ที่มา | คอลัมน์ คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
เผยแพร่ |
แม้ ภาณุ ตรัยเวช จะบอกเราว่า “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” แต่หลังจากสาธารณรัฐไวมาร์ ท่านฟือเรอห์ก็มาจากการทำประชามติในปี 1934
เป็นประชามติหลังจากอวสานแห่งสาธารณรัฐแรกไวมาร์แห่งเยอรมัน ท่ามกลางการเถลิงอำนาจของพรรคนาซีและพลพรรคหน่วยพายุ โฆษณาชวนเชื่อ การเร้าอารมณ์ชาตินิยม และการพูดได้ฝ่ายเดียว หรืออย่างการเลือกตั้งและประชามติในอีก 4 ปีต่อมา ก็ปรากฏว่าบัตรลงคะแนนประชามติก็ยังแสดงจัดชัดเจนไม่ต้องอ้อมค้อม ว่าท่านผู้จัดต้องการให้ประชาชนตอบอะไร ระหว่าง Ja (ใช่/รับ) ช่องใหญ่เบ้อเริ่ม กับ Nein (ไม่รับ) ช่องเล็กนิดเดียว
ทำไมใครๆ ก็ชอบประชามติกันนัก แม้แต่ผู้นำจอมเผด็จการแม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงไร ก็ยังต้องจัดพิธีกรรมประชามติก่อนเถลิงอำนาจ นั่นก็เพราะประชามติถือเป็นรูปแบบการออกเสียงใช้สิทธิ “ประชาธิปไตยโดยตรง” โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของแบบที่ใครเถียงยาก เพราะเป็นการใช้อำนาจนั้นโดยตัวการไม่ผ่านตัวแทนใดๆ เลย ด้วยการตอบคำถามง่ายๆ แบบสรุปยอดมาแล้วเพียงหนึ่งหรือสองคำถาม ผลของประชามติอันมาจากการ “ตอบตรง” ของประชาชน จึงเป็น “ตราประทับ” ชั้นดีของความชอบธรรมทางการเมือง
ในวันที่ทั่วโลกกำลังตระหนกกับประชามติที่เพิ่งจบไปในสหราชอาณาจักร ที่ในที่สุดเสียงของประชาชนผ่านกระบวนการ “ประชาธิปไตยทางตรง” ก็แสดงออกบอกว่า อยากจะขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
แม้ว่าการทำประชามติครั้งนี้ไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย แต่ในทางการเมืองแล้ว เรื่องที่จะ “เบี้ยว” ประชามติที่ถือเป็นการแสดงความต้องการโดยตรงของประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจกระทำได้ในวัฒนธรรมและความรับผิดชอบทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
มีผู้วิเคราะห์ว่านี่อาจเป็นบทเรียนและจุดอ่อน ของการนำเรื่องที่มีรายละเอียดยิบย่อยมากมายและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลประโยชน์ของประเทศมาหาคำตอบผ่านกระบวนการประชาธิปไตยโดยตรง ที่การออกเสียงอาจจะแปรผันด้วยความรู้สึกและอารมณ์มาเป็นผลในการตัดสินใจ
ทั้งมีการตั้งคำถามนานาถึงผลสรุปของการออกเสียงประชามติ เช่นประเด็นว่า ในเรื่องสำคัญอันเกี่ยวข้องกับอนาคตของชาตินั้น มาตัดสินกันด้วยคะแนนเสียงเพียงล้านกว่าเสียง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แค่ราวๆ สองถึงสามเปอร์เซ็นต์ หรือมีข้อสังเกตว่าคนที่โหวตให้ออกจากสหภาพยุโรปเป็นคนที่มีอายุมาก ซึ่งอนุมานเอาว่า คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากการออกเสียงของตนเองในระยะสั้นกว่า ในขณะที่ฝ่ายข้างน้อยเป็นฝ่ายที่ต้องอยู่กับ “อนาคต” ต่อไปของประเทศ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดข้อสังเกตว่าด้วยความชอบธรรมในหลักการของการตัดสินด้วยเสียงข้างมากปกติในรูปแบบประชามติ แต่กระนั้น ก็ไม่มีข้อติติงในเชิง “ความชอบธรรมเชิงกระบวนการ” ในแง่ว่า ฝ่ายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่างก็ได้แสดงความเห็น รณรงค์ โน้มน้าวให้ประชาชนผู้มาลงประชามติเห็นด้วยกับฝ่ายตนอย่างเต็มที่
ส่วนผลกระทบเรื่องหุ้นตก ค่าเงินต่ำ หรือฟุตบอลตกรอบ ก็เป็นผลเฉพาะหน้าที่ชาวอังกฤษทั้งเสียงข้างมากและข้างน้อยอาจต้องเผชิญร่วมกัน
Brexit เขาก็ว่ากันไป แต่ของไทยเราอีกประมาณหนึ่งเดือนจากนี้ เราก็จะได้ทำประชามติอยู่เหมือนกัน เราอาจจะเรียกเล่นๆ ด้วยวิธีเดียวกับการสร้างคำ Brexit ได้แบบขำๆ ว่า “Thaccept” มาจาก Thai + accept หรือจะสวิงสวายเป็นภาษาไทยว่า ประชามติ “ไทยรับ” ก็ได้
ที่ไม่เหมือนเขา อาจจะเป็นที่บรรยากาศ ที่เราไม่อาจจะพูดอะไรมากเกี่ยวกับการลงประชามติครั้งนี้ได้ ไม่ว่าในที่สุดบทบัญญัติแห่งมาตรา 61 วรรคสอง ของกฎหมายประชามติที่เป็นเหมือน “ชนัก” ปักขู่ไว้ให้คนไม่กล้าแสดงความเห็นเกี่ยวกับตัวร่างรัฐธรรมนูญหรือกระบวนการออกเสียงประชามติ จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ณ วันที่เขียนยังไม่ทราบผล แต่ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ก็เชื่อว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไร เพราะท่านผู้มีอำนาจเองก็บอกว่าต่อให้ไม่มีมาตรา 61 วรรคสอง นี้ ก็มี “กฎหมายอื่น” มาใช้บังคับได้อยู่ดี
ตัวอย่างสดๆ ที่กลุ่มนักศึกษาและประชาชน 13 คน ที่ออกมาแสดงจุดยืนว่าตนจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร และบางคนก็ยังถูกควบคุมตัวไว้ขณะนี้ ก็ไม่ได้ถูกจับหรือตั้งข้อหาตามกฎหมายประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ด้วยซ้ำ แต่เป็นข้อหาตามคำสั่ง คสช. ที่ต้องขึ้นศาลทหาร!
ที่จริงแล้ว ในการทำประชามติในเรื่องยากๆ เช่นเรื่องของรัฐธรรมนูญที่มีมากมายหลายหมวดหมู่ หลายมาตรา และหลายเรื่องนั้น กล่าวตามตรงว่าจะหวังให้ผู้ลงประชามตินั้นจะศึกษาตัวรัฐธรรมนูญกันได้ทุกคนก็อาจจะเป็นเรื่องอุดมคติจนเกินไป สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ “ข้อมูลชั้นที่สอง” ที่มีคนช่วยย่อยออกมาให้เข้าใจได้ภาพทั้งภาพกว้างและภาพลึกเสียก่อน
ยิ่งถ้ามีหลายฝ่ายช่วยกันมา “ย่อยให้ฟัง” ก็ยิ่งดูน่าจะเป็นผลดีต่อการตัดสินใจ ส่วนไอ้เรื่องเกรงว่าใครจะชี้นำให้สับสนอย่างไร ผู้ฟังก็พึงชั่งน้ำหนักเอาเองได้ หรืออาจจะไปสอบทานเอาจาก “ข้อมูลชั้นที่หนึ่ง” คือตัวบทรัฐธรรมนูญในมือของตัวเองก็ดี
แต่ถ้าเล่นให้มีฝ่ายเดียวที่ได้จาระไนความดีงามพิสดารแห่งร่างรัฐธรรมนูญ จัดตั้งครู ก ไก่ถึง ฮ นกฮูกไปเคาะประตูบ้านแนะนำรัฐธรรมนูญก็ยังได้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งอย่างที่บอก แจกโปสเตอร์ก็โดนจับ หนำซ้ำมีคนไปช่วยกันร้องว่าอย่าจับคนกลุ่มแรก คนกลุ่มที่สองก็ถูก “ยึด” อุปกรณ์เรียกร้องซึ่งเป็นแค่ลูกโป่งสวรรค์ที่ทำท่านผู้มีอำนาจหวาดผวา แล้วผู้ลงประชามติจะชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของสิ่งที่ตัวเองจะต้องออกเสียงในเวลาอีกเดือนเดียวได้อย่างไร
นี่คือสิ่งที่ทำให้ “ไทยรับ” แตกต่างจาก “Brexit” กันคนละมือ คือความเท่าเทียมกันในการรณรงค์โน้มน้าวของทั้งสองฝ่าย ความคึกคักในการแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืนส่วนบุคคล หรือการทำโพลที่เอาไว้ลุ้นวันต่อวันว่าตอนนี้เสียงของประชาชนเทไปด้านใด “ไทยรับ” เราต้องลงประชามติกันในบรรยากาศที่ทางฝ่ายผู้จัดแสดงความฉุนเฉียวดุดันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การแสดงความเห็นได้ฝ่ายเดียว การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้ฝ่ายที่อาจจะออกเสียงไม่เข้าลู่เข้ารอยกับที่ผู้จัดต้องการ
“ไทยรับ” จึงทำให้เราประหวัดถึงการลงประชามติในเยอรมันปี 1934 หรือ 1938 เสียมากกว่า อาจจะโชคดีกว่าบ้าง ตรงที่เขายังเหนียม ทำช่องกากบาททั้งช่องรับและไม่รับให้มีขนาดเท่ากันอยู่