสามารถขององค์การอนามัยโลก แต่ความชั่วระบาด องค์การอนามัยโลกไม่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันได้

ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นต้นทุนอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาจิตใจ และปัญญาเพื่อป้องกันโรคทางศีลธรรมแต่รัฐบาลและผู้นำศาสนาไม่สามารถใช้กลไกพระพุทธศาสนาแก้ปัญหาสังคมได้ เทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ชาวพุทธในประเทศไทยจึงนำชีวิตไปตายบนท้องถนนมากมายสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมายมหาศาลอย่างซ้ำซาก แต่มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพียงไม่กี่คนกลับตื่นตระหนกโกลาหลกัน หรือเป็นเพราะคนที่ตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากความประมาท เมาแล้วขับกระนั้นหรือ?

อย่างไรก็ดี ชีวิตของทุกคนเป็นสิ่งที่มีค่า เพราะกว่าจะได้เกิดมาเป็นคนนั้นไม่ใช่อยากจะเกิดก็เกิดกันได้ การเกิดมาเป็นคนต้องมีเหตุปัจจัยหลายประการประกอบกัน บางคนแต่งงานแล้ว อยากมีลูกแต่กลับไม่มีลูกมาเกิดก็มี บางคนมีลูกมากพอแล้วจึงคิดคุมกำเนิด แต่กลับมีลูกเกิดมาอีก เคยสังเกตไหมว่า เหตุใดคนที่มีอันจะกินหรือคนมั่งมีจึงมีลูกไม่มาก แต่คนที่ยากจนและขัดสนกลับมีลูกดก ทั้งอุ้ม กระเตง ขี่คอ และจูงเดิน อย่างอเนจอนาถ ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเพราะคนจนว่างงาน คนรวยงานยุ่งแต่ประการใดทั้งสิ้นแต่เป็นบุญนำกรรมแต่ง สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ประกอบอกุศลกรรมมากกว่ากุศลกรรม กุศลกรรมนำไปเกิดในภพภูมิที่ดี

Advertisement

ส่วนอกุศลกรรมนำไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี ทุกคนอยากมั่งมี แต่ไม่สามารถมั่งมีกันได้ทุกคน เพราะกรรมเป็นเครื่องกำหนดสถานภาพของคนในสังคม

ชีวิตที่ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นชีวิตที่ประเสริฐ และการที่จะเป็นเช่นนี้ได้ ต้องสร้างปัจจัยที่สำคัญ 4 ประการคือ

1) ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น : เบียดเบียนตนเองเช่น ติดยาเสพติด เล่นการพนัน เกียจคร้านทำมาหากิน ติดเกม ติดโซเชียลมีเดียอดหลับอดนอน เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนเบียดเบียนผู้อื่น หมายถึงคอยอาศัยแรงงานของคนอื่นในการดำรงชีวิต เป็นกาฝากทางสังคม ค้าขายยาเสพติด หลอกลวงขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ โฆษณาเกินจริง จี้ ปล้น ข่มเหง รังแก ใช้แชร์เป็นสื่อล่อใจ เป็นต้น

2) ไม่แสวงหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น : การแสวงหาความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนหรือทุกชีวิตต้องการหรือปรารถนา แต่การแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายหรือเป็นบาป เพราะการกระทำเช่นนั้นนอกจากจะไม่ได้ความสุขแล้ว ยังถูกจับกุมคุมขังให้หมดอิสรภาพอีกด้วย การขายยาเสพติด การเป็นมิจฉาชีพ การเป็นนักเลงการพนัน การปล่อยเงินกู้ที่โหด และการรีดไถ เป็นต้น ล้วนเป็นการแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่นทั้งสิ้น

3) ไม่ท้อแท้และสิ้นหวังในชีวิต : ชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอน เพราะทุกชีวิตต้องตายเพียงแต่จะตายดีหรือตายไม่ดีเท่านั้น ชีวิตบางชีวิตตายทั้งเป็น คือแม้จะมีชีวิตอยู่ก็ไม่ได้มีแก่นสารอะไร ด้วยเหตุนี้ จึงต้องสู้ชีวิต เพื่อให้ชีวิตมีคุณค่ามีแก่นสารต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ธุรกิจอาจซบเซาการค้าขายอาจฝืดเคือง เศรษฐกิจอาจถดถอยไปบ้าง ก็ต้องจำยอมและอดทน การเป็นหนี้สินเพื่อกู้มาประกอบธุรกิจเมื่อธุรกิจขาดสภาพคล่องหรือติดลบ อย่าเพิ่งคิดฆ่าตัวตายหรือทำลายชีวิตและครอบครัว ให้ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นแล้วค่อยๆ หากลวิธีคลี่คลายปัญหา

พระพุทธเจ้าทรงป็นศาสดาเอกของโลกได้สอนไว้ว่า เมื่อเจอปัญหาและอุปสรรคอย่าหนี ให้ทำความรู้จักและหาสาเหตุของปัญหาและอุปสรรคนั้นๆ

4) พัฒนาจิตใจและปัญญา : การสร้างสุขภาวะต้องมีดุลยภาพระหว่างร่างกายกับจิตใจ หากร่างกายแข็งแรงแต่จิตใจอ่อนแอจะไม่สามารถต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคที่รุมเร้าชีวิตได้ บุคคลที่ถูกวัตถุครอบงำจิตใจ จนเดินออกจากเส้นทางแห่งศีลธรรมสู่เส้นทางมืดทั้งยาเสพติด และการพนัน เป็นต้น จนติดคุกติดตะราง เพราะให้ความสำคัญกับชีวิตในส่วนของร่างกายมากกว่าชีวิตในส่วนของจิตใจ ในทรรศนะทางพระพุทธศาสนามีแนวคำสอนให้คนพัฒนาและยกระดับจิตใจให้อยู่เหนือวัตถุ หากจิตใจได้รับการฝึกฝนอบรมดีแล้ว จะพูดก็ดี ทำก็ดี และคิดก็ดี ย่อมสำเร็จประโยชน์ทุกประการ เพราะภารกิจทุกชนิดล้วนแล้วแต่สำเร็จได้ด้วยใจทั้งสิ้น หากถอดใจ หรือใจไม่ให้ ใจไม่เปิด และใจไม่สู้ ทุกอย่างย่อมล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

การพัฒนาจิตใจให้มีอิทธิพลเหนือร่างกายหรือวัตถุ จะนำสู่การมองวัตถุเป็นเพียงปัจจัยที่เกื้อกูลชีวิต เมื่อตายไปแล้วทรัพย์สักนิดก็ตามไปไม่ได้ คงมีแต่บุญและบาปเท่านั้นที่เป็นดุจสมบัติติดตัวไปภายหลังตาย จึงทำให้เกิดแสงสว่าง คือ ปัญญามองเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง

มาฆบูชาพัฒนาคุณภาพชีวิต : คุณภาพคู่กับคุณธรรม ชีวิตที่มีคุณภาพคือชีวิตที่มีคุณธรรม คุณธรรมที่ทำชีวิตให้มีคุณภาพ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นหัวใจของมรรคมีองค์ 8 ประการ มรรคมีองค์ 8 ประการเป็นเส้นทางสายกลางของชีวิต มีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย

1) สัมมาทิฏฐิ : การมีแนวคิดและทฤษฎีที่เกิดจากการตกผลึกร่วมกันของคนในสังคม จนเห็นด้วยและคล้อยตามโดยปราศจากข้อสงสัย

2) สัมมาสังกัปปะ : ช่วยกันระดมสมองและองค์ความรู้เพื่อให้บรรลุแนวคิดและทฤษฎีที่เห็นพ้องต้องกันนั้นอย่างเข้มแข็ง

3) สัมมาวาจา : ถกเถียงและโต้แย้งกันด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดข้อเท็จจริงทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยมีชาติบ้านเมืองเป็นเป้าหมายที่สำคัญ

4) สัมมากัมมันตะ : นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนในสังคม เพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าและยั่งยืน

5) สัมมาอาชีวะ : รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการประกอบสัมมาชีพ อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม

6) สัมมาวายามะ : มุ่งมั่นในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้หลุดพ้นจากความยากไร้ สู่ความมั่งคั่ง

7) สัมมาสติ : มีจิตสำนึกในเชิงบวกเพื่อทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังสติปัญญาและความรู้ความสามารถ

8) สัมมาสมาธิ : มีความหนักแน่นและตระหนักรู้ในจุดยืนและอุดมการณ์อย่างเข้มแข็งเพื่ออุทิศตนให้กับประชาชนและชาติบ้านเมือง

ประโยชน์ของวันมาฆบูชา : วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ภายหลังเทศกาลวันตรุษจีนเพียงหนึ่งสัปดาห์เศษและอยู่ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยหวั่นวิตกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ถึงกระนั้นด้วยความที่ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เมื่อวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชาเวียนมาบรรจบ จะมีกิจกรรมการทำบุญตักบาตร เข้าวัดรักษาศีล สดับพระธรรมเทศนาและบูชาพระรัตนตรัยด้วยการเวียนเทียน

สาระสำคัญของวันมาฆบูชาคือ เป็นวันจาตุรงคสันนิบาต ได้แก่การประชุมที่ประกอบด้วยองค์ 4 ประการ คือ

1) เป็นวันที่ดวงจันทร์เสวย มาฆฤกษ์ คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

2) เป็นวันที่พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมหรือเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกัน โดยมิได้นัดหมาย

3) พระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 ประกอบด้วย 1) อิทธิวิทา แสดงฤทธิ์ได้ 2) ทิพพโสต หูทิพย์ 3) เจโตปริยญาณ กำหนดใจผู้อื่นได้ 4) ปุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติได้ 5) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ และ 6) อาสวักขยญาณ ญาณที่กำจัดกิเลสให้หมดสิ้น และ

4) พระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูป ล้วนได้รับการบรรพชา-อุปสมบท ด้วยเอหิภิกขุ จากพระพุทธเจ้า

เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าจึงถือโอกาสมอบนโยบายการประกาศพระศาสนาให้กับพระสงฆ์สาวกซึ่งเรียกว่า โอวาทปาติโมกข์

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นที่พระเวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ภายหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน การมอบนโยบายให้กับพระสงฆ์สาวกซึ่งเป็นพระอรหันต์ที่มีศักยภาพในการเผยแผ่พระศาสนาเป็นเลิศ ทั้ง 1,250 รูปนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศพระศาสนาสู่สังคม และชุมชน ซึ่งหลักการที่สำคัญอันเป็นหัวใจ 3 ประการ ประกอบด้วย

1) สฺพพ ปาปสฺส อกรณํ คือการสั่งสอนให้ศาสนิกงดเว้นจากการทำบาปทั้งปวง

2) กุสลสฺสูปสมฺปทา คือการสั่งสอนให้ศาสนิกตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดี

3) สจิตฺ ต ปริโยทปนํ คือการสั่งสอนให้ศาสนิกพัฒนาและยกระดับจิตใจให้ใสสะอาด

โดยทรงเน้นย้ำว่า ทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นหลักการของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในการประกาศพระศาสนาซึ่งมีทั้งสิ้น 3 คาถากับอีกกึ่งคาถา แต่ใจความสำคัญอยู่ที่คาถาบทแรกที่ยกมากล่าวข้างต้น

สรุป : ขออำนาจพุทธบารมีที่ทรงตรากตรำพระวรกายตลอดระยะเวลา 45 ปี ในการประกาศพระศาสนาเพื่อจุดประทีปในที่มืดให้กับเวไนยสัตว์หรือมวลมนุษยชาติ จงดลบันดาลให้ประเทศไทยและสังคมไทยปลอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า มีแสงสว่างในดวงจิตคิดนึกแต่สิ่งที่เป็นกุศลตลอดไปชั่วกาลนาน

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง
หลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการพัฒนาสังคม
คณะสังคมศาสตร์ มจร

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image