รบ. ฝืนกฎการเมือง เหมือนว่า ‘เป็นต่อ’ แต่ยัง ‘เป็นรอง’

ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ตีความ หลังจาก ส.ส.บางคน “เสียบบัตรแทนกัน” และ “โหวตแทนกัน” ในวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563

เป็นเหตุให้สงสัยว่า กระบวนการผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขัดรัฐธรรมนูญ จนมีผลให้เป็นโมฆะหรือไม่

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่โมฆะ แต่ให้ลงคะแนนในวาระ 2 และ 3 ใหม่

เท่ากับว่า งบประมาณปี 2563 ซึ่งเป็นความหวังของรัฐบาลที่จะนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ มีโอกาสได้ใช้จ่ายในเร็ววัน

Advertisement

จากเดิมคาดการณ์กันว่าจะสามารถใช้งบประมาณก้อนนี้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์

อาจจะสามารถใช้จ่ายได้ในเดือนมีนาคม

แต่ทุกอย่างต้องกลับมาที่การโหวตอีกครั้ง

Advertisement

การลงมตินี่แหละที่เป็นปัญหาของรัฐบาล

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีผลผูกโยงกับการเมืองยังมีอีก

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191 ล้านบาท

คำร้องดังกล่าว กกต. มีมติว่า นายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่มีความผิด และเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค

ดังนั้น ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาทางใด ผลที่ปรากฏจะกระทบต่อการเมืองอย่างแน่นอน

หากมองในมุมลบสำหรับพรรคอนาคตใหม่ คือต้องพบกับการยุบพรรค ผลที่เกิดขึ้นย่อมส่งต่อไปถึงความแข็งแกร่งของพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

และยังมีกระแสข่าวออกมาว่า อาจเป็นช่วงเวลาที่ ส.ส.หลายคนจากพรรคฝ่ายค้าน จะโยกไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาล

ดูเหมือนว่า ถ้ารูปการณ์ออกมาเช่นนี้ ฝ่ายรัฐบาลจะแก้ปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” ได้

แต่ในทางปฏิบัติ คาดการณ์ว่า รัฐบาลยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเดิม

นั่นคือปัญหาเสียงที่จะโหวตสนับสนุนรัฐบาล

ทั้งนี้เพราะ แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะมี ส.ส. ในสังกัดมาก แต่การประกอบร่างของฝ่ายรัฐบาลก็มีฝักฝ่าย

พรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย ฝ่าย คสช. และฝ่ายสามมิตร ซึ่งหากมี ส.ส.จากพรรคอื่นมาอยู่ด้วย ก็จะเพิ่มฝักฝ่ายเข้าไปในพรรค

เช่นเดียวกับรัฐบาลที่ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลเหล่านี้ มี ส.ส.มากขึ้น ย่อมนำไปสู่การต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐ

ต่อรองของสัดส่วนเก้าอี้รัฐมนตรี ขอตำแหน่งทางการเมือง และขออื่นๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ในข่ายปัญหามีคะแนนเสียงไม่พอสนับสนุน เนื่องด้วยพรรคแกนนำรัฐบาลเกิดจากการผสมผสาน เช่นเดียวกับรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีอีกหลายคนไม่ได้เป็น ส.ส.

ดังนั้น ทุกครั้งที่มีญัตติหรือวาระในสภา รัฐบาลจึงจำเป็นต้องพึ่งเสียง ส.ส.

รัฐบาลจึงตก “เป็นรอง” ตลอดเวลา

คสช. ที่คิดว่าสืบทอดอำนาจได้ และดูเหมือนจะ “เป็นต่อ” แท้ที่จริงแล้ว ตก “เป็นรอง” มาโดยตลอด

ตกเป็นรองกลุ่ม ส.ส.เก่าที่มาช่วยงาน ตกเป็นรองพรรคร่วมรัฐบาลที่เข้ามาผสมด้วย

กระทั่งขาดความเป็นตัวของตัวเองในการจัดทีมงาน

รัฐมนตรีมาจากหลากหลายพรรค ไม่มีใครฟังใคร จนสุดท้ายกระทบต่องาน

และกระทบมาถึงรัฐบาลในที่สุด

ยิ่งสถานการณ์ประเทศในปัจจุบัน ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งฝุ่นและแล้ง ปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องไวรัสโคโรนา ที่ย้อนกลับมากระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจอีกครั้ง

รวมถึงปัญหางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม เดือนตุลาคม 2562

ทุกปัญหาเร่งเร้าให้ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข

หากรัฐบาลแก้ไขได้ ย่อมส่งเสริมความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล

แต่ถ้ารัฐบาลแก้ไขไม่ได้ ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลย่อมถดถอย

เมื่อการแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม รัฐบาลจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

แรงขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนกลับไปดูต้นตอของปัญหา ต้องยอมรับว่ามาจากรัฐธรรมนูญที่ “ดีไซน์มาเพื่อเรา”

เพราะรัฐธรรมนูญควรจะ “ดีไซน์” มาเพื่อประชาชน ทำให้ประชาชนได้ตัวแทนของตัวเอง ทำให้ประชาชนได้รัฐบาลที่ตัวเองต้องการ

และเมื่อใดที่ประชาชนไม่ต้องการรัฐบาล รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้

แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับ “ดีไซน์มาเพื่อเรา” ออกแบบ กลับ “ล็อกสเปก” นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เอาไว้เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังตั้งกลไกพิทักษ์นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอย่างแน่นหนา

ถ้าประชาชนเห็นพ้องกับพรรคและบุคคลที่รัฐธรรมนูญล็อกสเปกไว้ก็ไม่น่ามีปัญหา

แต่หากประชาชนเห็นต่างจากสิ่งที่รัฐธรรมนูญ “ดีไซน์” มา

รัฐบาลที่ได้มาจะกลายเป็นรัฐบาลที่ได้มาแบบฝืนๆ

ฝืนต่อความต้องการของประชาชน

ฝืนต่อกฎการเมือง

ผลจากการฝืนกฎการเมือง หรือฝืนความต้องการของประชาชน ทำให้ได้ ส.ส.จากการเลือกตั้งน้อยเกินกว่าที่คาดไว้

เมื่อได้ ส.ส.น้อยก็ต้องหา ส.ส.เพิ่ม การที่จะได้ ส.ส. เพิ่มก็ต้องมีการต่อรอง

ผลจากการต่อรองทำให้นายกรัฐมนตรีขาดความเป็นตัวของตัวเอง

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้

เผชิญหน้ากับผลกระทบจากการฝืนกฎการเมือง

การฝืนกฎดังกล่าวทำให้รัฐบาลตก “เป็นรอง” อยู่เสมอ แม้จะคิดว่าได้เปรียบในเชิงกติกาเหมือนว่าตัวเอง “เป็นต่อ” อยู่ก็ตาม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image